ค่าดัชนีทุจริตไทยร่วง!

ค่าดัชนีทุจริตไทยร่วง!

 

ค่าดัชนีทุจริตไทยร่วง!

อันดับหล่นจาก 96ไป 99

            นายวรวิทย์  สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2018 ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนน ซึ่งประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุดคือเดนมาร์กได้ 88 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ

 

 

            ในการให้ค่าคะแนน CPI ปี 2018 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 6 แหล่ง คะแนนลดลง3 แหล่ง ทั้งนี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ค่าคะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ล้วนมีคะแนนเท่าเดิม

          1. แหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนเท่ากับปีก่อน มี 6 แหล่งข้อมูล คือ

          1.1 Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-TI)  ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 37 คะแนน) (เท่าเดิม)

            BF-TI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1. ด้านการเมือง 2. ด้านเศรษฐกิจ และ 3. ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุด คือ เดือนมกราคม 2561 ถึงแม้ว่าการประเมินค่าดัชนี Transformation index BTI จะประกอบด้วยชุดคำถามหลายข้อ แต่ Transparency International ใช้คะแนนจากคำถามของ BF เพียง 2 ข้อ ในการประเมินคะแนน CPI คือการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริต และความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน

          คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ TI ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ BF-TI ครั้งล่าสุด เมื่อปีที่ผ่านมา

          1.2 International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services  ได้ 32 คะแนน (ปี 2017 ได้ 32 คะแนน) (เท่าเดิม)

            ICRG เป็นการจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ และมีการรายงานผลทุกเดือน ครอบคลุม 140 ประเทศทั่วโลก

            “การคอร์รัปชัน” เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด คือ การเรียกรับสินบน หรือการเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า/ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบพวกพ้อง การให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองแบบลับ ๆ และความสัมพันธ์ใกล้ชิดของนักการเมืองกับนักธุรกิจ

            คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นผลมาจาก ICRG เน้นความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลและฝ่ายบริหารต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้เหมือนปีที่ผ่านมา

          1.3 Economist intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 37 คะแนน) (เท่าเดิม)

            EIU วิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ EIUมีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือนกันยายนของทุกปี

            คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญของ EIU ได้วิเคราะห์ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปี 2019 แต่ทหารก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในสภาเช่นเดิม รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไม่มีการเผยแพร่ในรูปแบบสากล จึงทำให้การวิเคราะห์อาจมีการคาดเคลื่อนได้

          1.4 Global Insight Country Risk Rating (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2017 ได้ 35 คะแนน) (เท่าเดิม)

            GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต

            คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ แม้ว่ามุมมองและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐดีขึ้น สถานการณ์ภายในประเทศเอื้ออำนวยต่อการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและบริษัทข้ามชาติด้วยหลายแนวทาง ได้แก่ การออกคู่มือมาตรการควบคุมภายในของนิติบุคคล ตามมาตรา 123/5 (ปัจจุบันตามกฎหมายใหม่เป็นมาตรา 176) แต่นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ทำสัญญากับภาครัฐ ยังมองว่า การดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ต้องพบอุปสรรคจากปัญหาคอร์รัปชัน การแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ และปัญหาการให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับการพิจาณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ยังคงมีอยู่ การป้องกันการให้สินบนในระดับต่าง ๆ ยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้สถานการณ์ต่างๆ ภายในประเทศทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย ภาษี การบริหาร และความมั่นคง ที่จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนทำธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมามากนัก

          1.5 World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey  ได้ 42 คะแนน (ปี 2017 ได้ 42 คะแนน) (เท่าเดิม)

            WEF สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1. การคอร์รัปชัน 2. ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3. ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4. ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5. โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง ทั้งนี้ WEF สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี 

            คะแนนเท่าเดิม เนื่องจากสถานการณ์การทุจริตในความรู้สึกของนักลงทุนนั้นยังคงเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลงกว่าเดิม ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการตื่นตัวกับการให้บริการด้วยความโปร่งใส มีการออกนโยบายต่างๆ รวมทั้งการประกาศเจตนารมณ์ในการต่อต้านการทุจริต แต่การแก้ปัญหาก็ไม่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

          1.6 World Justice Project (WJP) : Rule of Law Index  ได้ 40 คะแนน (ปี 2017 ได้ 40 คะแนน) (เท่าเดิม)

            WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้ 8 หลักเกณฑ์ เน้นเรื่องหลักนิติธรรม แต่ปีที่ผ่านมา TI นำเกณฑ์ด้านการปราศจากคอร์รัปชันและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมาเป็นตัวให้คะแนน โดยในรายงานฉบับที่ผ่านมา WJP  ได้เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2017

