“จุรินทร์” หนุน WTO ยกเว้นคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด ให้ประเทศด้อยพัฒนาเข้าถึงได้

“จุรินทร์” หนุน WTO ยกเว้นคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด ให้ประเทศด้อยพัฒนาเข้าถึงได้

"จุรินทร์" หนุน WTO ยกเว้นคุ้มครองสิทธิบัตรวัคซีนโควิด

ให้ประเทศด้อยพัฒนาเข้าถึงได้

                 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค Ministers Responsible for Trade Meeting หรือ MRT ประจําปี 2564 ผ่าน ระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการโสมสวลี ชั้น 11 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ สิ้นสุดลงกลางดึกที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย

                โดยนายจุรินทร์ เปิดเผยว่า วันนี้( 5มิย.)เป็นการประชุมวันที่ 2 ของการประชุมเอเปคซึ่งมีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ เอเปคมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ เมื่อวานเป็นการประชุมวันแรกร่วมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจของเอเปคคือภาคเอกชน วันนี้เป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีการค้าเอเปคโดยเฉพาะร่วมกับผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก ซึ่งประเด็นที่ผมได้นำเสนอต่อที่ประชุมในวันนี้ ประกอบด้วย 2 ประเด็นสำคัญ

                เรื่องแรกการรับมือกับวิกฤตโควิด เรื่องที่สองเกี่ยวกับระบบการค้าแบบพหุภาคีภายใต้การกำกับของ WTO ซึ่งตนได้เสนอความเห็นในนามรัฐมนตรีการค้าประเทศไทยโดยสรุปมี 6 ประเด็น

                ประเด็นที่หนึ่ง ประเทศไทยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายวัคซีนและสินค้าจำเป็นต่อการแก้ปัญหาโควิดให้สะดวกปราศจากปัญหาอุปสรรคและมาตรการในการจำกัดการส่งออก เพื่อให้ทุกประเทศเข้าถึงวัคซีนและสินค้าจำเป็นต่อการแก้ปัญหาโควิดโดยเร็ว

                ประเด็นที่สอง ประเทศไทยยืนยันที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในการอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้กติกาของ WTO

                ประเด็นที่สาม ประเทศไทยจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ทั่วถึงตามเป้าหมายโดยเร็วที่สุด และสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนของทุกประเทศในโลก

                ประเด็นที่สี่ ประเทศไทยยืนยันการสนับสนุนการทำ CL คือการให้สิทธิเป็นกรณีพิเศษสำหรับการผลิตวัคซีนโดยเหตุผลของสุขภาพอนามัยของประชาชนในประเทศนั้นๆโดยไม่ถือเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงวิกฤติโควิด และที่ประเทศไทยอยากเห็นคือมีการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิตวัคซีน ตามข้อตกลงทริปส์

                ประเด็นที่ห้า ประเทศไทยสนับสนุนบทบาทของ WTO ในการเร่งหารือกับ WHO ในเรื่องการผลิตวัคซีน

                ประเด็นที่หก ประเทศไทยสนับสนุน WTO ในการเร่งหาข้อสรุปที่ค้างคาจากการประชุมคราวที่แล้วในหลายประเด็น เช่น หาสรุปเรื่องการอุดหนุนการประมง การยกเว้นภาษีชั่วคราวด้านอีคอมเมิร์ซ ว่าจะยกเว้นต่อไปหรือมีกติกาอย่างไร รวมทั้งเรื่องการอุดหนุนสินค้าการเกษตรและการปฏิรูปองค์กร WTO ที่เป็นประเด็นค้างคายังไม่ได้ข้อสรุป

                และเรื่ององค์กรอุทธรณ์ที่ WTO ได้ตัดสินกลับประเทศผู้พิพาทแล้วสามารถอุทธรณ์ได้ แต่องค์กรอุทธรณ์สมาชิกว่างอยู่นานแล้วยังไม่สามารถเลือกสมาชิกได้ ทำให้องค์กรไม่สามารถทำหน้าที่พิจารณาคดีพิพาทได้ให้เร่งดำเนินการให้จบโดยเร็ว

                อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปควันนี้ส่งผลให้มีแถลงการณ์ร่วมทั้งหมด 3 คือ ฉบับที่ 1 แถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าประจำปี 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ กลไกการค้าเป็นกลไกสำคัญในการต้อสู้กับโควิด-19 ระบบการค้าพหุภาคีที่เสรี และ ทิศทางสู่ความมั่งคั่งของเอเปค         

                ฉบับที่ 2 แถลงการณ์เอเปคเรื่องห่วงโซ่อุปทานวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีสาระสำคัญคือการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าวัคซีนโควิด-19 และสินค้าจำเป็น

                ฉบับที่ 3 แถลงการณ์เอเปคเรื่องการบริการเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าจำเป็น เน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้าขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน

You may also like

ชูเมืองเก่าภูเก็ต-แม่กลองเป็นเมืองนำร่อง สู่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก

ชูเมืองเ