ความท้าทายของรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่

ความท้าทายของรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่

ความท้าทายของรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่

มนูญ ศิริวรรณ

          เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งไป

          การแต่งตั้งรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ครั้งนี้เป็นไปตามข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ เพียงแต่ผิดคาดเล็กน้อยที่ท่านได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้งานของกระทรวงพลังงานที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไหลรื่นมากขึ้น

            ในแง่ของคุณสมบัติและความสามารถในการเข้ารับตำแหน่งรมต.พลังงาน ผมคิดว่าคงไม่มีใครวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าท่านไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง เพราะท่านมีประสบการณ์อย่างยาวนานในธุรกิจพลังงาน ทั้งน้ำมัน ปิโตรเคมี และไฟฟ้า เรียกได้ว่าเป็นผู้คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจพลังงาน เป็นผู้รู้จริง และเป็นผู้บริหารมืออาชีพอย่างแท้จริง

            สำหรับงานในกระทรวงพลังงานที่ท่านต้องมาสานต่อจากรัฐมนตรีท่านเดิม ก็คงมีทั้งงานที่เป็นนโยบายหลักของกระทรวง และงานนโยบายเร่งด่วนที่ต้องผลักดันตามนโยบายของรัฐบาล และนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองต้องการเพื่อผลงานที่จับต้องได้ และให้ประโยชน์กับชุมชนเพื่อสร้างความนิยม

            ในส่วนนโยบายหลักของกระทรวงนั้นก็ได้แก่การบริหารจัดการและเร่งรัดให้มีการขับเคลื่อนแผนงานหลักที่วางไว้ทั้งหมด 5 แผน (ที่เรียกว่า Thailand Integrated Energy Blueprint-TIEB) อันประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan-PDP) แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency Plan-EEP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (Alternative Energy Development Plan-AEDP) แผนจัดหาก๊าซ (Gas Plan) และแผนจัดหาน้ำมัน (Oil Plan)

            ส่วนนโยบายเร่งด่วนที่รอการตัดสินใจของรัฐมนตรีท่านใหม่อยู่ในขณะนี้ ได้แก่ นโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯแล้ว ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2563

            โครงการนี้ท่านอดีตรัฐมนตรีสนธิรัตน์พยายามผลักดันให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงเพราะเห็นว่าประโยชน์จะตกแก่ชุมชนอย่างแท้จริง แต่โครงการดังกล่าวก็ถูกดึงเรื่องเอาไว้ ไม่นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอ

            ความเห็นชอบเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน ทำให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่สามารถออกประกาศเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวได้

            อีกโครงการหนึ่งคือโครงการเปิดให้เอกชนยื่นประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ค้างเติ่งมานานแล้วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดทำรายละเอียดต่างๆในการเปิดประมูลไว้พร้อมแล้ว หากไม่มีการแก้ไขและทบทวน ก็สามารถดำเนินการให้เป็นผลงานชิ้นแรกของรมต.พลังงานท่านใหม่ได้ทันที

            นี่คือตัวอย่างงานนโยบายต่างๆที่ท่านรมต.พลังงานคนใหม่ต้องเตรียมตัวที่จะเข้าไปบริหารจัดการ ซึ่งน่าจะไม่ใช่เรื่องยากเย็นสำหรับนักบริหารที่ผ่านงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่มูลค่าแสนล้านมาแล้ว

            แต่สิ่งที่ท้าทายท่านมากที่สุดน่าจะเป็นการพิสูจน์ตัวเองว่าถึงแม้จะมีภูมิหลังมาจากธุรกิจพลังงาน แต่เมื่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน ก็สามารถแยกแยะผลประโยชน์ส่วนรวมออกจากผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนได้

            อย่าให้เป็นไปตามที่อดีตรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งเอาประวัติการทำงานของท่านมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งท่านเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานในครั้งนี้ นายกฯจงใจแต่งตั้งบุคคลที่มีผลประโยชน์ขัดกัน และเข้าข่ายเป็นการแต่งตั้งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุนหรือไม่

          ซึ่งถือว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่เป็นธรรม เพราะผู้ถูกวิพากษ์ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติหน้าที่ ยังไม่มีผลงานใดๆที่จะทำให้คาดคิดไปในทำนองนั้นได้

          ชวนให้คิดไปว่า น่าจะใช้พฤติกรรมส่วนตัวมาตัดสินคนอื่นอยู่หรือเปล่า !!!

You may also like

ราคาคาร์บอนเครดิตกับปัญหา การพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ด้วยรูปแ