กระแสพลาสติกรักษ์โลกกดดันอุตฯเม็ดพลาสติกไทย ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว แต่ยังเผชิญปัญหาท้าทาย

กระแสพลาสติกรักษ์โลกกดดันอุตฯเม็ดพลาสติกไทย ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว แต่ยังเผชิญปัญหาท้าทาย

กระแสพลาสติกรักษ์โลกกดดันอุตฯเม็ดพลาสติกไทย

ผู้ประกอบการเร่งปรับตัว แต่ยังเผชิญปัญหาท้าทาย

………………………………………..

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาเม็ดพลาสติกที่อาจย่อลง ทำให้มูลค่าการส่งออกเม็ดพลาสติกไทยอาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 2.5 ในปี 2566 จากที่คาดว่าจะขยายตัวราวร้อยละ 1.2 ในปี 2565

          กระแสลดโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมโดยประเทศคู่ค้า เป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยที่ส่วนใหญ่ของการส่งออกยังเป็นเม็ดพลาสติกฟอสซิล ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เม็ดพลาสติกรักษ์โลก (รีไซเคิล/ชีวภาพ) ยังค่อนข้างช้า และอาจมีความท้าทายจากภาวะตึงตัวของอุปทาน แม้สัดส่วนปริมาณส่งออกพลาสติกรักษ์โลกของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็ตาม ในขณะเดียวกัน คาดว่าจะเห็นผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยหันมาจับตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของภาครัฐเช่นกัน

……………………………………………

กระแสรักษ์โลกกดดันอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย ขณะที่จังหวะการปรับตัวยังค่อนข้างช้า

“เม็ดพลาสติก” เป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวรับประเด็นความยั่งยืน (Sustainability) ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Climate Change) ทั้งนี้ เม็ดพลาสติก เป็นสินค้าส่งออกสำคัญรายการหนึ่งของไทย โดยมีมูลค่าส่งออกติดอันดับ 7 ของสินค้าส่งออกไทยต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 แม้ต้องเผชิญอุปสงค์ที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ก็ยังมีมูลค่าส่งออกเติบโตราวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตลอดปีน่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 1.2 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงหนุนด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบฟอสซิลอย่างน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งห่วงโซ่อุปทานไทยยังคงต้องพึ่งพาเป็นหลักในการผลิตเม็ดพลาสติก อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยน่าจะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้น โดยในระยะสั้น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง และราคาเม็ดพลาสติกที่มีแนวโน้มย่อตัวตามราคาวัตถุดิบฟอสซิลในปีหน้า น่าจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกเม็ดพลาสติกไทยมีความเสี่ยงที่จะพลิกกลับมาหดตัวมากกว่าร้อยละ 2.5 ได้ในปี 2566

ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยซึ่งมีโครงสร้างที่ยังพึ่งพาการส่งออกเม็ดพลาสติกฟอสซิลสูงถึงกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณส่งออก ก็น่าจะเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากกระแสลดโลกร้อน ซึ่งนานาประเทศรวมถึงไทยกำลังให้ความสำคัญ และมีการหารือเพื่อผลักดันบนเวทีประชุมระดับโลกที่จัดขึ้นทุกปีโดยสหประชาชาติ (COP)  รวมทั้งในอีกหลายการประชุมเช่นล่าสุดคือ APEC 2022 ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศได้มีการออกกฎกติกาเพื่อลดการใช้พลาสติกฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการห้ามหรือลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Used Plastic) ในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น ตลอดจนมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งก่อให้เกิดการหันมาใช้วัสดุทดแทนอย่าง “เม็ดพลาสติกรักษ์โลก” ซึ่งรวมทั้งประเภทรีไซเคิลและชีวภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปทานเม็ดพลาสติกรักษ์โลกมีแนวโน้มทยอยเข้ามากินส่วนแบ่งตลาดโลกของเม็ดพลาสติกฟอสซิลมากขึ้น โดยคาดว่าส่วนแบ่งเม็ดพลาสติกรักษ์โลกของตลาดโลกในปี 2566 จะเพิ่มสู่ระดับร้อยละ 7.9 จากร้อยละ 6.8 ในปี 2562 สวนทางกับส่วนแบ่งเม็ดพลาสติกฟอสซิลที่ลดลงสู่ระดับร้อยละ 92.1 จากร้อยละ 93.2 ในปี 2562

