ค้าปลีก 61 ร้อนฉ่า “นอน-รีเทล”เฮร่วมเดือด!

ค้าปลีก 61 ร้อนฉ่า “นอน-รีเทล”เฮร่วมเดือด!

ค้าปลีก 61 ร้อนฉ่า

“นอน-รีเทล”เฮร่วมเดือด!

 

                ในปี 2561 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในไทยน่าจะทวีความรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการรุกเข้ามาของกลุ่มตลาดกลางออนไลน์ (E-Market Place) ต่างชาติรายใหญ่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ที่มีแผนรุกตลาดออนไลน์ของไทยรวมถึงอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ อีกทั้งสัญญาณการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่คาดว่าในปี 2561 น่าจะขยายตัวร้อยละ 20-25 ต่อเนื่องจากปี 2560 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดราว 256,000 ล้านบาท  ยังจูงใจให้บรรดาธุรกิจต่างๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจค้าปลีก (Non-Retail) มีการแตกไลน์ธุรกิจและสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

                ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีการจัดตู้รับสินค้าไว้บริการลูกบ้านที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่หันมาลงทุนทำธุรกิจค้าปลีกทั้งในส่วนของหน้าร้านและออนไลน์ หรือแม้แต่ผู้ผลิตสินค้าหรือเจ้าของแบรนด์ก็หันมาจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยตนเอง

                ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในระยะข้างหน้าจะไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่ในกลุ่มผู้เล่นที่เป็นผู้ประกอบการค้าปลีกอีกต่อไป แต่จะมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการ E-Commerce รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่นอกกลุ่มธุรกิจค้าปลีก (Non-Retail) สนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบของการเข้ามาสนับสนุนเชนธุรกิจออนไลน์ หรือแม้แต่การเข้ามาเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ในธุรกิจค้าปลีกนี้ด้วย สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีหน้าร้าน (Offline) ต่างเผชิญกับความท้าทายในการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นและแตกต่างกันไป

 

 

             ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางสภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้นในปี’ 61 บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ กลางหรือเล็ก ต่างมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขัน รวมทั้งโจทย์หรือความท้าทายที่แตกต่างกันไป ดังนี้

                1) ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ โดยเฉพาะศูนย์การค้า/ห้างสรรพสินค้า แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่จะมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหันมารุกช่องทางออนไลน์เพื่อเติมเต็มเชนธุรกิจให้ครบวงจร (Fulfillment) ทั้งในลักษณะของการลงทุนด้วยตนเองหรือการจับมือร่วมกับพันธมิตรรายใหญ่ ในขณะเดียวกันช่องทางหน้าร้าน (Offline) ก็ได้มีการปรับโครงสร้างของร้านให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งด้วยขนาดพื้นที่ที่มาก จึงมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นในการปรับตัวให้สามารถตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าได้ครอบคลุมทุกกลุ่ม

                แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าให้เต็มอยู่เสมอ รวมทั้งทำอย่างไรที่จะสนับสนุนให้ร้านค้าที่เช่าพื้นที่อยู่ในศูนย์การค้ายังสามารถขายสินค้าได้ เพราะร้านค้าดังกล่าว นอกจากจะเผชิญการแข่งขันและแย่งชิงลูกค้ากันเองแล้ว ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับร้านค้าปลีกออนไลน์ ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งประเภทของสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ก็มีความหลากหลายและสามารถสั่งซื้อได้ง่ายและสะดวกขึ้น

                ดังนั้น แม้ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่า กล่าวคือ นอกจากจะมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายและครบวงจร รวมถึงมีแบรนด์ค่อนข้างน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีพื้นที่ในการเลือกบริหารจัดการสินค้า และการทำกิจกรรมหรืออีเว้นท์ต่างๆ ที่สามารถให้ตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้ค่อนข้างมาก เช่น Edu-Zone สำหรับเด็ก หรือ Co-Working Space Zone สำหรับวัยทำงาน แต่ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้ ก็ยังต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายในการบริหารจัดการพื้นที่ที่มีอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