            คะแนนเท่าเดิม น่าจะเป็นเพราะ TI ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ WJP ครั้งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา (2017 – 2018)

          2. แหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล คือ

          2.1 International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook ได้ 41 คะแนน (ปี 2017 ได้ 43 คะแนน) (ลดลง 2 คะแนน)

            IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1. สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2. ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3. ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4. โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD สำรวจข้อมูลประมาณเดือนมกราคม – เมษายนของทุกปี

            คะแนนลดลง ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและระเบียบต่างๆ หลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ เป็นต้น รวมทั้งมีการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ตาม แต่ยังขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง จึงอาจทำให้ประชาชนและนักธุรกิจยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้

          2.2. Political and Economic Risk Consultancy (PERC)  ได้ 37 คะแนน (ปี 2017 ได้ 41 คะแนน) (ลดลง 4 คะแนน)

            PERC สำรวจข้อมูลจากนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ได้แก่ นักธุรกิจจากสมาคมธุรกิจ ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในเอเชีย ผู้แทนหอการค้าประเทศต่างๆ เป็นต้น

            ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้จัดทำ CPI 2018 เป็นข้อมูลที่เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคมถึงต้นเดือนมีนาคม 2018 และตีพิมพ์วารสารในเดือนมีนาคม 2018

            ทั้งนี้ PERC มีหลักเกณฑ์ในการสำรวจโดยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นการถามคำถามที่ แสดงให้เห็นถึงระดับการรับรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน โดยมีคำถามที่ใช้ในการสำรวจที่สำคัญ คือ ท่านจะให้คะแนนปัญหาการทุจริตในประเทศที่ท่านทำงานหรือประกอบธุรกิจเท่าใด

            คะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะ แม้ว่ามุมมองนักธุรกิจภายในประเทศจะมองว่าสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ปี 2018 มีความรุนแรงน้อยกว่า ปี 2017 แต่ในมุมมองของนักธุรกิจต่างชาติที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ยังคงเห็นว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในประเทศ ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐบาล นอกจากนี้ข่าวเกี่ยวกับการทุจริตของข้าราชการระดับสูงในอดีต ซึ่งประชาชนกล้าออกมาเปิดเผยมากขึ้น ดังที่เป็นข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็มีส่วนที่ทำให้มุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจมีผลให้มีค่าคะแนนที่ลดลง

          2.3 Varieties of Democracy Project (V-DEM) ได้ 21 คะแนน (ปี 2017 ได้ 23 คะแนน) (ลดลง 2 คะแนน)

            V-DEM วัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในปี 2016 มีการวัดในอาเซียนเพียง 4 ประเทศ แต่ในปี 2017 มีการวัดในอาเซียน 10 ประเทศ

            คะแนนลดลง น่าจะเป็นเพราะปีที่ผ่านมาสังคมโลกมองว่าไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีข้อจำกัดเรื่องสิทธิเสรีภาพบางประการเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรมยังไม่ชัดเจน                      

          ดังนั้น ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต โดยรัฐบาลต้องมีเจตจำนงในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือ ในการให้สินบนทุกรูปแบบและมีการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต”

          สำหรับในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณคดีเข้าและที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

            ……………………………………………………………………………………………….

            ปี ค.ศ. จำนวนเรื่องร้องเรียนรับใหม่ (เรื่อง)      ดำเนินการแล้วเสร็จ (เรื่อง)

              ………………………………………………………………………………………………

            2015               3,051                                      1,619

            2016               5,382                                      2,411

            2017               4,896                                      3,459

              2018             4,622                                      3,752

              …………………………………………………………………………………………….

            นอกจากนี้ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นจะมีการศึกษาเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก หรือวางมาตรการเพื่อส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ มาตรการป้องกันการทุจริตกรณีการค้าระหว่างประเทศแบบรัฐต่อรัฐจากโครงการจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจี, มาตรการป้องกันการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับป้ายโฆษณาบนทางสาธารณะ, มาตรการเพื่อวางเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตลอดจนการป้องกันการทุจริต โดยใช้หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่จะเริ่มการเรียนการสอนในปีการศึกษาแรกของปี 2562

You may also like

เปิดเคล็ดลับความมั่งคั่ง สำรวจกลยุทธ์การเงินชั้นเซียนของผู้มีกำลังซื้อสูง

เปิดเคล็