การปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นฯ

การปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นฯ

การปรับสูตรราคาหน้าโรงกลั่นฯ

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกน้ำมันว่าต่ำเกินไป เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันต้นทุนในการประกอบการก็สูงขึ้นมากทั้งค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างสถานีบริการ ค่าบริหารกิจการ รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรที่ต้องแบ่งให้ผู้ประกอบการเจ้าของสถานีบริการก็สูงมากขึ้นตามค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมธุรกิจพลังงานที่กำกับดูแลธุรกิจนี้อยู่ก็มีท่าทีที่เห็นด้วย

            อย่างไรก็ตาม ได้มีอดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันท่านหนึ่งออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และเสนอแนะว่าแทนที่จะปรับค่าการตลาดให้สูงขึ้น ให้ไปปรับสูตรอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นแทน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นถูกลงได้ประมาณ 20-30 ส.ต./ลิตร

            โดยเหตุผลที่ท่านอ้างก็คือ สูตรดังกล่าวได้ใช้มาเป็นเวลานานถึง 15 ปีแล้ว โดยในสูตรดังกล่าวได้มีการเพิ่มส่วนที่เป็นค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลให้มีกำมะถันน้อยลง ซึ่งโรงกลั่นฯ ในขณะนั้นต้องลงทุนเพิ่ม แต่ปัจจุบันก็น่าจะคืนทุนไปหมดแล้ว จึงสมควรจะต้องมาปรับสูตรอ้างอิงกันใหม่ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงได้

            ความจริงแล้วตลาดน้ำมันในบ้านเราเป็นธุรกิจเสรีที่ไม่มีการควบคุมราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาหน้าโรงกลั่นฯ ราคาขายส่ง หรือราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการ ดังนั้น การจะปรับขึ้นราคาหรือลงราคาจึงเป็นเรื่องของการแข่งขันทางการตลาด โดยที่ทางราชการเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ จะทำได้เพียงแค่การกำกับดูแลเท่านั้น

            ดังนั้น ในทางทฤษฏี รัฐไม่ควรเข้าไปกำหนดราคาขายหรือแม้กระทั่งไปกำหนดสูตรราคาอ้างอิงใดๆให้ผู้ประกอบการยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เพราะจะเท่ากับไปลดการแข่งขันลง เนื่องจากผู้ประกอบการทุกรายก็จะยึดราคาอ้างอิงเป็นราคามาตรฐานในการซื้อขายกัน ทำให้ไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร

            คณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยศึกษาเรื่องนี้เอาไว้และมีข้อเสนอแนะว่า ให้กระทรวงพลังงานเสนอขอยกเลิกมติครม.ที่มีการกำหนดสูตรราคาอ้างอิงหน้าโรงกลั่น และให้โรงกลั่นตั้งราคาขายหน้าโรงกลั่นเองตามภาวะการแข่งขันในตลาด (เพราะประเทศมีกำลังการกลั่นน้ำมันมากกว่าความต้องการในประเทศถึง 200,000 บาร์เรล/วัน) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลงเช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องมีสูตรราคาอ้างอิงเป็นตัวกำหนด แต่ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดราคาแทน

            ประเด็นปัญหาเดียวที่ทางเจ้าหน้าที่ยังลังเลที่จะนำความคิดนี้ไปปฏิบัติก็คือ ถ้ายกเลิกสูตรราคาอ้างอิงแล้วจะใช้อะไรมาเป็นราคาในการคำนวณโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศที่ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบทางเว็บไซต์

            เรื่องนี้ผมก็ได้เสนอแนะให้ขอราคาขายของแต่ละโรงกลั่นที่เป็นราคาขายเฉลี่ยให้กับลูกค้าทุกรายในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ก็ได้ นำมาคำนวณหาราคาเฉลี่ยของทุกโรงกลั่น ก็จะได้ราคาหน้าโรงกลั่นฯที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้นกว่าการใช้ราคาอ้างอิงอย่างทุกวันนี้ครับ

            ซึ่งเรื่องนี้สำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ก็ทำอยู่แล้วกับราคาซื้อขายเอธานอลระหว่างบริษัทน้ำมันกับผู้ผลิตเอธานอล

          แล้วทำไมจะทำกับโรงกลั่นน้ำมันบ้างไม่ได้ล่ะครับ !!!

 

มนูญ ศิริวรรณ

You may also like

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ไทย

ยอดขายขอ