กองทุน ววน.สานพลัง สสส.
ลุยพื้นที่ภาคเหนือตอนบน
หนุนท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืน
กองทุน ววน. โดย บพข. สกสว. สสส. และ อส. ลงพื้นที่วิจัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน อุทยานแห่งชาติแม่วาง – อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มุ่งสู่โปรแกรมการท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Route) ทั้งในผลิตภัณฑ์และบริการรวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียว ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภายใต้แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ มหาวิทยาลัยพะเยา และคณะ ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บพข. ภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. และสสส. เพื่อสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสร้างจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบภาวะโลกรวน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. เผยว่า จากผลกระทบที่ผ่านมาของภาคการท่องเที่ยวในอดีตที่อาจไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลต่อสุขภาพประชาชน ทำให้ปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวมุ่งใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน วัฒนธรรม และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Development) การท่องเที่ยวสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จึงเป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในอนาคตของประเทศ สสส. ร่วมกับ บพข.(กองทุนส่งเสริม ววน.) ได้สนับสนุนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ตามเส้นทางการท่องเที่ยวของกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน มุ่งสร้างความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการเป็นผู้ประกอบการสีเขียว และสร้างจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า บพข. (กองทุนส่งเสริม ววน.) เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับการท่องเที่ยวมูลค่าสูงเพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ จึงออกแบบแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและสร้างรายได้พร้อมทั้งดูแลรักษาทรัพยากรของประเทศควบคู่กันไปเพื่อช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2566 มี สสส. ร่วมเป็นภาคีหนุนเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสีเขียวต้นแบบ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน และอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และพื้นที่เครือข่ายอุทยานแห่งชาติ สีเขียวอีก 9 แห่ง อาทิ อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และอุทยานแห่งชาติเขาค้อ ฯลฯ ให้เป็นการท่องเที่ยวกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวสไตล์คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
นายเกรียงไกร ไชยพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ให้ข้อมูลว่า ดอยอินทนนท์มีพื้นที่ 301,184 ไร่ และมีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนทั้งหมดในพื้นที่ 269,539 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq/ปี) จากสถิติปีงบประมาณ 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมกว่า 439,165 คน ซึ่งมีความต้องการพื้นที่ป่าไม้ที่ใช้ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 6,037 gha หรือ 38,000 ไร่ จึงได้เข้าร่วมการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ที่ทำให้ทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำไปสู่แนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) และการเลือกใช้วัสดุ อุปกรณ์และทรัพยากรที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม (Environmental Labels) รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าตะกร้าเขียว และการคัดแยกขยะ
ด้าน ผศ.ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การวิจัยได้สร้างองค์ความรู้และกระบวนการใช้ทรัพยากรที่ฉลาดสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งส่วนของสำนักงานอุทยานแห่งชาติ และผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจที่พัก ธุรกิจร้านอาหาร ให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและภาวะโลกรวน นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้องค์กรและผู้ประกอบการมีความสามารถในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการวัด การลด การชดเชย จนสามารถทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
ด้าน ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหารในบริเวณอุทยาน และผู้ประกอบการการบริการท่องเที่ยวกว่า 28 แห่ง ได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการวัด ลด ชดเชย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากกิจกรรมประกอบอาหาร การจัดเตรียมเมนูอาหารคาร์บอนต่ำ การจัดเตรียมห้องพัก การคัดแยกขยะ การทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่พักในบริเวณอุทยาน ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นห้องพักสีเขียว โดยการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานหรือพลังงานสะอาด การจัดการขยะอินทรีย์ การออกแบบและกำหนดพื้นที่สีเขียว (Green Zone) การเตรียมตัวก่อนการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วางและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 8.9 tCO2eq รวมถึงสร้างกิจกรรมชดเชยคาร์บอนให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้มีส่วนร่วม เช่น การปลูกต้นไม้และกิจกรรม CSR ด้วยตนเองหรือฝากผ่านเจ้าหน้าที่ ไกด์ท้องถิ่น ตัวแทนผู้ประกอบการโฮมสเตย์และอาสาสมัคร (Green Guard) ที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและได้ใบรับรองหลักสูตรนักส่งเสริมสิ่งแวดล้อม หลักสูตรระยะสั้นเพื่อพัฒนาสมรรถนะ ของคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.พะเยา โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และ บพข. กองทุนส่งเสริม ววน. ซึ่งนักท่องเที่ยวต่อคนจะมีปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ภายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เฉลี่ย 9.96 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KgCO2eq) และการพักค้างในบ้านพักอุทยานฯ ระหว่าง 1.29-2.75 KgCO2eq ต่อคืน ซึ่งสามารถชดเชยได้จากการปลูกต้นไม้พันธุ์ไม้ทั่วไป ซึ่งสามารถ ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ต้นละ 9.5 KgCO2eq ต่อปีหรือนักท่องเที่ยวสามารถปลูกต้นไม้ จำนวน 2 ต้นต่อคน เพื่อการชดเชยจากการเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนนท์ ทั้งนี้ บริษัท WAVE BCG จำกัด ได้ร่วมกิจกรรมการชดเชยโดยมอบคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) จำนวน 20 tCO2eq เพื่อการชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Offsetting) ครอบคลุมนักท่องเที่ยว 1,600-2,000 คน ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต
ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมในการรองรับกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้เป็นท่องเที่ยวที่เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติต่ำ อีกทั้งในอนาคตจะมีการสื่อสารและเรียนรู้ผ่านคู่มือการท่องเที่ยว Green Travel Plans (GTPs) สำหรับท่านที่จองบ้านพักภายในอุทยานฯ และที่พักชุมชนในเครือข่ายเพื่อการเตรียมตัวมา “ท่องเที่ยวกลุ่มอุทยานแห่งชาติสีเขียวสไตล์คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์”
สุดท้ายนี้ แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เน้นการสานพลังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สกสว.และบพข.เป็นภาควิชาการหนุนเสริมองค์ความรู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม/ผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ โดยมีสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) ร่วมทำงานคู่ขนานกับทีมวิจัยเพื่อนำผลงานวิจัยไปสู่โปรแกรมการขายจริง ปัจจุบันมีราว 50 โปรแกรมที่ได้รับการรับรองตามระเบียบวิธีการของ อบก.ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด อีกทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือราว 50 องค์กรทั้งเครือข่ายส่วนกลาง ได้แก่ อบก. ททท. อพท. สสปน. กรมการท่องเที่ยว หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมทั้งเครือข่ายระดับพื้นที่ ได้แก่ Krabi Carbon Neutral Tourism 2040 (22 องค์กร), ปฏิญญาเกาะเต่า (21 เกาะ 23 องค์กร) เครือข่าย Destination Management Organization : DMO (32 องค์กร) และเครือข่ายนักวิจัยมากกว่า 200 คนจาก 14 มหาวิทยาลัย เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Tourism) หมายถึง มีการชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ไปสู่โปรแกรมการท่องเที่ยวที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission Routes) ในปี 2570 ทั้งนี้ อส. เป็นหน่วยงานที่ดูแลจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ในขณะที่ สสส. มีความตระหนักและใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมและลดภาวะโลกร้อน ดังนั้น การสานพลังการทำงานในครั้งนี้จะครอบคลุมการบริหารจัดการการท่องเที่ยวคุณภาพสูงทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
Social Links