ควันหลง APEC … ฝรั่งเศสรุกผลักดัน สัมพันธ์กับไทย-อาเซียน
…………………………………………………
- การเดินทางเยือนไทยของผู้นำฝรั่งเศสในรอบ 16 ปี สะท้อนมุมมองยุโรปที่ต้องการเพิ่มบทบาททางการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งฝรั่งเศสมีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทยได้อย่างน่าสนใจ
- ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น การสานสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอาจจะเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจการค้า-การลงทุนในมิติใหม่ๆ จากจุดแข็งของฝรั่งเศสในด้านยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่พยายามต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การผลักดัน FTA อาเซียน-อียู รวมถึงไทย-อียู ยังต้องอาศัยแรงจากอีกหลายชาติสมาชิก
………………………………………………..
สืบเนื่องจากงานประชุม APEC ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น รัฐบาลไทยได้เชิญผู้นำประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมในฐานะแขกของรัฐบาล นับเป็นการเยือนประเทศไทยของผู้นำฝรั่งเศสในรอบ 16 ปี โดยระหว่างการเยือนประเทศไทยของนายเอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้น ได้มีการเดินหน้าความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสรอบด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและผลักดัน FTA ระหว่างไทย-อียู จึงนับได้ว่าการเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสครั้งนี้อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับภูมิภาคอาเซียนต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อการสานความสัมพันธ์ของฝรั่งเศสในประเด็น ดังนี้
- ด้านการลงทุน: การลงทุนจาก EU มายังอาเซียนมีความสำคัญอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งมีความน่าสนใจเช่นเดียวกับเม็ดเงินลงทุนจากฝั่งเอเชียและสหรัฐฯ ประกอบกับความสัมพันธ์อันดีในเวลานี้ทุกภาคส่วนควรเร่งชักจูงการลงทุนจากฝรั่งเศสและยุโรปให้มาลงทุนในไทยอันจะเป็นกุญแจสำคัญทำให้การผลิตไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของยุโรปได้ทัดเทียมคู่แข่งในอาเซียน โดยยอดการลงทุนทางตรง (FDI inflows) จาก EU เข้าสู่อาเซียนเฉลี่ยในช่วงปี 2560-2561 มีมูลค่า 17,595 ล้านดอลลาร์ฯ (จากเม็ดเงิน FDI inflows ที่เข้าอาเซียนทั้งหมด 154,410 ล้านดอลลาร์ฯ)
นักลงทุน EU ในอาเซียนยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยยุโรปแต่ละประเทศมีสัดส่วนการลงทุนในอาเซียนประเทศละประมาณ 1% อาทิ ลักเซมเบอร์ก ไอซ์แลนด์ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศสและเยอรมนี ตามลำดับ โดยนักลงทุนยุโรปล้วนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกันออกไปโดยเฉพาะในภาคการเงิน อากาศยาน เทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่แห่งโลกดิจิทัลที่ต่างให้ความเข้ามาลงทุนในอาเซียน อาทิ เทคโนโลยี 5G ศูนย์ข้อมูลดิจิทัล (Data Center) ธุรกิจคลาวด์ (Cloud company) Internet of Things (IoT) หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมและ Machine learning ที่ล้วนน่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียน
นักลงทุนส่วนใหญ่กว่าครึ่งมุ่งไปที่สิงคโปร์ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและไทยในอันดับที่ 6 ซึ่งการลงทุนหลังจากนี้จะมีบทบาทสำคัญต่ออาเซียนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนของยุโรปที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนกับยุโรปที่เริ่มทยอยเข้าไปขยายการลงทุนในอาเซียน อาทิ เวียดนาม มีนักลงทุนเยอรมนีและฝรั่งเศสลงทุนในกลุ่มการผลิตอัตโนมัติ สมาร์ทเซนเซอร์ ยานยนต์ หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง สิงคโปร์ มีนักลงทุนจากเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์มาลงทุนในการออกแบบแผ่นเวเฟอร์ในอุตสาหกกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตอัตโนมัติและเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไทย มีนักลงทุนเยอรมนีขยายการผลิตยานยนต์ในส่วนของโรงงานการผลิตอัตโนมัติโดยนำ AI เข้ามามีส่วนในการผลิต
