ชิปผลิตรถยนต์ขาดแคลน ไทยชะลอผลิตกว่า 4 หมื่นคัน
ค่ายรถปรับโครงสร้างรองรับระยะยาว
นับแต่ปลายปี 2563 อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกประสบกับปัญหาขาดแคลนชิป (Chip) โดยเฉพาะชิปควบคุมและประมวลผลชั้นสูง (Microcontroller) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ควบคุมการทำงานในส่วนต่างๆ ของรถยนต์ เช่น ระบบช่วยควบคุมการขับขี่ และระบบถุงลมนิรภัย เป็นต้น ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ของผู้ผลิตหลายรายต้องหยุดชะงักในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นการขาดแคลนชิปรถยนต์โลกและผลกระทบต่อไทย ดังนี้
สาเหตุพื้นฐานของภาวะขาดแคลนชิปโลกมาจากความเปราะบางของโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิปรถยนต์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากปัจจุบันอุปทานชิปของค่ายรถมาจากกลุ่มผู้ผลิตชิปสำหรับรถยนต์เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 65 ซึ่งผู้ผลิตชิปเหล่านี้มักมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับค่ายรถ และต้องวางแผนคงการผลิตรวมถึงสต็อกเพื่อตอบสนองอุปสงค์ของค่ายรถให้ได้อยู่เสมอ ในขณะที่อุปทานที่เหลือจะมาจากกลุ่มผู้ผลิตชิปให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมักปรับสายพานการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เข้ามาก่อนหลังในแต่ละช่วง นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อลดภาระการลงทุนและต้นทุนการดำเนินงาน ผู้ผลิตชิปสำหรับรถยนต์เป็นหลักบางรายได้มีการเอาท์ซอร์ซการผลิตชิปชั้นสูงบางตัวไปยังกลุ่มผู้รับช่วงต่อในการผลิตชิป โดยเฉพาะผู้ประกอบการในไต้หวัน ซึ่งมีการจัดแผนการผลิตตามคำสั่งซื้อก่อนหลังเช่นกัน จึงอาจเกิดความล่าช้าในการส่งมอบขึ้น
ภายใต้โครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิปรถยนต์ที่เปราะบาง อุปสงค์และอุปทานชิปที่ผันผวนได้ก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนชิปรถยนต์โลก โดยมีหลายฉนวนเหตุ ดังนี้
อุปสงค์ชิปที่ผันผวนในหลายอุตสาหกรรมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการแพร่ระบาดดังกล่าวได้ทำให้อุปสงค์รถยนต์โลกลดลงอย่างรุนแรงในช่วงกลางปี 2563 ในขณะที่หนุนให้อุปสงค์ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปทานชิปส่วนใหญ่ถูกผันไปใช้ในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อตลาดรถยนต์โลกกลับมาฟื้นตัวเร็วกว่าคาดในช่วงปลายปี จึงเกิดภาวะชิปตึงตัวในอุตสาหกรรมยานยนต์ขึ้น โดยเฉพาะอุปทานที่มาจากกลุ่มผู้ผลิตชิปให้กับหลากหลายอุตสาหกรรมและกลุ่มผู้รับช่วงต่อในการผลิตชิป
การเพิ่มสต็อกชิปจำนวนมากของผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีนก่อนการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายไตรมาส 3 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้อุปทานชิปของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีสหรัฐฯ ถูกผันไปใช้เพื่อการดังกล่าว โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้รับช่วงต่อการผลิตชิปรายใหญ่ในไต้หวัน
อุบัติภัยและภัยธรรมชาติในหลายประเทศที่เป็นแหล่งผลิตชิปที่สำคัญของโลก สถานการณ์อุปทานชิปรถยนต์ที่ตึงตัวยังถูกซ้ำเติมจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานผู้ผลิตชิปสำหรับรถยนต์รายใหญ่ในญี่ปุ่น พายุฤดูหนาวในสหรัฐฯ และภัยแล้งในไต้หวัน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้
ไทยได้รับผลกระทบจำกัดจากภาวะขาดแคลนชิปโลกในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากฐานการผลิตของค่ายรถญี่ปุ่นในไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตรถกลุ่มหลักมีการใช้ห่วงโซ่อุปทานชิปที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิปสำหรับรถยนต์เป็นการเฉพาะและมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับค่ายรถญี่ปุ่น ทำให้สามารถปรับแผนการผลิตและสต็อกชิปได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ จากบทเรียนผลกระทบของภัยธรรมชาติในอดีต ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาค่ายรถญี่ปุ่นได้มีการดำเนินนโยบายเก็บสต็อกชิ้นส่วนสำคัญซึ่งรวมถึงชิปเพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยที่อาจจะกระทบสายพานการผลิตไว้ โดยมีการเก็บสต็อกชิปสำหรับผลิตรถได้มากกว่า 1 เดือนขึ้นอยู่กับค่ายรถ ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าว ผลกระทบจากอุปทานชิปตึงตัวยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ของค่ายรถญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทางฝั่งเอเชียอย่างประเทศไทยที่พึ่งพาฐานผลิตชิปในญี่ปุ่นเป็นหลัก
