การคัดเลือกที่บิดเบี้ยว ไม่กระจายอำนาจ คือปัญหากล่องดำทางการศึกษาไทย

การคัดเลือกที่บิดเบี้ยว ไม่กระจายอำนาจ คือปัญหากล่องดำทางการศึกษาไทย

การคัดเลือกที่บิดเบี้ยว ไม่กระจายอำนาจ

คือปัญหากล่องดำทางการศึกษาไทย

  มูลนิธิเอเชีย ได้ร่วมกับเหล่าพันธมิตร จัดงานเปิดตัว www.Thailandleadership.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของ ผอ.โรงเรียน นำเสนอทักษะที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ในรูปแบบของข่าวสาร งานวิจัย บทความ คลิปวิดิโอ พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “แชร์กลยุทธ์ จุดไอเดียผู้บริหาร” โดย รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ในฐานะนักวิชาการและผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์ ซึ่งได้มีการกล่าวถึงเรื่องความบิดเบี้ยวในระบบการสอบคัดเลือก และขาดการกระจายอำนาจ คือปัญหาที่ถือเป็นกล่องดำทางการศึกษาของไทย ได้อย่างตรงประเด็นและน่าสนใจ

รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ อดีตประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และอดีตประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา ในฐานะผู้ร่วมจัดทำเว็บไซต์ ได้กล่าวว่า “ปัญหาที่ถือเป็นกล่องดำทางการศึกษาของไทยคือ ประเทศไทยไม่เคยเตรียมผู้นำทางวิชาการ แต่คัดเลือกเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับการสอบคัดเลือกตามระเบียบราชการ หรือการสอบในเชิงวิชาการ ซึ่งไม่ใช่วิชาการที่เป็นการทดสอบวัดสมรรถนะการบริหาร ในฐานะผู้นำวิชาการ (Academic Leadership) จึงส่งผลให้ได้ผู้บริหารการศึกษาที่เน้นทำข้อสอบเชิงวิชาการบริหารทั่วๆ ไป ไม่ได้เน้นประสบการณ์ด้านการบริหารงานวิชาการ ถือเป็นการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาที่บิดเบี้ยว ซึ่งบิดเบี้ยวตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ครูที่มีคุณวุฒิ วิทยฐานะระดับชำนาญการทุกระดับมีสิทธิ์สอบ บางท่านสอบผ่านเป็นผู้บริหารโรงเรียน ทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านงานหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือหัวหน้ากลุ่มวิชา บางคนไม่เคยเป็นรองผอ. แต่ไปสอบผอ. ซ้ำร้ายกว่านั้นเคยเป็นครูโรงเรียนมัธยมมาตลอด แล้วไปสอบเป็น ผอ.โรงเรียนประถม แล้วคิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสย้ายกลับไปเป็น ผอ.โรงเรียนมัธยม เพราะฉะนั้นอย่าหวังกับผู้นำทางวิชาการ ที่ไม่ได้ถูกสร้าง หรือถูกเตรียมให้เป็น”

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่ออีกว่า เมื่อผู้บริหารสถานศึกษาขาดประสบการณ์ทางวิชาการ การไปเป็นผู้นำวิชาการไม่ใช่เรื่องง่าย ในอนาคตจึงเห็นว่าควรต้องกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษา เช่น ต้องมีประสบการณ์ในการเป็นรองผอ. หรือเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงจะมีสิทธิ์สอบ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอแนวคิดกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสอบตำแหน่งผอ.ได้ จะต้องอยู่ในตำแหน่งรอง ผอ.วิชาการ ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่แนวคิดไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติเนื่องจากเหตุผลที่ไม่ทราบได้  นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ถือเป็นกล่องดำทางการศึกษาของไทยอีกประการ คือขาดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปที่โรงเรียน ส่งผลให้ผู้บริหารไม่กล้าแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะมีกฎระเบียบและ ข้อบังคับหลายอย่าง จึงเห็นว่าส่วนกลางควรกระจายอำนาจการบริหารงานบุคคล รวมถึงงบประมาณ เพื่อให้ผู้บริหารมีอิสระในการบริหารจัดการ และแสดงศักยภาพของตนเองให้ได้มากที่สุด

“การเติบโต และความก้าวหน้าในตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ไม่ควรขึ้นอยู่กับจำนวนของนักเรียน หรือขนาดของสถานศึกษาเป็นสำคัญ แต่ควรพิจารณาคุณสมบัติของผู้บริหารให้เหมาะสมกับขนาดของโรงเรียนเป็นหลัก หากผู้บริหารคนไหนเหมาะสมที่จะอยู่โรงเรียนขนาดเล็ก ก็ต้องบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องขยับไปที่โรงเรียนขนาดกลาง เพื่อให้ผู้บริหารคนใหม่ได้เข้ามาทำหน้าที่แทน ขณะเดียวกันหากผู้บริหารคนใหม่ที่สอบผ่านเข้ามา เหมาะสมที่จะบริหารโรงเรียนขนาดกลาง ก็ควรให้บริหารไม่ควรไปเริ่มต้นในโรงเรียนขนาดเล็ก

โดยบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตควรจะต้องมี 4 คุณสมบัติที่เป็นลักษณะสำคัญ คือ 1.Designer มีคุณสมบัติเป็นนักออกแบบ เพื่อที่จะออกแบบงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาการได้ ซึ่งควรมีประสบการณ์ทำงานด้านวิชาการมาก่อน 2.Facilitator เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ครู ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมที่จะพัฒนาวิชาการของสถาน ศึกษา 3.Supporter เป็นคนสนับสนุนครู และ 4.Evaluator เป็นผู้ประเมินผลการทำงาน”

สำหรับเว็บไซต์ Thailand Leadership จัดทำขึ้นภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพมหานคร, สถานทูตออสเตรเลีย และเหล่าพันธมิตร โดยมีที่มาจากโครงการวิจัยเรื่องจากความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย : กฎระเบียบ การบริหารทรัพยากร และความเป็นผู้นำ ในปี พ.ศ.2561-2564 ของมูลนิธิเอเชีย ที่ได้มุ่งเน้นศึกษาโครงสร้างและบทบาทของ “ตัวกลาง” ระหว่าง “ผู้กำหนดนโยบายการศึกษาของชาติ” และ “ผลผลิตทางการศึกษา” นั่นคือ “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” ในฐานะ “กล่องดำทางการศึกษา” หรือ “แกนหลักผู้สื่อสารถ่ายทอดนโยบาย” บทสรุปที่ได้คือผู้อำนวยการโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะต้องมีบทบาทเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งภายในเว็บไซต์จะประกอบด้วย 3 เมนูหลักคือ 1)ลงมือปฎิบัติ, 2)พัฒนาวิชาการ และ 3)สร้างสรรค์งานวิจัย โดย ผอ.โรงเรียน และผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปใช้บริการได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่ www.Thailandleadership.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

 

You may also like

TQM ร่วมกับ MSIG ส่งความสุขท้ายปี มอบฟรี “ประกันภัยรถยนต์ตามคน” ขับคันไหนก็คุ้มครอง

TQM ร่วม