                2) ผู้ประกอบการค้าปลีกรายกลางถึงรายเล็ก แม้ว่าผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีผู้ประกอบการหลายรายที่มีความพยายามในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดเลือกสินค้าที่มีความหลากหลายและแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า (Niche & Unique) มาจำหน่าย เช่น เพิ่มแผนกอาหารสด หรือการปรับพื้นที่สำหรับการจัดอีเว้นท์หรือทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงใช้ช่องทางออนไลน์ในการทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้กับลูกค้า หรือใช้เป็นช่องทางในการเพิ่มยอดขายควบคู่ไปด้วย

                แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวดังกล่าว ก็อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม แต่เป็นการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือลูกค้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับร้านค้าปลีกเท่านั้น

                ดังนั้น มองไปข้างหน้า หากผู้ประกอบการเผชิญกับสภาพการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้น การรักษาศักยภาพในการแข่งขันให้ยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้ เพราะด้วยสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างพยายามปรับตัวและสร้างความแตกต่างกันมากขึ้น จึงทำให้ช่องว่างของความแตกต่างนั้นลดลง และส่งผลให้ธุรกิจของเราอาจจะไม่ได้ Niche & Unique จากคู่แข่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้จะต้องมีการวางแผนและปรับตัวเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมายได้อยู่เสมอ

 

ศักยภาพในการปรับตัวและการเผชิญความท้าทายของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม

                ความสามารถในการปรับตัว               ประเด็นท้าทาย

ผู้ประกอบการรายใหญ่ (ห้างสรรพสินค้า/ค้าปลีกที่มีหลาย Segment)

• มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวสูง มีเงินทุน และแบรนด์เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ

• พื้นที่ในการจัดสรรค่อนข้างมาก สามารถปรับให้ตรงกับพฤติกรรมของลูกค้าได้ค่อนข้างหลากหลายกลุ่มและครอบคลุม เช่น การปรับพื้นที่สำหรับงานอีเว้นท์หรือทำกิจกรรมเช่น Edu-Zone สำหรับเด็ก, Co-Working Space Zone สำหรับวัยทำงาน เป็นต้น       

• การบริหารจัดการพื้นที่เช่า และร้านค้าต่างๆ ที่มาเช่าให้อยู่รอดและแข่งขันได้กับคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งจากช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายขึ้น

ผู้ประกอบการรายกลางถึงรายเล็ก(ซูเปอร์มาร์เก็ต/    สเปเชียลตี้ สโตร์)

• มีความยืดหยุ่นการในการปรับตัวน้อยกว่าผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ซึ่งการปรับตัวอาจจะตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หรือลูกค้าที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับร้านค้าปลีกเท่านั้น

•การคัดเลือกสินค้าที่มีความหลากหลายและแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า (Niche & Unique) มาจำหน่าย เป็นต้น 

• การทำให้ธุรกิจมีความแตกต่างจากคู่แข่งและแข่งขันได้อยู่เสมอ ท่ามกลางสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งคู่แข่งยังสามารถปรับตัวและสร้างความแตกต่างได้เช่นกัน

                ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในปี’ 61 แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีความพยายามในการปรับตัวกันมาโดยตลอด แต่คาดว่า ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละกลุ่มก็ยังเผชิญกับโจทย์ท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Fixed Asset) ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า (Renovate) อย่างไร ให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็วและคุ้มค่ามากที่สุด

                ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า กุญแจสำคัญของการอยู่รอดในระยะยาว คือ การเข้าใจในพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป้าหมาย (Target Customers) ให้ได้มากที่สุด โดยคาดว่า ในปี’ 61 ผู้ประกอบการค้าปลีกทุกรายยังคงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค (Big Data) กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี Data Analytics หรือแม้แต่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาบริหารจัดการและเชื่อมโยงธุรกิจค้าปลีกในแต่ละช่องทาง (Online to Offline: O2O) ทั้งที่เป็นส่วนของค้าปลีกหน้าร้านและออนไลน์ให้เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งท้ายที่สุด ผู้ประกอบการค้าปลีกที่สามารถบริหารจัดการทั้ง 2 ช่องทางได้ดีกว่า ย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่สูงกว่า

 

You may also like

ชูเมืองเก่าภูเก็ต-แม่กลองเป็นเมืองนำร่อง สู่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก

ชูเมืองเ