การจลาจลในสวีเดน

การจลาจลในสวีเดน

การจลาจลในสวีเดน

ดร.กฤษฎา พรหมเวค

คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

                ในช่วงสงกรานต์ ปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา เกิดการจลาจลในหลายเมืองของสวีเดน โดยกลุ่มอิสลามิสต์หัวรุนแรงเพื่อตอบโต้การชุมนุมของกลุ่มการเมืองขวาจัดของนายราสมุส ปาลูดาน (Rasmus Paludan) ผู้นำของพรรค Hard Line วางแผนที่จะเผาตัมภีร์อัลกุรอานคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามในช่วงเดือนรอมฎอนและวันหยุดสุดสัปดาห์อีสเตอร์

                นายราสมุส ปาลูดาน เป็นนักการเมืองชาวเดนมาร์ก-สวีเดน และเป็นหัวหน้าพรรค Hard Line (หรือ “สตรัม คูร์ส”  Stram Kurs ในภาษาสวีเดน) ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นพวกนักการเมืองขวาจัดของสวีเดน ที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ ในการเลือกตั้งของเดนมาร์กครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2019 พรรค Hard Line ได้รับคะแนนเสียง 1.8% ซึ่งไม่ถึงเกณฑ์ 2% ที่กำหนดในการเข้าสู่รัฐสภา

                นายปาลูดานได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านอิสลามหลายครั้ง รวมทั้งเรียกร้องให้กีดกันอิสลามออกจากสังคมตะวันตก และได้พยายามจัดการประท้วงต่อต้านอิสลามเป็นประจำ รวมถึงการดูหมิ่นคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในสังคมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคยุโรป ทั้งฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และสวีเดนทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศสวีเดนมีชุมชนมุสลิมที่โดดเด่น สมาชิกชาวมุสลิมจำนวนมากจึงรู้สึกโกรธเคืองจากการเผาคัมภีร์กุรอานและการชุมนุมต่อต้านมุสลิมที่เกี่ยวข้อง  Paludan ซึ่ง ได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2017  เมื่อเขาเริ่มสร้างวิดีโอ YouTube ต่อต้านชาวมุสลิม โดยออกมากล่าวว่า “อิสลามและมุสลิมคือศัตรู สิ่งที่ดีที่สุดคือถ้าไม่มีมุสลิมเหลืออยู่บนโลกใบนี้ เราก็จะบรรลุเป้าหมายสุดท้ายของเราแล้ว” พร้อมกับการแสดงการดูหมิ่นศาสนาอิสลามหลายอย่าง เช่น การเผาคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม บางครั้งก็เอาคัมภีร์อัลกุรอานมาห่อด้วยเบคอน เป็นต้น

                นายราสมุส ปาลูดาน พยายามที่จะจัดการประท้วงการเผาคัมภีร์กุรอานในเมืองมัลโม (Malmo) พื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมหนาแน่นในสวีเดน ซึ่งตำรวจสวีเดนอนุญาตให้เขาดำเนินกิจกรรมดังกล่าวได้ เขาได้รับการปกป้องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของสวีเดนและพยายามเผาคัมภีร์กุรอานโดยไม่สนใจการประท้วง ผู้ประท้วงขอให้ตำรวจไม่อนุญาติให้นายปาลูดานทำเช่นนั้น แต่ตำรวจเพิกเฉยและไม่สนใจต่อคำขอของผู้ประท้วง  การปะทะกันก็เลยปะทุขึ้น ฝูงชนเริ่มปิดถนน ขว้างก้อนหินใส่ตำรวจ พวกเขาโทษตำรวจที่อนุญาตให้นายปาลูดานและพวกทำเช่นนั้น

                การจลาจลเริ่มต้นในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน ปี ค.ศ. 2022 ย่านชานเมือง Rinkeby ของสตอกโฮล์ม และเมืองเออเรโบร (Örebro) ทางตะวันตก เมื่อวันเสาร์เหตุจลาจลลุกลามมายังเมืองมัลโม Malmo ทางตอนใต้ ในวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน ปี ค.ศ. 2022 เกิดการปะทะกันที่เมือง Norrkoping ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงสตอกโฮล์มไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 160 กม. (99 ไมล์) และบริเวณใกล้เคียงเมืองลินเชอปิง (Linköping) เมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี ค.ศ. 2022 เกิด ฝูงชนจลาจลในเมือง ลินเชอปิง (Linköping) โจมตีรถตำรวจและเผารถ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 นายได้รับบาดเจ็บ และรถ 4 คันของตำรวจถูกไฟไหม้โดยกลุ่มคนร้ายในเมืองเออเรโบร (Örebro) โพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นชายทุบกระจกรถตำรวจขณะที่พวกเขากรีดร้องว่าอัลลอฮูอักบัร ในวันรุ่งขึ้นนาย Paludan ประสบความสำเร็จในการเผาอัลกุรอานที่เมือง Rinkeby ทำให้เกิดการจลาจลมากขึ้น

