คปภ. มุ่งยกระดับธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย พร้อมรับมือศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ
เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม NAIC-OECD-OIC Joint Roundtable on Insurance
and Retirement Saving in Asia
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกต่างเผชิญกับสภาพการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2001-2100 เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แต่ละประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศ เช่น ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางด้านการแพทย์การโภชนาอาหาร และโครงสร้างประชากรไทยก็มีทิศทางเดียวกันกับประชากรโลก จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 โดยมีประชากรผู้สูงอายุถึงร้อยละ 10.4 ของประชากรทั้งประเทศและคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) ในช่วงปี ค.ศ. 2024-2025 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้สังคมไทยในอนาคตขาดแคลนประชากรวัยทำงานและขาดแคลนแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนสวัสดิการให้ผู้สูงอายุต้องเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเติบโตช้าลง จึงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจประกันภัยไทยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ให้ตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ ควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้ประชาชน เห็นคุณค่า และประโยชน์ของการประกันภัยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ
ดังนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ตลาดประกันภัย และการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินในระดับภูมิภาคเอเชียให้มีมาตรฐานในการกำกับดูแล และการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ใกล้เคียงกัน เป็นไปตามมาตรฐานสากล สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย จึงได้ร่วมกับสมาคมนายทะเบียนประกันภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Association of Insurance Commissioners: NAIC) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในหัวข้อเรื่องการประกันภัยและการออมเพื่อการเกษียณอายุในภูมิภาคเอเชีย ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2560 ณ โรงแรม Park Hyatt กรุงเทพฯ
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ ตนได้เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ และเข้าร่วมเป็นประธานคณะผู้อภิปรายกลุ่ม ในหัวข้อการพัฒนาตลาดประกันภัยและการเข้าถึงบริการด้านประกันภัยของประชาชน ทั้งนี้ มีเป้าหมายหลักเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย การพัฒนาการกำกับดูแลด้านความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย การเข้าถึงบริการด้านประกันภัย และการพัฒนาตลาดประกันภัย การออกแบบผลิตภัณฑ์การออมเงินเพื่อวัยเกษียณ (Retirement saving) เทคโนโลยีทางการเงินในด้านประกันภัย (FinTech in insurance) รวมถึงประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันภัย จำนวนกว่า 90 คน จาก 18 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ตุรกี จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ศรีลังกา ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา สปป. ลาว และมาเลเซีย รวมถึง
มีผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัทประกันภัยต่างๆ
“สิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเป้าหมายสู่ความสำเร็จ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย ดังนั้น สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศไทย จึงได้ยกระดับการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย โดยร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวทางการกำกับดูแล ตลอดจนนำแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) มาใช้ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลและพัฒนาการของธุรกิจประกันภัยให้มีการเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และอยู่ในระดับมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย
Social Links