คปภ. ยกทีมลงพื้นที่กาญจนบุรี โปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

คปภ. ยกทีมลงพื้นที่กาญจนบุรี โปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

คปภ. ยกทีมลงพื้นที่กาญจนบุรี โปรโมท “ประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”

                                                ……………………………………………………

             • พร้อมเปิดตัวโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เติมองค์ความรู้ด้านการประกันภัยประกันภัยข้าวนาปี – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้เกษตรกรสู้ภัยธรรมชาติ

                                                …………………………………………………….

                ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 29 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,925,065,000 บาท นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีพื้นที่เป้าหมายรวม Tier 1 และ Tier 2 จำนวน 2.12 ล้านไร่ โดยภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนเงินทั้งสิ้น 224,442,600 บาท

                โดยมติครม. ดังกล่าว ได้มอบหมายให้ สำนักงาน คปภ. ปรับปรุงกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีและกรมธรรม์ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามรูปแบบ และหลักเกณฑ์การรับประกันภัยของโครงการฯ ปีการผลิต 2565 รวมทั้งอนุมัติกรมธรรม์และอัตราเบี้ยประกันภัยให้แล้วเสร็จและสามารถเริ่มรับประกันภัยในปีการผลิต 2565 ได้ทันที ภายหลังคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการฯ และดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประชาสัมพันธ์โครงการฯ ปีการผลิต 2565 ในภาพรวมและเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย จึงได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะไปเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้กับเกษตรกร รวมทั้งผลักดันระบบการประกันภัยเข้าไปเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกร โดยปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้จังหวัดกาญจนบุรีเป็นจังหวัดแรกในการลงพื้นที่พบปะเกษตรกร และเปิดโครงการ “Training for the Trainers” ประจำปี 2565 เนื่องจากข้อมูลสถิติปี 2564 จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 342,640 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 201,438 ไร่ หรือคิดเป็นการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 58.79 และในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 66,896 ไร่ และมีการทำประกันภัย จำนวน 5,548 ไร่ หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึงการประกันภัย (Penetration Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 8.29 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเริ่มต้นโครงการในปี 2563 ถึง 10 เท่า อันเนื่องมาจากเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัย และการใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ประกอบกับได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่  จังหวัดกาญจนบุรีที่มีการส่งเสริมเกษตรกรให้ทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น

                ดังนั้น เพื่อทำให้เกษตรกรเข้าใจและทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากยิ่งขึ้น เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร ณ หอประชุมรวมใจภักดิ์ โรงเรียนบ่อพลอยรัชดาภิเษก อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการฯ และรับทราบถึงสภาพปัญหา อุปสรรค ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะของการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเกษตรกรกว่า 100 ราย เข้าร่วมและมีการสะท้อนปัญหา เช่น กรณีไม่เคยมีประวัติการทำประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาก่อน จะเข้าสู่ระบบการทำประกันภัยได้อย่างไร กรณีเช่าพื้นที่เพื่อเพาะปลูกข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถเข้าสู่ระบบประกันภัยได้หรือไม่ รวมถึงกรณีการทำประกันภัยสำหรับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ยางพารา และสับปะรด เป็นต้น ซึ่งเลขาธิการ คปภ. และคณะฯ ได้ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ จนเป็นที่เข้าใจ รวมทั้งจะนำข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรไปปรับปรุงและพัฒนารูปแบบการรับประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้นในปีต่อไป

                จากนั้นคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ได้ลงพื้นที่แปลงนาสาธิตของ นางดอกบัว  สมานทรัพย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปีจำนวน 21 ไร่ ในพื้นที่ตำบลหนองกุ่ม อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อศึกษากระบวนการการทำนาข้าวตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมเม็ดพันธุ์ข้าวเพื่อนำไปเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี และมีคุณภาพ

                สำหรับวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เป็นการจัดอบรมความรู้ด้านการประกันภัยให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อให้แก่เกษตรกรตาม “โครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประจำปี 2565” ณ ห้องประชุมโดม ออโรร่า รีสอร์ท อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้การคุมเข้มตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

                ซึ่งการอบรมให้ความรู้ด้านประกันภัยในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี ที่จะสามารถนำระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด อันจะช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดมีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

                เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เกษตรกรที่ทำประกันภัยข้าวนาปีจะให้ความคุ้มครองกรณีต้นข้าวได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ 1) ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก 2) ภัยแล้ง ฝนแล้ง หรือฝนทิ้งช่วง 3) ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น 4) ลูกเห็บ 5) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง 6) ภัยไฟไหม้ และ 7) ภัยจากช้างป่า รวมไปถึงภัยเพิ่มเติมอื่น ได้แก่ ภัยศัตรูพืช และโรคระบาด โดยให้ความคุ้มครอง 1,190 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดให้ความคุ้มครอง 595 บาท/ไร่

                สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 99 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลกับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยประกันภัยให้ฟรี แต่ถ้าเป็นชาวนาที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส.ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกัน ตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว 99 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 199 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 218 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 59.40 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือโซนสีเขียว 39.60 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 139.60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 158.60 บาท/ไร่ ตามลำดับ

                ส่วนเกษตรกรรายใดที่ต้องการได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่มจากความคุ้มครองพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้งในส่วนภัยธรรมชาติ 7 ภัย ซึ่งคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งคุ้มครอง 120 บาท/ไร่ ก็สามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 27 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง จ่ายเบี้ยประกันภัย 60 บาท/ไร่ และโซนสีแดง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่

                ดังนั้น ถ้าหากปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ควรรีบไปซื้อประกันภัยก่อนวัน เวลา ตามแต่ละพื้นที่ที่กำหนดวันสิ้นสุดรับประกันภัยไว้ โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา ตามกลุ่มจังหวัด ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีถือว่าพิเศษกว่าจังหวัดอื่น ๆ เพราะเป็น 1 ใน 5 ของจังหวัดภาคตะวันตก ที่สามารถซื้อประกันภัยได้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 (จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสิ้นสุดการซื้อประกันภัยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา)

                ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น จะได้รับความคุ้มครอง 7 ประเภทภัยเหมือนกัน แต่มีวงเงินความคุ้มครองสูงกว่าเล็กน้อย (เพราะต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าข้าวนาปี) โดยความคุ้มครองพื้นฐานภัยธรรมชาติ 7 ภัย คุ้มครอง 1,500 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาดคุ้มครอง 750 บาท/ไร่

                สำหรับชาวนาที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกของ ธ.ก.ส. และเพาะปลูกในทุกโซนพื้นที่ เบี้ยประกันภัย 160 บาท/ไร่ โดยรัฐบาล กับ ธ.ก.ส. จ่ายเบี้ยเป็นลูกค้าประกันภัยให้เช่นเดียวกับประกันภัยข้าวนาปี แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ก.ส. หรือลูกค้า ธ.ก.ส. ที่กู้เงินบางส่วน และประสงค์จะทำประกันภัยเพิ่มเติม เบี้ยประกันภัยก็จะมีอัตราที่แตกต่างกันตามความเสี่ยงโดยมี 3 โซน 3 สี ได้แก่ โซนสีเขียว (ความเสี่ยงต่ำ) 150 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง (ความเสี่ยงปานกลาง) 350 บาท/ไร่ และโซนสีแดง (ความเสี่ยงสูง) 550 บาท/ไร่ แต่รัฐบาลจะช่วยสนับสนุน โดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรจะต้องจ่ายเอง คือ โซนสีเขียว 60 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง 260 บาท/ไร่ และโซนสีแดง 460 บาท/ไร่ ตามลำดับ

                นอกจากนี้ ถ้าเกษตรกรมีความประสงค์ได้รับความคุ้มครองส่วนเพิ่ม ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 240 บาท/ไร่ และภัยศัตรูพืชและโรคระบาด ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 120 บาท/ไร่  เกษตรกรสามารถจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเองทั้งหมด ดังนี้ โซนสีเขียว จ่ายเบี้ยประกันภัย 90 บาท/ไร่ โซนสีเหลือง เบี้ยประกันภัย 100 บาท/ไร่ และโซนสีแดง จ่ายเบี้ยประกันภัย 110 บาท/ไร่  ซึ่งการทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝนได้สิ้นสุดการขายไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา

                ดังนั้นเกษตรกรรายใดที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2 รอบ ก็ยังสามารถซื้อประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้ง ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 15 มกราคม 2566

                เพื่อมิให้พลาดโครงการดี ๆ ที่รัฐบาลสนับสนุนและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยิ่ง ผมจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่กาญจนบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รีบไปทำประกันภัยข้าวนาปี ก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถทำประกันภัยฤดูแล้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 15 มกราคม 2566 เพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดต้องการข้อมูลความรู้ประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มเติม หรือมีข้อสงสัย สามารถโหลดแอปพลิเคชัน “กูรูประกันข้าว” ได้ฟรีผ่านโทรศัพท์มือถือของท่านทุกระบบ เพื่อที่ท่านจะสามารถสืบค้นข้อมูล ตรวจสอบพื้นที่ความเสี่ยง รวมถึงติดตามสถานะการทำประกันภัยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

You may also like

กาแฟ“พันธุ์ไทย”สร้างปรากฏการณ์ใจฟู! ดึง 2 ยูทูปเปอร์เกาหลี “คัลแลน-พี่จอง” นั่งแท่น Brand Presenter คู่แรกของพันธุ์ไทย

กาแฟ“พัน