                นายกรัฐมนตรีแม็กดาเลนา แอนเดอร์สสัน (Magdalena Andersson) ของสวีเดน ยืนกรานว่า “ประชาชนได้รับอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะมีความคิดเห็นที่ดีหรือไม่ก็ตาม นั่นเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยของเรา ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร คุณต้องไม่ใช้ความรุนแรง เราจะไม่มีวันยอมรับมัน " แอนเดอร์สสันยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์นายราสมุส ปาลูดาน ในการจุดชนวนความตึงเครียดในสังคมสวีเดน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายราสมุส ปาลูดาน จะเผาหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ในปี ค.ศ. 2020 ในเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน นายราสมุส ปาลูดาน เองก็เป็นศูนย์กลางของการจลาจลมาก่อน โดยมีผู้ประท้วงจุดไฟเผารถยนต์ด้วยความพยายามในลักษณะเดียวกัน ทำให้เขาถูกห้ามไม่ให้เข้าสวีเดนเป็นเวลาสองปี นายราสมุส ปาลูดาน และพรรค Hard Line ของเขาถูกห้ามจากเบลเยียมเป็นเวลาหนึ่งปีในปี ค.ศ. 2020 เนื่องจากมีแผนจะเผาคัมภีร์กุรอานในพื้นที่ของบรัสเซลส์ที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ครอบครอง เขายังถูกเนรเทศออกจากฝรั่งเศสเช่นกันหลังจากพยายามที่จะเผาคัมภีร์กุรอานในปารีส

                เจ้าหน้าที่ในหลายประเทศมุสลิมออกมาประณามการเคลื่อนไหวที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วง เช่น กระทรวงการต่างประเทศของอิรักได้เรียกตัวอุปทูตสวีเดนในกรุงแบกแดดมาเตือนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจมี “ผลกระทบร้ายแรง” ต่อ “ความสัมพันธ์ระหว่างสวีเดนกับมุสลิมโดยทั่วไป ประเทศมุสลิมและอาหรับ และชุมชนมุสลิมในยุโรป” ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้ “ประณามการก่อกวนของพวกหัวรุนแรงในสวีเดนและการยั่วยุของพวกเขาต่อชาวมุสลิม” กระทรวงการต่างประเทศของตุรกีประณาม “ความลังเลใจที่จะป้องกันการกระทำที่ยั่วยุและอิสลาม … ภายใต้การปกปิดเสรีภาพในการแสดงออก” นอกจากนี้ยังมีการประท้วงเกิดขึ้นนอกสถานทูตสวีเดนในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อันวาร์ การ์กาช ได้ปฏิเสธ "ความเกลียดชัง" และ "การไม่อดทน" ต่อศาสนาอิสลาม อียิปต์ “ประณามการจงใจละเมิดคัมภีร์กุรอาน” โดยเสริมว่า มันคือ “แนวทางปฏิบัติของฝ่ายขวาสุดโต่งที่ยุยงผู้อพยพโดยทั่วไปและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมุสลิม” คูเวต “แสดงการประณามอย่างที่สุดและความรังเกียจต่อการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นศาสนาโดยกลุ่มสุดโต่งของสวีเดนต่ออัลกุรอาน”  และกระทรวงการต่างประเทศของจอร์แดนกล่าวว่าการกระทำของ Hard Line “ขัดแย้งกับค่านิยมและหลักการทางศาสนาทั้งหมด หลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และจุดไฟให้เกิดความรู้สึกเกลียดชังและความรุนแรง และคุกคามการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ”

            หากไม่ยุติกระแสการหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) และกระแสการต่อต้านอิสลามและการก่อการจลาจลในสวีเดนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งต้นเหตุเกิดมาจากเรื่องเล็ก ๆ กระแสดังกล่าวอาจลุกลามก่อให้เกิดความแตกแยกภายในยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ต่อไปได้ในอนาคต

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด