กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะกับสงครามรัสเซีย – ยูเครน
ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เป็นข่าวที่น่าสนใจอีกครั้งเมื่อนายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็กของสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะให้การสนับสนุนทางด้านอาวุธแก่ยูเครนด้วยการส่งหัวกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (Depleted Uranium) ให้กับทางยูเครน จนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียออกมาประณามแผนการของอังกฤษที่จะส่งหัวกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะซึ่งมีส่วนประกอบของนิวเคลียร์ให้กับทางยูเครน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกระสุนที่สามารถเจาะรถถังและชุดเกราะได้ โดยทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินก็ได้ออกโรงมาเตือนว่าการกระทำนี้เสี่ยงต่อการเพิ่มขึ้นของอาวุธนิวเคลียร์ในความขัดแย้งและอาจเป็นการเพิ่มโอกาสของ ‘การปะทะกันของนิวเคลียร์’ หากเป็นเช่นนั้น รัสเซียก็จะโต้กลับด้วย” และขู่ว่าจะนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้ในสงครามครั้งนี้ ในขณะที่นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษออกมาปฏิเสธว่า “.. พวกมันไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นยุทโธปกรณ์ธรรมดา ที่ทางอังกฤษส่งมอบให้ยูเครนไว้เพื่อใช้ในการป้องกันตัว อาวุธดังกล่าวไม่เป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย และไม่เป็นการยกระดับไปสู่สงครามนิวเคลียร์ ชาติเดียวที่พูดถึงอาวุธนิวเคลียร์ก็คือรัสเซีย”
แล้วกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมันคืออะไรกันแน่ มันร้ายแรงหรือมีอันตรายหรือไม่ และทำไมทางรัสเซียจึงออกมาต่อต้านขนาดนี้ วันนี้ผมไปหาข้อมูลมาเพื่อไขข้อข้องใจให้กับทุกท่าน
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับ “ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ” หรือ“ยูเรเนียมเสื่อมสภาพ” ก่อนว่ามันคืออะไร “ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ” (depleted uranium) คือผลพลอยได้ที่เหลือจากกระบวนการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสำหรับใช้ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรืออาวุธนิวเคลียร์ แม้จะเสื่อมสภาพแล้วแต่ยูเรเนียมประเภทนี้ยังคงเป็นสารกัมมันตรังสีแต่มีไอโซโทป U-235 กับ U-234 ต่ำกว่าในแร่ยูเรเนียมที่พบตามธรรมชาติมาก ลดการปล่อยกัมมันตภาพรังสีของมันและไม่สามารถทำปฏิกิริยานิวเคลียร์ใดๆ ได้ แม้ว่าจะมีกัมมันตรังสีเมื่อแข็งตัว แต่ก็มีปฏิกิริยาน้อยกว่ายูเรเนียมในรูปแบบธรรมชาติมากหลังจากผ่านกระบวนการเสริมสมรรถนะแล้ว การเก็บยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมีค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากเป็นสารพิษและเป็นกากกัมมันตรังสี ต้องเก็บรักษาเป็นเวลายาวนานในลักษณะกากนิวเคลียร์ระดับรังสีต่ำ (low level nuclear waste) ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะใช้ในการแปรรูปจาก UF6 ให้เป็นโลหะ ที่มีความหนาแน่นสูงเกือบเท่ากับทังสเตนแต่ราคาต่ำกว่า
จึงมีความพยายามที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ วัสดุชนิดนี้มีข้อเสียตรงที่ไม่ทนต่อการสึกกร่อน โดยส่วนใหญ่แล้วเราสามารถพบยูเรเนียมด้อยสมรรถนะได้ในอุปกรณ์ถ่ายภาพรังสีบางชนิด เช่น เอ็กซ์เรย์ และเครื่องกำบังกัมมันตรังสีในโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังใช้ในตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามยูเรเนียมด้อยสมรรถนะยังคงสามารถก่อให้เกิดความเสียหายจากรังสีอย่างร้ายแรงได้หากเข้าสู่ร่างกาย อย่างเช่น โรคมะเร็ง อัตราความพิการแต่กำเนิดที่เพิ่มขึ้นในเขตสงคราม และความเจ็บป่วยอื่นๆ
ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เมื่อเพนตากอน (Pentagon) ได้รายงานว่ากองทัพโซเวียตได้พัฒนาเกราะสำหรับรถถัง (Warsaw Pact tanks) ซึ่งกระสุนของนาโต (NATO) ไม่สามารถเจาะเข้าไปได้ เพนตากอนจึงได้ทำการวิจัยเพื่อหาวัสดุมาทำหัวกระสุนที่มีความแข็งมากขึ้นกว่าเดิม หลังจากการทดสอบโดยใช้โลหะหลายชนิด นักวิจัยของกองทัพก็ได้ข้อสรุปที่การใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ หรือ depleted uranium (DU) การที่ DU มีความเหมาะสมในการทำกระสุนนั้น นอกจากคุณสมบัติและประสิทธิภาพที่โดดเด่นแล้ว ยังมีราคาถูกและหาได้ง่าย ส่วนการใช้ทังสเตนที่สามารถใช้ได้เช่นกันนั้นต้องซื้อจากประเทศจีน ขณะที่ DU มีเก็บไว้ในคลังของสหรัฐประมาณ 500,000 ตัน งบประมาณในการซื้อกากรังสีระดับต่ำเหล่านี้จึงแทบไม่มีเลย การนำยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมาใช้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจดีกว่าการเก็บไว้เฉยๆ ดังนั้นในปลายทศวรรษที่ 1970 ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศส จึงเริ่มนำยูเรเนียมด้อยสมรรถนะที่เก็บไว้ในคลังมาเปลี่ยนเป็นหัวกระสุนสำหรับเจาะเกราะ
ยูเรเนียมเสื่อมสภาพถูกนำไปใช้ในอาวุธเพราะคุณสมบัติความหนาแน่นสูงโดยมีความหนาแน่นสูงกว่าตะกั่ว 70% ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าตะกั่วที่มีขนาดเท่ากัน เมื่อนำมาทำหัวกระสุนจึงมีความต้านทานของอากาศน้อยกว่าเวลายิงออกไปและสามารถทะลวงเข้าไปในวัสดุได้ดีเนื่องจากจุดที่ตกกระทบมีแรงกดดันสูงกว่าหรือมีความคมมากกว่า กระสุนที่ยิงออกไปสามารถเจาะทะลวงเกราะของรถถังได้ในพริบตาก่อนจะระเบิดเนื่องจากมีคุณสมบัติในการลุกไหม้ด้วยตัวเอง (pyrophoric) กลายเป็นควันความร้อนสูงที่มีส่วนประกอบของฝุ่น, โลหะ และกัมมันภาพรังสีเล็กน้อย โดยความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถเพิ่มโอกาสที่เชื้อเพลิงหรือกระสุนภายในรถถังจะระเบิดตามมาได้ พบว่ามีการนำยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมาใช้เป็นส่วนประกอบของอาวุธในรูปของกระสุนปืนใหญ่ กระสุนรถถัง และปืนใหญ่ของเรือรบ หลายประเทศรวมทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และอังกฤษ ต่างก็มีคลังยูเรเนียมพร่องและนำมาใช้เป็นกระสุนทั้งนั้น ขณะที่การใช้ยูเรเนียมพร่องในอาวุธยุทโธปกรณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และถือเป็นแนวทางปฏิบัติของอังกฤษมานานหลายทศวรรษแล้ว โดยในช่วงทศวรรษที่ 1970 กองทัพสหรัฐฯ เริ่มสร้างกระสุนเจาะเกราะรถถังด้วยยูเรเนียมเสื่อมสภาพและเสริมแร่ชนิดนี้เข้าไปในเกราะคอมโพสิตของรถถังเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังผสมส่วนประกอบของยูเรเนียมเสื่อมสภาพเข้าไปในกระสุนของเครื่องบินรบ A-10 ซึ่งได้ฉายาว่า ‘นักฆ่ารถถัง’ ด้วย
ในขณะที่กองทัพรัสเซียใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ (DU) กับปืนประจำรถถังมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนขนาด 115 mm ของรถถัง T-62 และปืน 125 mm ในรถถัง T-64, T-72, T-80 และ T-90 มีการใช้ DU ในจรวดเจาะเกราะหลายขนาด เช่น กระสุน 180 g ขนาด 20 mm projectiles, กระสุน 200 g ขนาด 25 mm กระสุน 280g ขนาด 30 mm กระสุน 3.5 kg ขนาด 105 mm และกระสุน 4.5 kg ขนาด 120 mm โดยใช้ในรูป Stab alloy กองทัพเรือสหรัฐใช้ DU ในปืน Phalanx CIWS ขนาด 20 mm และได้เปลี่ยนไปใช้เป็นกระสุนทังสเตนตอนปลายทศวรรษที่ 1990 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1990 มีการใช้ DU ทำกระสุนปืนขนาด 9mm ลูกระเบิด cluster bombs และทุ่นระเบิด แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไป ขณะที่บางประเทศอาจจะยังมีการใช้อยู่ซึ่งเป็นการยากที่จะตรวจสอบได้ มีการคาดการณ์กันว่ามีประเทศที่มีอาวุธที่เกี่ยวกับยูเรเนียมด้อยสมรรถนะประมาณ 17-20 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐ, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, กรีซ, ตุรกี, อิสราเอล, ซาอุดิอาระเบีย, บาห์เรน, อิยิปต์, คูเวต, ปากีสถาน, ไทย, อิรัก และ ไต้หวัน โดยพบว่ามีการผลิตกระสุน DU ใน 18 ประเทศ ขณะที่มีเพียงสหรัฐและอังกฤษเท่านั้นที่มีขีดความสามารถในการใช้อาวุธ DU ได้ การใช้ของประเทศอื่นไม่ถือเป็นอาวุธ DU ที่แท้จริงตามกฎหมายระหว่างประเทศของการใช้อาวุธ Depleted Uranium (The International Legality of the Use of Depleted Uranium Weapons)
