“คาลินินกราด” แนวรบใหม่ของรัสเซียในยุโรป
ดร.กฤษฎา พรหมเวค
คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “คาลินินกราด” ดินแดนเล็กๆ ที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักเท่าไหร่นักของรัสเซียได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญและกล่าวขวัญไปทั่วโลก เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปได้ทวีความรุนแรงขึ้นและมีทีท่าว่าจะขยายตัวบานปลายออกไปเมื่อลิธัวเนียปิดเส้นทางรถไฟซึ่งใช้สำหรับขนส่งสินค้าพื้นฐานต่าง ๆ รวมทั้งวัสดุก่อสร้าง โลหะ ถ่านหินและเชื่อมระหว่างแผ่นดินใหญ่รัสเซียกับดินแดนแคว้นคาลินินกราดของรัสเซียที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลบอลติก ซึ่งเส้นทางรถไฟสายดังกล่าวตัดผ่านลิธัวเนียในสมัยสหภาพโซเวียต ที่ในปัจจุบันเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติคเหนือ (NATO) และสหภาพยุโรป (EU)และมีนโยบายต่อต้านรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน ปีค.ศ. 2022 ซึ่งทางด้านรัสเซียเรียกการกระทำดังกล่าวของลิธัวเนียว่า “การปิดล้อมคาลินินกราดอย่างผิดกฎหมาย” และขู่ว่าจะทำการตอบโต้การกระทำดังกล่าวของสหภาพยุโรป ในหนทางที่จะทำให้ประชาชนของลิธัวเนียรู้สึกเจ็บปวด โดยยังไม่ประกาศว่าจะทำอะไรบ้าง ส่งผลให้สถานการณ์ในทะเลบอลติกตึงเครียดขึ้นมาทันที
“คาลินินกราด” «Калинингра́д» เป็นดินแดนด้านตะวันตกสุดของประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่แยกมาจากแผ่นดินใหญ่ หรือทางภาษาภูมิศาสตร์เรียกว่า “เป็นดินแดนที่ถูกปิดล้อม” (exclave) ของรัสเซีย ซึ่งถูกล้อมโดยประเทศโปแลนด์และลิธัวเนีย มีชื่อเดิมคือ “เคอนิชส์แบร์ค” (Konigsberg) ภาษาเยอรมัน แปลว่า “หุบเขาแห่งกษัตริย์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปรัสเซีย (Prussia) และในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 15525 – 1701 ดินแดนคาลินินกราดยังเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นปรัสเซียอีกด้วย ก่อนที่พรมแดนของปรัสเซียจะขยายไปทางด้านตะวันตกและต่อมาได้ย้ายเมืองหลวงไปยังกรุงเบอร์ลิน ดังนั้นประชากรดั้งเดิมของ “เคอนิชส์แบร์ค” จึงป็นชาวเยอรมัน ต่อมาในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพแดงยึดดินแดนทางตะวันออกของเยอรมนีได้ทั้งหมด ในข้อตกลงที่ Potsdam สหภาพโซเวียตจึงได้ดินแดนแถบนี้ไปเกือบทั้งหมด (ยกเว้นในส่วนของประเทศโปแลนด์) ส่งผลให้ชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ใน Konigsberg อพยพหนีไปอยู่ที่เยอรมันตะวันออก ทางโซเวียตจึงทำการย้ายเอาคนรัสเซียของตัวเองเข้ามาอาศัยอยู่แทน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “คาลินินกราด” เพื่อเป็นการยกย่องให้เกียรติ มิคาอิล อิวาโนวิช คาลินิน «Михаи́л Ива́нович Кали́нин» ผู้นำคนสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบุรุษของสหภาพโซเวียต ทำให้ประชากรเชื้อสายเยอรมันแทบไม่เหลืออยู่ในดินแดนดังกล่าว กลายเป็นคนรัสเซียเกือบทั้งหมด ต่อมาในช่วงการสลายตัวของสหภาพโซเวียตปี ค.ศ.1991 ลิธัวเนียประกาศตัวแยกตัวเป็นเอกราช ทางสหภาพโซเวียตเสนอให้รวมเอาดินแดนคาลินินกราดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของลิธัวเนียปฏิเสธเนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ส่งผลทำให้“คาลินินกราด” ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในปัจจุบัน ดินแดน “คาลินินกราด” มีประชากรชาวรัสเซียอาศัยอยู่ราว 1 ล้านคนและเป็นดินแดนที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของสหพันธรัฐรัสเซียเป็นอย่างมาก เป็นท่าเรือแห่งเดียวของรัสเซียในทะเลบอลติกที่ไม่มีน้ำแข็งตลอดทั้งปี ทำให้เป็นกองบัญชาการใหญ่ของกองทัพเรือรัสเซียในทะเลบอลติก ภายหลังที่รัสเซียได้ปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียทางรัสเซียจึงได้ตัดสินใจนำขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงเข้าไปประจำการในแคว้นคาลินินกราดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.2022 ที่ผ่านมาทางรัสเซียประกาศว่าได้มีการฝึกซ้อมจำลองเหตุการณ์การโจมตีด้วยหัวรบนิวเคลียร์ในทางด้านตะวันตกของแคว้นคาลินินกราด นอกจากความสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์และทางด้านการทหารแล้วแคว้นคาลินินกราดยังมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของรัสเซียในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัสเซีย
นักวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์สงครามบางท่านวิเคราะห์ว่าหาก NATO เข้ามามีบทบาทกำกับการสู้รบในยูเครนมากขึ้น “แคว้นคาลินินกราด” ก็อาจกลายเป็นฐานที่ตั้งสำหรับการโจมตีประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซียก็ได้ เป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับรัสเซียหากเกิดการสู้รบในกรณีนี้ก็ย่อมจะหนีไม่พ้นแนวชายแดนทางตะวันออกสุดของ NATO ซึ่งได้แก่โปแลนด์ และกลุ่มประเทศริมทะเลบอลติก เช่น เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย รวมถึงสวีเดนและฟินแลนด์ ที่พยายามยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ไม่นานนี้
นอกจากนี้คาลินินกราดยังเป็นดินแดนของรัสเซียที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทวีปยุโรป ตั้งอยู่ห่างจากเมืองสำคัญต่าง ๆ ของประเทศมหาอำนาจยุโรปเช่นห่างจากเบอร์ลิน เพียงแค่ 500 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งเป็นระยะที่หวังผลทางด้านการยิงด้วยขีปนาวุธ นักวิเคราะห์บางท่านมองว่า ทางรัสเซียได้นำขีปนาวุธ Iskander มาประจำการอยู่ในแคว้นคาลินินกราดแล้ว บางท่านยังให้ความเห็นว่านอกจากขีปนาวุธ Iskander แล้ว รัสเซียยังได้นำอาวุธนิวเคลียร์เข้าประจำการในคาลินินกราดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สร้างความกังวลให้กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหลายชาติ ในขณะที่นายดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงรัสเซีย และอดีตประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซียได้ตอกย้ำว่า รัสเซียมีความชอบธรรมในการนำอาวุธนิวเคลียร์ไปใช้ในแคว้นคาลินินกราดได้เพราะ NATO ได้ติดตั้งขีปนาวุธในโปแลนด์และประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ ก่อน กรณีดังกล่าวส่งผลให้ คาลินินกราดจากเมืองเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก อาจจะกลายเป็นจุดสำคัญบนแผนที่ที่ทุกคนต้องจำให้แม่นยำขึ้นเพราะอาจกลายเป็นชนวนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามนิวเคลียร์ในอนาคตก็เป็นได้
Social Links