ก้าวย่างต่อไปของรัสเซียหลังการลงคะแนนเสียงประชามติ
ผศ.ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ผลของการจัดการลงคะแนนเสียงประชามติ (referendums) เพื่อภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียของ 4 ดินแดนประกอบด้วยสาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ «Луганская Народная Республика» สาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ «Донецкая Народная Республика» แคว้นเคอร์ซอน « Херсонская область » และแคว้นซาปอริฌเฌีย «Запорожская область» ระหว่างวันที่ 23 ถึง 27 กันยายน ปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมาเป็นไปตามคาดเมื่อ ประชาชนทั้ง 4 ดินแดนได้ลงคะแนนเสียงประชามติเพื่อภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอย่างท่วมท้น โดยมีผลการลงลงคะแนนเสียงประชามติ ดังนี้
– ประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ลงคะแนนเสียง 98.42% (1,636,302 เสียง) สนับสนุนให้สาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย จากผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิ 1,662,607 คน (94.15%)
– ประชาชนของสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ ลงคะแนนเสียง 99.23 % (2,116,800 เสียง) สนับสนุนให้สาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์ภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย จากผู้มาลงคะแนนใช้สิทธิ 2,131,207 คน (97.51%)
– ประชาชนของแคว้นเคอร์ซอน ลงคะแนนเสียง 497,051 เสียง (87.05%) สนับสนุนให้แคว้นเคอร์ซอนออกจากยูเครน ให้แคว้นเคอร์ซอนเป็นรัฐที่ปกครองตนเอง และภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ในขณะที่มีผู้ลงคะแนนเสียงคัดค้าน 68,832 เสียง (12.05%) และ 0.9% ของบัตรลงคะแนนเป็นโมฆะ คิดเป็น 76.86% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงทั้งหมด (571,001 คน)
– ประชาชนของแคว้นซาปอริฌเฌีย «Запорожская область » ลงคะแนนเสียง 541,093 เสียง (93.11%) สนับสนุนให้แคว้นแคว้นซาปอริฌเฌียออกจากยูเครน ให้แคว้นซาปอริฌเฌียเป็นรัฐที่ปกครองตนเอง และภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย
หลังจากเสร็จสิ้นการลงคะแนนเสียงประชามติ (referendums) เพื่อภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียเสร็จสิ้นลง ทางรัสเซียได้จัดให้มีการลงนามในสนธิสัญญาสี่ฉบับในการผนวกดินแดนใหม่เข้าสู่สหพันธรัฐรัสเซีย โดยการลงนามในสนธิสัญญาเกิดขึ้นสามวันหลังจาก "การลงประชามติ" เสร็จสิ้น
โดยพิธีลงนามได้จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน ปี ค.ศ. 2022 ณ ห้อง St. George's Hall ของพระราชวังเครมลิน กรุงมอสโก ระหว่างผู้นำของทั้ง 4 แคว้นประกอบด้วยผู้นำสาธารณรัฐประชาชนโดเนสต์นายเดนิส ปูชิลิน «Денис Володимирович Пушилин» ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนลูฮันส์ นาย ลีโอนิด ปาเซชนิก «Леонид Иванович Пасечник» หัวหน้าฝ่ายบริหารร่วมทหาร – พลเรือน ของแคว้นเคอร์ซอน ในพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย นายโวโลดีมีร์ ซัลโด «Володимир Васильович Сальдо» ผู้ว่าราชการแคว้นแคว้นซาปอริฌเฌียนายเยฟเกนี บาลิซสกี «Евгений Витальевич Балицкий» กับประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของสหพันธรัฐรัสเซีย หลังจากนั้นวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2022 สภาดูมา «Государственная дума» ซึ่งเป็นสภาล่างได้ให้สัตยาบันในกฎหมายการภาคยานุวัติดินแดนโดเนตสค์, เคอร์สัน, ลูฮันสค์และซาโปริซเซียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 2022 สภาสหพันธรัฐรัสเซีย «Совет Федерации» ซึ่งเป็นสภาสูงของรัสเซียได้ให้สัตยาบันเห็นชอบในกฎหมายการภาคยานุวัติดินแดนโดเนตสค์, เคอร์สัน, ลูฮันสค์และซาโปริซเซียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย นั่นหมายความว่าเป็นการทำให้การภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียของดินแดนดังกล่าวมีผลสมบูรณ์
ดินแดนทั้ง 4 แคว้นที่ผนวกเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย คิดเป็นพื้นที่ประมาณร้อยละ 15 ของยูเครน ในขณะที่ทางด้านสหรัฐฯและพันธมิตรตะวันตกไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติดังกล่าวโดยกล่าวหาว่าการ ลงคะแนนเสียงประชามติ ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัสเซีย ในขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ย้ำคำมั่นสัญญาที่จะยึดดินแดนยูเครนทั้งหมดที่รัสเซียยึดครองคืนมาให้ได้
