จี้รัฐเร่งออกกฎหมายควบคุมใช้งาน AI
คณบดี CITE DPU เผย AI คือ Soft Skill ใหม่ยุคดิจิทัล
ปัจจุบันเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กว่าปีเศษที่มีการใช้งาน Generative AI อย่างแพร่หลาย ทั้ง Chat GPT (Generative Pre-trained Transformer) รวมทั้ง AI ตัวอื่นอย่าง Gemini (ชื่อเดิม Bard) Copilot และ AI ตัวอื่น ๆ ถูกนำมาเป็นตัวช่วยในการทำงานต่าง ๆ ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันหลายองค์กรเริ่มลดกำลังคนและนำ AI มาแทนที่มนุษย์ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้งาน AI เพื่อให้สามารถปรับตัว อยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อย่างเต็มที่
ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำงานของเทคโนโลยี AI มีความก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด มีการนำมาใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ มากมาย เราจะพบว่า AI มีความสามารถต่าง ๆ อย่างที่เราคาดไม่ถึงมากมาย เช่น การสร้างตัวตนเสมือน การวาดรูป การแต่งนิยาย การสร้างภาพวิดีโอ การแต่งเพลง การสร้างภาพสถาปัตยกรรม การสร้างผลงานทางศิลปะ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแปลภาษา จึงเริ่มมีการนำ AI มาใช้งานต่าง ๆ ทั้งที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเกษตรที่นำ AI ช่วยดูแลฟาร์มทั้งระบบ หรือการใช้ AI มาช่วยนำเข้าข้อมูลโดยอัตโนมัติในสำนักงานต่าง ๆ หรือ ด้านการเงินที่นำ AI ช่วยวิเคราะห์ซื้อขายสินทรัพย์ ด้านการธนาคารที่นำ AI มาประเมินการปล่อยกู้ หรือ ด้านสาธารณสุขที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์โรค หรือ ด้านการขนส่งที่นำ AI มาขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติ เป็นต้น กล่าวได้ว่า AI สามารถเข้าไปอยู่ได้แทบจะทุกวงการรอบตัวเรา ดังนั้นเราจึงต้องปรับตัว อยู่ร่วมและเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี AI ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามการใช้ AI เสมือนเป็นดาบสองคม กล่าวคือ AI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการทำงานได้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากข้อมูลหรือผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก AI ก็อาจจะเรียนรู้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ถูกต้องหรือละเมิดมาได้ ดังนั้นเราต้องประมวลและตรวจสอบให้ได้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จาก AI มีอะไรที่ไม่ถูกต้องและอย่างไร ซึ่งต้องอาศัย Core Knowledge ของเราเองนั่นเอง เพื่อให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำหน้า AI เปรียบเสมือนว่าเราคุยเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับใครสักคน แล้วเรารู้ว่าคนที่เรากำลังคุยด้วยกำลังให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง !!
“แน่นอนที่องค์กรต่าง ๆ ต้องเริ่มมีการใช้งาน AI เพิ่มมากขึ้น ในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป้าหมายการให้บริการหรือผลประกอบการที่ดีขึ้น รวมทั้งการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ AI ก็เป็นดาบสองคมเช่นกัน เช่น การสร้างข้อมูลลวง หรือ Deep fake หรือการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสร้างผลงานด้วย AI โดยไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องและขัดเกลา รวมทั้งการคัดลอกผลงานหรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือการใช้ AI เพื่อส่งคำสั่งซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ จนผู้เล่นรายเล็กไม่เหลือรอด หรือการใช้ AI หาและใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ที่มีอยู่ หรือการส่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติจาก AI โดยไม่มีการตรวจสอบ เป็นต้น ดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้งานที่ไม่เหมาะสมหรือเสี่ยงต่อการคุกคามรวมทั้งเพื่อสร้างความปลอดภัย การมีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบหรือควบคุมการใช้งาน AI ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อะไรที่ไม่ควรให้ AI ทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมุ่งเน้นแนวทางการใช้งานและผลลัพธ์ที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ ภาครัฐรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตระหนักถึงเรื่องนี้”
ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวด้วยว่า เด็กยุคใหม่ควรเรียนรู้และใช้งาน AI ให้เป็นทักษะหนึ่งติดตัว เพื่อให้สั่งการ ใช้ประโยชน์ หรือเป็นผู้ตรวจสอบการทำงานของ AI ได้ ทั้งนี้ที่วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE DPU ได้พยายามติดอาวุธให้นักศึกษา โดยอาจารย์ผู้สอนได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการใช้งานสั่งการหรือ prompt ตัว Generative AI ในทุกหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็น Soft Skill ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการจัดอบรมอัพเดทการใช้งานสั่งการ Generative AI อาทิ การใช้ Chat GPT เป็นต้น แต่หากต้องการมุ่งเน้นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ก็สามารถเลือกเรียนหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ทั้งระดับ ปริญญาตรี-โท-เอก ที่มีเนื้อหา AI อยู่ในหลักสูตรแล้ว โดยในอนาคต CITE DPU ก็มีแผนพัฒนาหลักสูตรที่มีอยู่ให้สามารถสร้างและประยุกต์การใช้งาน AI ให้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการแยกออกมาเป็นหลักสูตรวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรองรับสายอาชีพด้าน AI ต่อไป
“จากมุมมองของผู้ประกอบการในสายอาชีพวิศวกรรม หากเรามี Skill การใช้งานสั่งการ Generative AI ได้จะทำให้ได้เปรียบมากกว่าคนที่ทำงานด้วยวิธีเดิม ๆ ในการทำงาน ช่วยเพิ่มความเร็วในการทำงาน แต่ก็มีข้อควรระวังและต้องใช้งานให้เป็น แต่หากเราไม่ปรับตัวเราก็อาจถูก AI แทนที่ได้” ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้าย
Social Links