เมื่อวิเคราะห์อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย พบว่า ปัจจุบัน ไทยพึ่งพาการส่งออกเม็ดพลาสติกฟอสซิลราวร้อยละ 60 ไปยังตลาดที่มีกฎระเบียบรักษ์โลก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบรักษ์โลกที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นขึ้นอีกในระยะข้างหน้า แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยได้เริ่มทยอยปรับโครงสร้างสู่การส่งออกเม็ดพลาสติกรักษ์โลกมากขึ้น ทว่าแนวโน้มดังกล่าวก็ยังช้ากว่าการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในตลาดโลก สะท้อนจากอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ของยอดส่งออกเม็ดพลาสติกรักษ์โลกของไทยในช่วงปี 2563-2566 ที่ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 3.8 ต่อปี ขยายตัวต่ำกว่าของอุปสงค์เม็ดพลาสติกรักษ์โลกในตลาดโลกที่อยู่ราวร้อยละ 5.8 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน

นอกจากนี้ การปรับตัวของอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทยดังกล่าว ก็ยังคงจำกัดอยู่แต่เพียงผู้ประกอบการปิโตรเคมีรายใหญ่บางรายที่ได้เดินหน้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรต่างชาติที่มีเทคโนโลยี ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 20 ของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกฟอสซิลยังปรับตัวได้ช้ากว่า เพราะขาดเทคโนโลยีและเงินลงทุน ซึ่งน่าจะส่งผลกดดันต่อจังหวะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย

ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัดส่วนปริมาณส่งออกเม็ดพลาสติกฟอสซิลไทยจะมีแนวโน้มลดลงตามจังหวะการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกไทย ภาวะเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์ของคู่ค้าที่หันมาใช้พลาสติกรักษ์โลกมากขึ้น โดยในปี 2566 น่าจะลดลงสู่ระดับร้อยละ 95.6 ของปริมาณส่งออกเม็ดพลาสติกทั้งหมด จากที่เคยอยู่ราวร้อยละ 96.2 ในปี 2563

เม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยหันจับตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ขณะเผชิญแรงกดดันจากอุปทานตึงตัว

เมื่อพิจารณาภูมิทัศน์ทางธุรกิจของเม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยในปัจจุบัน พบว่า มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของเม็ดพลาสติกรักษ์โลก โดยสำหรับเม็ดพลาสติกรีไซเคิล กว่าร้อยละ 90 ของยอดขายจะเป็นตลาดในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ผลิตเส้นใยสิ่งทอ และเครื่องใช้สอยทั่วไป เช่น กล่องเก็บของ และถุงขยะ เป็นต้น ขณะที่เม็ดพลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหารยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในประเทศในช่วงก่อนเดือนมิถุนายน 2565 ผู้ผลิตจึงมักส่งออกพลาสติกเกรดดังกล่าวไปต่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรป ในขณะที่เม็ดพลาสติกชีวภาพ มักเน้นทำตลาดต่างประเทศกว่าร้อยละ 85 ของยอดขาย โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหภาพยุโรป (ร้อยละ 37 ของปริมาณส่งออกเม็ดพลาสติกชีวภาพไทย) จีน (ร้อยละ 19) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 14) ในขณะที่ตลาดในประเทศยังคงเผชิญข้อจำกัดด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง จึงมีตลาดจำกัดอยู่เพียงบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรมสำหรับผู้บริโภคระดับบนที่มีกำลังซื้อ

สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยน่าจะหันมาจับตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในประเทศแทนการส่งออกมากขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของภาครัฐไทย ทว่าผู้ประกอบการไทยก็ต้องเผชิญแรงกดดันระยะสั้นจากห่วงโซ่อุปทานตึงตัว ทำให้อาจได้รับอานิสงส์ไม่เต็มที่จากการเติบโตของอุปสงค์พลาสติกรักษ์โลก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

        ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกรักษ์โลกไทยโดยเฉพาะชนิดรีไซเคิลหันลงทุนจับตลาดบรรจุภัณฑ์เกรดอาหารในไทย โดยได้รับแรงหนุนจากการอนุญาตของภาครัฐให้ใช้พลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหารในไทยได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา และนโยบายของภาครัฐที่ห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิดภายในปี 2565 ได้แก่ กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก หลอด และถุงหูหิ้วแบบบาง ส่งผลให้เม็ดพลาสติกรักษ์โลกโดยเฉพาะชนิดรีไซเคิลเกรดอาหาร ซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าชนิดชีวภาพกว่าเท่าตัว น่าจะเข้ามามีบทบาทในตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในไทยมากขึ้น ทั้งกล่องบรรจุอาหาร และแก้วหรือขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม เป็นต้น

        ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไทยมีความเสี่ยงเผชิญภาวะอุปทานขยะพลาสติกตึงตัว เนื่องจากภาครัฐกำลังพิจารณาออกมาตรการลดการนำเข้าเศษพลาสติกในเขตปลอดอากรที่มักเป็นที่ตั้งของโรงงานรีไซเคิลขนาดใหญ่ให้เหลือร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตจริงในปี 2567 และจะห้ามนำเข้าตั้งแต่ปี 2568 เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดแรงกดดันต่อผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลโดยเฉพาะรายใหญ่ที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมากกว่าร้อยละ 20 ของกำลังการผลิต ส่งผลให้ในระยะถัดไปผู้ประกอบการต่างต้องเร่งจัดหาเศษพลาสติกในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อุปทานวัตถุดิบในประเทศเกิดภาวะตึงตัวตามมา ซึ่งคงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้การจัดหาเศษพลาสติกในประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

        ผู้ประกอบการเม็ดพลาสติกชีวภาพไทยกำลังเผชิญภาวะกำลังการผลิตตึงตัวจากความล่าช้าในการลงทุนขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการเดิม และการตั้งโรงงานของผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมสูงแตะร้อยละ 85 ขณะที่กำลังการผลิตใหม่น่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ในช่วงปี 2567 จึงน่าจะส่งผลกดดันยอดขายของไทยในปี 2566 จากภาวะกำลังการผลิตที่ตึงตัวมากขึ้น

ภายใต้สถานการณ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2566 ยอดขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิลไทยน่าจะเติบโตร้อยละ 1.90 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.94 ในปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากตลาดในประเทศที่เร่งตัวขึ้นร้อยละ 2.3 สวนทางกับยอดส่งออกที่น่าจะหดตัวร้อยละ 1.6 ในขณะที่ยอดขายเม็ดพลาสติกชีวภาพไทยน่าจะเติบโตร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.5 ในปีก่อนหน้า โดยเป็นการชะลอตัวของทั้งตลาดในประเทศและส่งออกที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.7 และ 1.8 ตามลำดับ

ในระยะกลางถึงยาว แม้ธุรกิจเม็ดพลาสติกรักษ์โลกจะมีโอกาสเติบโตตามกระแสรักสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะกับคู่แข่งจีน ที่เร่งลงทุนผลิตเม็ดพลาสติกรักษ์โลกทั้งชนิดรีไซเคิลและชีวภาพ ตามแรงสนับสนุนของนโยบายภาครัฐจีนด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในระยะแรก กำลังการผลิตส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการจีนน่าจะใช้ตอบสนองความต้องการในประเทศเป็นหลัก ทำให้ไทยน่าจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยรองจากสหภาพยุโรป เพื่อที่จะลดผลกระทบจากการแข่งขัน

นอกจากการหาตลาดศักยภาพอื่นที่อยู่ในกระแสรักษ์โลกเพิ่มเติม เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น ผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องขยายฐานลูกค้าสู่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกที่ต้องการใช้พลาสติกรักษ์โลกในสินค้าของตน เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ห่อหุ้มอาหารสด เป็นต้น ซึ่งผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรองรับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ ทุกฝ่ายคงต้องร่วมกันสนับสนุนการบริหารจัดการห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลาสติกรักษ์โลกได้อย่างเท่าทันกับกระแสทั่วโลกที่กำลังงวดเข้ามาอย่างรวดเร็ว

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