มีหลายคนถามผมว่าการลงประชามติดังกล่าวของรัสเซียเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ "การลงคะแนนเสียงประชามติเพื่อภาคยานุวัติเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียของทั้ง 4 แคว้น เป็นไปตามหลักการที่เรียกว่า “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง” (Self- Determination Right) หรือ “สิทธิในการกำหนดวิถีชีวิตตนเอง” หรือ “สิทธิในการกำหนดเจตจำนงตนเอง” ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนในการมีอิสระ ที่จะตัดสินใจเลือกสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง โดยหลักการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 18 จากกระแสชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม ที่กระจายอยู่ในจักรวรรดิและราชอาณาจักรต่างๆ ในยุโรป และได้พัฒนาจิตสำนึกความเป็นชาติและแปรสภาพการเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมมาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง เป็นการเรียกร้องในเรื่องชาตินิยมเป็นหลัก เป็นเรียกร้องสิทธิของแต่ละชาติในการเป็นรัฐชาติ (Nation State) ซึ่งในระยะแรกๆจึงมุ่งไปที่กระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม(The Process of Decolonization) และได้พัฒนาลงไปยังกลุ่มชนต่างๆในการต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมือง เช่น การมีสถานะปกครองตนเอง (Autonomous State) เป็นต้น
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติครั้งแรกเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง ในมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธ.ค. ค.ศ.1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 ของมติดัง กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี” ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ บรรดาดินแดนที่อยู่ใต้อาณานิคมต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองมิใช่เป็นเพียงการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมเท่านั้น แต่สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองยังถูกใช้ในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อกำจัดการเหยียดสีผิวด้วย เช่น ในแอฟริกา (Africa) และการเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมหรือปัญหาพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เช่น ปาเลสไตน์และติมอร์ตะวันออก เป็นต้น สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง รับรองให้ประชาชนมีอิสระในการเลือกสถานะทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตน และสิทธินี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และถือเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเด็ดขาด (Jus cogens) ที่มีลักษณะเป็นการผูกพันโดยทั่วไป (Erga omnes) ที่ประเทศต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิบัติตาม
ซึ่งการลงประชามติเกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองนั้นรัสเซียไม่ได้นำมาใช้เป็นที่แรก ก่อนหน้านั้นทางสหรัฐฯและองค์การนาโต้ได้นำมาใช้ก่อนแล้ว กรณีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของโคโซโวจากเซอร์เบีย ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งทางเซอร์เบียและรัสเซียคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการลงประชามติดังกล่าวแต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งทางรัสเซียก็ได้นำวิธีการลงประชามติดังกล่าวมาใช้ในวิธีการเดียวกันกับกรณีของโคโซโว
ผลของการลงนามในสนธิสัญญาในการผนวกดินแดนใหม่เข้าสู่สหพันธรัฐรัสเซีย จะทำให้ดินแดนทั้ง 4 แคว้นเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีผลผูกพันตามรัฐธรรมนูญของสหพันธรัฐรัสเซีย มาตรา 4 อนุมาตรา 3 สหพันธรัฐรัสเซียต้องทําให้เกิดความมั่นใจในบูรณภาพและการไม่ล่วงละเมิดดินแดนของสหพันธรัฐ และมาตรา 67 อนุมาตรา 1 ดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซียย่อมครอบคลุมถึงดินแดนของหน่วยการปกครอง น่านน้ำในประเทศและอาณาเขตทางทะเลและน่านฟ้าที่ปกคลุมอยู่
ดังนั้นหากมีการรุกรานดินแดนใหม่ทั้ง 4 ภายหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาในการผนวกดินแดนใหม่เข้าสู่สหพันธรัฐรัสเซียแล้วเท่ากับเป็นการล่วงละเมิดดินแดนของสหพันธรัฐรัสเซีย และรัสเซียสามารถทำการตอบโต้การกระทำดังกล่าวได้อย่างเต็มที่ นั่นเท่ากับว่ารัสเซียสามารถยกระดับปฏิบัติการพิเศษทางด้านการทหารให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นหากประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน หรือองค์การนาโต้ทำการส่งกองกำลังเข้ารุกรานดินแดนเหล่านั้นในอนาคต
Social Links