คปภ.เรงประสาน! เครื่องบินตก หน่วยซีลเสียชีวิต เรือล่ม
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินตรวจการณ์ U-17 กองกำลังนเรศวร ตกบริเวณเขตใต้บ้านห้วยผึ้งตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 1 ราย นั้น พร้อมทั้งเร่งให้การเยียวยา กรณีอดีตหน่วยซีล เสียชีวิต ขณะปฏิบัติภาระกิจช่วยทีมฟุตบอลหมูป่าและโค้ช 13 ขีวิตออกจากถ้ำ ส่วนกรณีเรือล่มที่ภูเก็ตจนมีผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต คปภ.เร่งเครื่องเต็มสูบ ประสานเพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัย
สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งนี้ จากการติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดของสำนักงาน คปภ. ภาค 1 จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ได้รับความคุ้มครองจากการประกันชีวิต ดังนี้ ร.ท. ณฤพล พุกทอง นักบินที่ 1 ร.ท.วโรฒน์ แปรงกระโทก นักบินที่ 2 และ ร.ท.เขมราช ดวงแก้ว ทำประกันชีวิตไว้กับบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ทุนประกันชีวิต 200,000 บาท และมีการทำประกันภัยอุบัติเหตุเพิ่มเติม จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเลขาธิการ คปภ. ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1 จังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงาน คปภ. จังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งติดตามและประสานงาน พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตในการรับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทฯด้วย
นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ว่าผู้เสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยหมู่ภัยสงคราม เลขที่ G20032 ดังนี้ ร.ท. ณฤพล พุกทอง ทุนประกันชีวิต 1,200,000 บาท ร.ท. วโรฒน์ แปรงกระโทก ทุนประกันชีวิต 1,200,000 บาท และ ร.ท. เขมราช ดวงแก้ว ทุนประกันชีวิต 1,200,000 บาท ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนแก่ครอบครัวผู้สูญเสียเรียบร้อยแล้ว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่คาดคิด จึงฝากเตือนประชาชน ให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัย ทั้งการทำประกันชีวิต หรือการทำประกันวินาศภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยบรรเทาความเสียหายหรือความเดือดร้อนทางการเงินที่เกิดขึ้นได้
เร่งประสานกรณีหน่วยซีลเสียีวิต
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลาประมาณ 01.00 น. ได้เกิดเหตุสลด จ่าเอก สมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม สังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ หรือหน่วยซีล ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตระเวนระงับเหตุ ฝ่ายรักษาความปลอดภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี พร้อมผู้ฝึกสอนรวมจำนวน 13 ราย ณ วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ จากการติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดของ สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย พบว่าจ่าเอก สมาน กุนัน ได้ทำประกันภัยเอาไว้ทั้งสิ้น 3 กรมธรรม์ ประกอบด้วย
1. มีบัตรเอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ประเภทได้รับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยได้รับความคุ้มครองต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย กรณีเสียชีวิตจำนวน 50,000 บาท ซึ่งต่อมาเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยผู้แทนของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้จัดพิธีมอบเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทของผู้เสียชีวิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
2. กรมธรรม์ประกันชีวิตกับบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 1087629671 เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2559 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 19 มีนาคม 2560 ซึ่งกรมธรรม์ฉบับนี้ขาดอายุ และสิ้นสุดความคุ้มครองไปแล้ว แต่ทางบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ยินดีพิจารณาจ่ายค่าสินไหมในรูปแบบเงินช่วยเหลือเพื่อดูแลและเยียวยาครอบครัวของจ่าเอก สมาน กุนัน ด้วยเป็นผู้เสียสละและช่วยเหลือสังคม โดยให้ความคุ้มครองตามทุนประกันชีวิตจำนวนเงิน 150,000 บาท และตามสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวนเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 1,150,000 บาท
3. กรมธรรม์ประกันชีวิตกับบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ GL005/16039 เริ่มคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2558 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 โดยให้ความคุ้มครองตามทุนประกันชีวิตจำนวนเงิน 100,004 บาท และสัญญาเพิ่มเติมชั่วระยะเวลา จำนวนเงิน 125,005 บาท รวมเป็นจำนวนเงิน 225,009 บาท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความชื่นชมเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติภารกิจอย่างกล้าหาญ ทุ่มเท และเสียสละในการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างสุดความสามารถ และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ ซึ่งสำนักงาน คปภ. จะให้ความช่วยเหลืออย่างสุดความสามารถเช่นกัน และจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยตลอดจนประสานงานด้านค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ทั้งนี้
เยียวยาเต็มสูบกรณีเรือล่ม
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เวลา 17.45 น. ได้เกิดเหตุเรือโดยสารบรรทุกนักท่องเที่ยวชาวจีนล่ม จำนวน 3 ลำ คือ เรือฟีนิกซ์ เรือเซเรนาต้า และเรือเจ็ทสกี ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางกลับจากเกาะเฮและเกาะราชา เพื่อไปยังท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง เหตุเกิดบริเวณแหลมโม่ง ห่างจากเกาะเฮและเกาะราชาประมาณ 2 ไมล์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บรวม 70 ราย มีผู้สูญหายจากเรือฟีนิกซ์ จำนวน 40 ราย และเสียชีวิตจำนวนมาก
จากการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต พบว่าเรือทั้ง 3 ลำ ดังกล่าว ได้มีการทำประกันภัยไว้ดังนี้
1. เรือฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเรือของบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ใบอนุญาตใช้เรือเลขที่ 6000-02210 ได้ทำประกันภัยผู้โดยสารเรือสำหรับโดยสาร ไว้กับ บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ 170001/P006003400 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 18 สิงหาคม 2560 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 18 สิงหาคม 2561 โดยให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ (สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง) จำนวน 100,000 บาทต่อคน และกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน
2. เรือเซเรนาต้า ซึ่งเป็นเรือของบริษัท ทีซีจี ยอชท์ สิมิลัน จำกัด ใบอนุญาตใช้เรือเลขที่ 6054-02588 ได้ทำประกันภัยผู้โดยสารสำหรับโดยสารไว้กับ บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด (มหาชน) กรมธรรม์เลขที่ MUP-111-6011-0136 เริ่มความคุ้มครองวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 โดยให้ความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ (สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง) จำนวน 100,000 บาทต่อคน และกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 73 (พ.ศ.2549) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 กำหนดให้เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบการเดินเรือสำหรับโดยสารต้องจัดให้มีการประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสาร ดังนั้น ผู้โดยสารทุกคนภายในเรือที่ประสบภัยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 9 และสำนักงาน คปภ.จังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัย และให้ประสานงานเบื้องต้นกับบริษัทผู้รับประกันภัยเกี่ยวกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ (สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง) จะได้รับความคุ้มครองเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทต่อคน และกรณีบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาล เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสำนักงาน คปภ. เร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าผู้ประสบภัยที่มีการทำประกันชีวิตและการประกันภัยภัยจะได้รับความคุ้มครองจากการทำประกันภัย จึงขอฝากเตือนประชาชนให้ความสำคัญและหันมาทำประกันภัยกันให้มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง เพราะหากเกิดความเสียหายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น ระบบประกันภัยจะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ในส่วนของผู้ประกอบการเดินเรือโดยสารหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณะก็จะต้องทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนดและหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ด้วย เพื่อต่ออายุกรมธรรม์ให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยตลอดเวลา
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
Social Links