ที่ผ่านมาเม็ดเงินลงทุนของฝรั่งเศสที่เข้ามาไทยอยู่ในกลุ่มการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่สำคัญ ซึ่งเม็ดเงินลงทุนใหม่ในระยะต่อไปจะยิ่งมีส่วนช่วยเชื่อมโยงการผลิตของไทยกับยุโรปได้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับฝรั่งเศสมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมสีเขียวช่วยต่อยอดการค้าตอบโจทย์ความต้องการในกระแสโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ของไทย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรกรรมและอาหาร ทั้งนี้ การลงทุนจากฝรั่งเศสในปัจจุบันมีประมาณ 280 บริษัท ล้วนอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี อาทิ การผลิตยางล้อรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 ยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ BOI แก่นักลงทุนฝรั่งเศสมี 11 โครงการ มูลค่า 1,490 ล้านบาท (จากยอดรวม 223,746 ล้านบาท)
- บทบาทด้านการค้า: การกระชับความสัมพันธ์กับไทยช่วยขับเคลื่อนการค้าของฝรั่งเศสในภูมิภาคได้ยิ่งขึ้น ขณะที่บทบาทของไทยในมุมมองฝั่ง EU ก็มีไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามและสิงคโปร์ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของ EU ที่ล้วนมี FTA กับ EU ทำให้มีการเชื่อมโยงทางการค้าได้อย่างโดดเด่น
ฝรั่งเศสยังสามารถขยายการค้ากับอาเซียนได้อีกมาก แม้ว่าในปัจจุบันเยอรมนีจะเป็นประเทศในยุโรปที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียนแนบแน่นที่สุดมีสัดส่วนการค้า 2% ของมูลค่าการค้ารวมอาเซียน ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ 1.4% ขณะที่ฝรั่งเศสมีสัดส่วนการค้าเพียง 1% แต่ยังมีโอกาสทำตลาดได้เนื่องจากสินค้าฝรั่งเศสมีลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถตอบโจทย์กำลังซื้อของอาเซียนกำลังเติบโต อาทิ เครื่องสำอาง น้ำหอม กระเป๋า เครื่องบินอุปกรณ์การบินและยา รวมทั้งสินค้าอาเซียนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ก็สนับสนุนการผลิตของฝรั่งเศสได้เช่นกัน นอกจากนี้ EU ยังเป็นคู้ค้าที่สำคัญของอาเซียนในลำดับที่ 3 มีสัดส่วนการค้าอยู่ที่ 8.2% ยังทิ้งห่างคู้ค้าที่สำคัญของอาเซียนอย่างจีนที่มีสัดส่วน 21% และสหรัฐฯ 11%
สำหรับไทยนั้น ในบรรดาประเทศ EU ฝรั่งเศสก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 3 รองจากเยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งไทยขาดดุลการค้ากับฝรั่งเศสเนื่องจากไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงและสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นหลักรวมเป็นมูลค่า 1,770 ล้านดอลลาร์ฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี ได้แก่ เครื่องบินและส่วนประกอบ เวชกรรมและเภสัชภัณฑ์ กระเป๋าเดินทาง/กระเป๋าใส่ของ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ICs และวัคซีน ในขณะที่ไทยส่งออกไปค่อนข้างน้อยมีมูลค่าเพียง 1,659 ล้านดอลลาร์ฯ เป็นสินค้าศักยภาพดั้งเดิมของไทย ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ เลนส์ ยางธรรมชาติ ชิ้นส่วนเครื่องบิน
ฝรั่งเศสนำเข้าสินค้าอาเซียน 3% ของการนำเข้าทั้งหมด นำโดยการนำเข้าสินค้าเวียดนาม สิงคโปร์และไทย โดยสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีไอทีและอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ICs ต้องแข่งขันสูงกับมาเลเซียและโดยเฉพาะเวียดนามที่ได้เปรียบจากสิทธิ FTA อย่างไรก็ดี สินค้าไทยส่วนใหญ่ยังมีศักยภาพสามารถแข่งขันกับสินค้าอาเซียนได้แต่ก็เป็นสินค้าดั้งเดิมที่ไทยเก่งอยู่แล้ว อาทิ เครื่องปรับอากาศ รถจักรยานยนต์ เครื่องประดับ เลนส์ ข้าว โดยเฉพาะยางพาราของไทยทำตลาดได้ 44.4% ของการนำเข้ายางพาราของฝรั่งเศสเมื่อเทียบกับประเทศที่มีวัตถุดิบเหมือนกันอย่างอินโดนีเซีย (ส่วนแบ่งตลาด 18%) และมาเลเซีย (ส่วนแบ่งตลาด 6%) แต่มาเลเซียครองตลาดด้านสินค้าถุงมือยาง/ถุงยางอนามัยได้ถึง 44.6% สำหรับเวียดนามยังมีจุดแข็งในกลุ่มเสื้อผ้าและรองเท้าที่ไทยไม่ได้ทำตลาดในกลุ่มนี้มากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดมากขึ้น การสานสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอาจจะเป็นการเปิดโอกาสทางเศรษฐิจการค้า-การลงทุนในมิติใหม่ๆ จากจุดแข็งของฝรั่งเศสในด้านยานยนต์ไฟฟ้า อากาศยาน เทคโนโลยีด้านการขนส่ง การผลิตพลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่พยายามต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนผลักดันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การผลักดัน FTA อาเซียน-อียู รวมถึงไทย-อียู ยังต้องอาศัยแรงจากอีกหลายชาติสมาชิก
Social Links