ทว่าในช่วงไตรมาส 2 การผลิตรถไทยก็ได้รับผลกระทบหลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานของผู้ผลิตชิปรถยนต์รายหลักในญี่ปุ่นในช่วงปลายไตรมาสแรก ซึ่งส่งผลกดดันให้ในช่วงต้นไตรมาส 2 บางค่ายรถในไทยที่มีการเก็บสต็อกชิปไม่มากนักเริ่มประกาศชะลอการผลิตและส่งมอบรถในบางรุ่นออกไป และคาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวน่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่เหลือของไตรมาส โดยผลกระทบดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นกับการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่ตลาดในประเทศน่าจะถูกชดเชยจากยอดขายที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่กระจายเป็นวงกว้างกว่าช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะเขตพื้นที่กรุงเทพฯที่มียอดขายรถยนต์กว่าร้อยละ 30 ของทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี ภาวะขาดแคลนชิปในไทยน่าจะทยอยคลี่คลายได้ในไตรมาส 3 หลังโรงงานผลิตชิปที่ประสบเพลิงไหม้ได้รับการฟื้นฟูเสร็จสมบูรณ์ และการจัดสรรสายพานการผลิตชิปให้แต่ละค่ายรถกลับสู่ภาวะปกติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 ภาวะชิปตึงตัวในไทยน่าจะส่งผลให้เกิดการปรับแผนและชะลอการผลิตรถราว 4.4 หมื่นคัน ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.4 ของปริมาณรถที่คาดว่าจะผลิตในไทยปีนี้ โดยการชะลอดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลต่อยอดการผลิตในปีนี้ ที่ประเมินไว้ที่ราว 1.8 ล้านคัน ในขณะที่เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์ทั่วโลกที่ถูกคาดว่าจะลดลงราว 1.65 ล้านคันในปีนี้ ผลกระทบต่อไทยจะมีสัดส่วนอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.7
หลังจากที่รัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมรถยนต์ชั้นนำอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมนี พยายามเจรจาให้ผู้ผลิตชิปหันมาเร่งเพิ่มกำลังการผลิตชิปสำหรับรถยนต์ น่าจะช่วยให้สถานการณ์ขาดแคลนชิปโลกเริ่มที่จะคลี่คลายได้ชั่วคราวในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ทว่าในระยะยาว การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของห่วงโซ่อุปทานชิปในรถยนต์น่าจะยังคงเป็นโจทย์สำคัญของค่ายรถ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะข้างหน้า ค่ายรถน่าจะเร่งพิจารณาปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานชิป โดยเลือกพันธมิตรที่เป็นผู้ผลิตชิปรถยนต์เป็นหลักมากขึ้น และลดการพึ่งพาผู้ผลิตในกลุ่มอื่น เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่อุปทานชิปโดยรวม ขณะเดียวกันก็ร่วมวางแผนในการลงทุนฐานผลิตชิปให้กระจายตามแต่ละภูมิภาคที่ค่ายรถมีฐานผลิตอยู่ เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติภัย และสามารถวางแผนการผลิตที่ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความผันผวนของอุปสงค์ที่อาจแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค รวมทั้งสามารถเกื้อหนุนกันด้านอุปทานได้หากเกิดเหตุจำเป็น
ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุปทานชิปรถยนต์ เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับค่ายรถญี่ปุ่น ซึ่งพึ่งพิงไทยในฐานะฐานผลิตเพื่อการส่งออกเป็นอันดับสองรองจากฐานผลิตในญี่ปุ่น โดยไทยน่าจะมีโอกาสดึงดูดการลงทุนในขั้นตอนการเข้าแพ็กเกจชิปและดำเนินการทดสอบ (Chip Packaging and Testing) ซึ่งปัจจุบันก็มีผู้ผลิตชิปสำหรับรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นบางรายได้เข้ามาลงทุนประกอบชิปรถยนต์ในไทยอยู่บ้างแล้ว และน่าจะสามารถต่อยอดการลงทุนได้อีกในอนาคต ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว นอกเหนือจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอุปทานชิปให้แก่ห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ไทยแล้ว ยังเป็นการขยายโอกาสการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยียานยนต์ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย
Social Links