คปภ. ติวเข้ม startup ต่อยอดประกันรถยนต์

คปภ. ติวเข้ม startup ต่อยอดประกันรถยนต์

 คปภ. ติวเข้ม startup ต่อยอดประกันรถยนต์ 

                ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร Panorama Motor Insurance for Startup และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “OIC Overview : บทบาท สำนักงาน คปภ. ในธุรกิจประกันภัย” ซึ่งจัดขึ้นโดย Center of InsurTech, Thailand (CIT) ระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2562 ณ สถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. หลักสูตรการอบรมความรู้ด้านการประกันภัยพื้นฐานสำหรับ Startup ในครั้งนี้ เน้นไปที่การประกันภัยรถยนต์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่ม Startup กลุ่มนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) และกลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยี (Developer) ได้รับความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการประกันภัยรถยนต์ เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปสร้าง “ไอเดีย” หรือ “นวัตกรรม” ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีการประกันภัยรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                รวมถึงนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและต่อยอดอุตสาหกรรมการประกันภัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยอีกด้วย โดยมีวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถในธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งจาก สำนักงาน คปภ. ภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบรรยายในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ บทบาท สำนักงาน คปภ. ในธุรกิจประกันภัย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประกันภัยรถยนต์ ความรู้และแนวปฏิบัติเรื่องการประกันภัยรถยนต์ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมรถยนต์ การปรับตัวของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ในยุคดิจิทัล รวมถึงการเสวนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีกับธุรกิจประกันวินาศภัย”

                ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวถึงความท้าทายของการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลที่สำคัญตอนหนึ่งว่า การเข้ามาของกระแส Technology Disruption ที่สร้างความตื่นตัวให้กับภาคการกำกับดูแล รวมไปถึงภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนที่นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแม้การเปลี่ยนแปลงจะนำมาซึ่งโอกาสในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภค แต่เมื่อมีการใช้บริการและการเติบโตของธุรกรรมที่มากขึ้น ก็ย่อมที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายหรือการละเมิดต่อผู้บริโภคตามมา ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องคำนึงถึงในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย คือ การสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลและส่งเสริมพัฒนาการในการประกอบธุรกิจประกันภัย โดยต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคด้วย ซึ่งบทบาทของ สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย มุ่งไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ “การรักษาสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนและการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย”

                แม้ว่าอุตสาหกรรมประกันภัยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามกาลเวลาและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปจะทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เทคโนโลยีประกันภัย” เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้คนไทยในยุคนี้เข้าถึงการซื้อประกันมากขึ้น รวมไปถึงการมองอุตสาหกรรมประกันภัยในมุมมองที่ต่างจากที่เคยเป็น จากเดิมที่มองว่าการประกันภัยเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ไกลตัว หรือแม้กระทั่งความยุ่งยากในการจ่ายเบี้ยประกันภัย รวมไปถึงการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับตนเองโดยอาศัยเทคโนโลยีประกันภัยเข้ามาช่วยดำเนินการ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ วงการประกันภัยทั่วโลกได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

                ทั้งนี้ จะเห็นได้จากเช่นตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับธุรกิจประกันภัยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เช่น บริษัทประกันภัยในประเทศสิงคโปร์ที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านออนไลน์เพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้ออย่างสะดวก และยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบุคคลากรและคนกลางประกันภัย ส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันภัยถูกลง ซึ่งผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสเข้าถึงระบบประกันภัยได้มากขึ้นอีกด้วย หรือ การประกันภัยเที่ยวบินล่าช้า ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เที่ยวบินล่าช้าตามจำนวนที่กำหนดไว้ จะมีระบบเคลมเกิดขึ้นและโอนเงินค่าสินไหมทดแทนเข้าบัญชีผู้เอาประกันภัยโดยอัตโนมัติซึ่งสะดวกและรวดเร็วมาก และแม้วันนี้ InsurTech ในประเทศไทยยังไม่มากเท่ากับต่างประเทศ แต่สำนักงาน คปภ. เชื่อว่า Startup และบริษัทประกันภัยไทยกำลังหันมาให้ความสำคัญกับ InsurTech มากขึ้นตามกระแสโลก

                “สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำพาภาคอุตสาหกรรมประกันภัยก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ ไปสู่เศรษฐกิจในยุคดิจิทัลด้วยบทบาทของการเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม รวมทั้งให้ความคุ้มครองต่อผู้บริโภค และเชื่อว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาคการประกันภัยนั้น จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ซึ่งธุรกิจประกันภัยจะต้องเติบโตและปรับเปลี่ยนรูปแบบไปตามกระแสของโลกในแต่ละยุค และมีบทบาทสำคัญในอนาคตต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านกลไกที่มีความหลากหลายและครอบคลุมความเสี่ยงในทุกประเภท พร้อมทั้งจะได้เห็นภาพของการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

You may also like

ลาซาด้า กรุ๊ป เปิดรายงานผลกระทบด้าน ESG ประจำปี 2567

ลาซาด้า