อย่างไรก็ดีแนวคิดที่ว่าการใช้ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในการทำสงครามนั้นถือเป็นการทำสงครามนิวเคลียร์ก็ได้จุดประกายการถกเถียงอย่างดุเดือดไปทั่วโลก แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ ออกมาให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันโดยปฏิเสธว่ากระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนั้นไม่ใช่อาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม เช่น กระทรวงกลาโหมของอังกฤษ ที่ออกมากล่าวว่า “ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนั้นเป็นส่วนประกอบมาตรฐานและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์” ในขณะที่ Institute for the Study of War (ISW) คลังสมองของสหรัฐฯ กล่าวว่า “อาวุธยุทโธปกรณ์ยูเรเนียมพร่องนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์…อาวุธดังกล่าวไม่สามารถใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธรังสีได้ เนื่องจากปลอกกระสุนไม่มีวัสดุกัมมันตรังสี” เช่นเดียวกันกับสถาบันวิจัยการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติก็ออกมากล่าวว่า “ยูเรเนียมด้อยสมรรถนะไม่สามารถเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้”
แม้ว่ากระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะจะไม่ถูกจัดเป็นอาวุธนิวเคลียร์ แต่การที่มันยังปล่อยกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำออกมาได้ ทำให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เตือนให้ใช้งานมันอย่างระมัดระวัง ควรใส่ถุงมือป้องกันก่อนจับ และควรมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนไปยุ่งกับกระสุน IAEA ยังเน้นย้ำว่า ยูเรเนียมเสื่อมสภาพคือสารเคมีพิษ ไม่ใช้วัตถุกัมมันตรังสีอันตราย อนุภาคที่อยู่ในภาวะของเหลวสามารถถูกสูดดมหรือกลืนเข้าไปได้ แม้ส่วนใหญ่จะถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกาย แต่มีบางส่วนที่อาจหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและสร้างความเสียหายต่อไต โดยถ้าหากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ถึงขั้นไตวายได้ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานชั้นนำหลายแห่งยังเชื่อว่า กระสุนประเภทนี้มีความเสี่ยงเป็นอันตรายต่อทหารในสมรภูมิและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ขัดแย้งต่ำมากถ้าไม่ใช่สถานการณ์และเงื่อนไขที่เลวร้ายที่สุดจริงๆ โดยราชสมาคมแห่งลอนดอน (Royal Society) ระบุว่า ในกรณีสมมติที่เลวร้ายที่สุด ทหารที่รับยูเรเนียมด้อยสมรรถนะเข้าไปในปริมาณมาก อาจเกิดความเสียหายต่อไตและปอด ส่วนการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมต้องดูตัวแปรหลายอย่าง ซึ่งในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดการมียูเรเนียมระดับสูงในท้องถิ่นอาจปนเปื้อนอาหารและน้ำ เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำอันตรายต่อไต แต่ส่วนใหญ่แล้วพบว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพมีน้อยมาก ด้าน IAEA ระบุว่า ทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียจำนวนหนึ่ง มีเศษกระสุนยูเรเนียมที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ฝังอยู่ในตัว ทำให้การขับถ่ายยูเรเนียมเสื่อมสภาพในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่พบผลกระทบต่อสุขภาพที่สังเกตเห็นได้ นอกจากนั้น ผลการศึกษายังชี้ด้วยว่า การมีเศษกระสุนอยู่ในตัวทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติ
แม้ว่าหลายฝ่ายจะออกมายืนยันในความปลอดภัยของกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะแต่จากบทความของรองศาสตราจารย์บัญญัติ สุขศรีงาม ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากยูเรเนียมด้อยสมรรถนะต่อทหารที่กลับจากสมรภูมิการรบที่โคโซโวที่มีการนำยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมาใช้ในสมรภูมิดังกล่าว โดยมีรายงานว่าทหารที่กลับจากสมรภูมิการรบที่โคโซโวมีการเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยมีการเรียกชื่ออาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นนี้ว่า “บอลข่านซินโดรม” (Balkan Syndrome) โดยอิตาลีเป็นประเทศแรกที่ทำการศึกษาสาเหตุของการบาดเจ็บป่วยของทหารจำนวน 30 นาย ที่ผ่านการรบในสมรภูมิบอลข่านต่อมาทหารเหล่านี้ได้เสียชีวิตด้วยเหล่านี้ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจำนวน 7 คน ส่วนฝรั่งเศสก็มีทหารที่ผ่านการรบในสมรภูมิคาบสมุทรบอลข่านเสียชีวิตด้วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว 4 นาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการได้รับสารกัมมันตภาพรังสีจากกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะ ต่อมากองบัญชาการทหารอเมริกันในกองกำลังรักษาสันติภาพในโคโซโวได้แจ้งว่ากองทัพอเมริกันได้ใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะกับปืนของรถถังเอ็ม1 เอ เอบรามส์ ปืนต่อสู้รถถังและจรวดต่อสู้รถถังซึ่งในสงครามครั้งนี้เครื่องบินต่อสู้รถถัง เอ 10 ของสหรัฐฯ ได้ยิงจรวดต่อสู้รถถังที่มีหัวกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะขนาด 30 มิลลิเมตร ไปมากกว่า 30,000 นัด ในต้นปี ค.ศ. 2001 มีรายงานว่ามีทหารที่ปฏิบัติการรบในโคโซโวและชาวเซิร์บได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งมากขึ้น ทางการจีนและรัสเซียที่ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้ของกองกำลังนาโตและสหรัฐฯมาโดยตลอดออกมาประโคมข่าวความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของทหารกองกำลังรักษาสันติภาพในบอสเนียและโคโซโวเป็นอย่างมาก และระบุว่าสหรัฐฯจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหากตรวจพบว่าการเจ็บป่วยเป็นผลมาจากกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะและจะต้องกวาดล้างสารกัมมันตรังสีให้หมดจากคาบสมุทรบอลข่าวอีกด้วย ในขณะที่สื่อมวลชนของจีนออกมาให้ข้อมูลของการใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในการทำสงครามจะทำให้เกิดอันตรายต่อทหารและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของการโจมตีด้วยเปรียบเสมือนการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการทำสงคราม
แม้ว่าจะยังไม่มีรายงานของอันตรายของกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะออกมาอย่างชัดเจน แต่ก็มีความกังวลในเรื่องของความเสี่ยงในระยะยาวก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีสารเคมีตกค้างอยู่ในดินสนามรบ โดยองค์กร Campaign for Nuclear Disarmament (CND) กลับประณามว่า “การใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะนั้นอาจทำให้เกิด ‘ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพิ่มขึ้น’ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้กับจุดที่โดนกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะยิงออกไป” นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลบางประการว่า ยูเรเนียมพร่องอาจปนเปื้อนน้ำหรือเสบียงอาหารหากซึมลงในดินที่ไม่ใช่บริเวณสนามรบ จนทำให้มีหลายฝ่ายจะออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เลิกใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะในการทำสงครามเพื่อความปลอดภัยจากการได้รับสารกัมมันตรังสีที่อาจตกค้าง ซึ่งบางประเทศอย่างเบลเยียมและคอสตาริกาก็ได้ห้ามการใช้ยูเรเนียมในกระสุนทั่วไปแล้ว แต่ทางสหรัฐฯและกองกำลังนาโตยืนยันว่าจะใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะต่อไป ล่าสุดยังออกมายืนยันว่าจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะไปให้ยูเครนเพื่อทำสงครามกับรัสเซีย ซึ่งทำให้ทางฝ่ายรัสเซียกังวลเป็นอย่างมากเพราะเกรงว่าภายหลังจากการใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะจะทำให้มีฝุ่นละอองกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดอันตรายต่อประชาชนในพื้นที่ จนเชื่อได้ว่าทางฝั่งรัสเซียจะต้องออกมาตอบโต้และยกระดับการต่อสู้ของรัสเซียให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากทางอังกฤษยังยืนยันจะส่งกระสุนยูเรเนียมด้อยสมรรถนะมาให้ยูเครนใช้ในการทำสงครามครั้งนี้
Social Links