ฐานะการเงินของไทยสุดแกร่ง!
ประเทศไทยใกล้เข้าสู่โหมดเลือกตั้ง? รอบนี้หากไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อนเหมือนรอบก่อนๆ เชื่อว่า…เสียงของประชาชนคนไทย คงได้กลับมาใหญ่อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ คนไทยอาจสับสนกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ อย่าง…เงินคงคลัง ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำเอามาเป็นประเด็นโจมตี ทำนอง…รัฐบาล คสช.หมดเงิน จนต้องเอาเงินคงคลังที่เคยมีกว่า 6 แสนล้านบาท ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาใช้เงินคงคลังแทบไม่มีเหลือ
กระทั่ง น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ต้องออกมาแถลงต่อสื่อเมื่อ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าเงินคงคลังยังคงมีและอยู่ในระดับที่เหมาะสม คือ 315,392 ล้านบาท
แม้ความชัดเจนจะมีให้เห็น ทว่าตัวเลขของเงินคงคลังในปี 2556 ที่มีมากถึง 605,052 ล้านบาท กลับหายไปเกือบครึ่งในวันที่ รัฐบาล คสช.บริหารประเทศ มาจนถึงตอนนี้
มันเกิดอะไรขึ้น? และปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบอะไรตามมา? เป็นสิ่งที่ทีมข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าว ThaiBCCnews จำต้องขยายผล…
ก่อนอื่นคงต้องย้ำกันอีกครั้งว่า…เงินคงคลัง ก็คือ เงินสดในมือของรัฐบาล ที่มีสำรองเอาไว้สำหรับใช้จ่าย ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งยอดเงินจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ขึ้นอยู่กับการรับเงินและจ่ายเงินของรัฐบาลในช่วงนั้นๆ
ตัวเลขสถิติที่น่าสนใจนับแต่ รัฐบาล คสช. ยึดอำนาจและเข้ามาบริหารประเทศ พบว่า…เงินคงคลังที่เคยมีในปี 2556 คือ 605,052 ล้านบาท ลดเหลือ 426,182 ล้านบาท ปี 2558 และ 441,300 ล้านบาท ปี 2559 กระทั่งเหลือ 315,392 ล้านบาท ช่วงกลางเดือน ก.ย.60 ที่ผ่านมา
ประเด็นคือ เงินคงคลัง มีสิทธิ์จะลดหรือเพิ่ม และรัฐบาลเองก็มีสิทธิ์ที่จะใช้จ่ายเงินส่วนนี้ หากทุกอย่างเป็นไปเพื่อการบริหารประเทศ
ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า…เศรษฐกิจไทยในยุคสมัยของ รัฐบาล คสช. มีแต่ทรุด ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอันเป็นฐานหลักของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะตัวเลขส่งออก เงินทุนจากต่างประเทศ ตกต่ำอันเป็นผลพวงจากการแซงก์ชั่นของรัฐบาลนานาประเทศ ที่ไม่คบค้าสมาคมกับรัฐบาลทหาร ที่ทำการยึดอำนาจเข้ามา
ที่พอดูว่าเสียหายน้อยหน่อยก็คือ…รายได้จากการท่องเที่ยว ที่แม้จะไม่ลดฮวบฮาบมากนัก แต่การพึ่งพากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเพียงอย่างเดียว ก็ถือเป็นความเสี่ยงพอสมควร
เมื่อการส่งออกไม่ดี ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพลเรือนเคยทำไว้ ได้ถูกยกเลิก จึงทำให้กำลังและอำนาจการซื้อของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีหลายสิบล้านครัวเรือน หดหายไปอย่างน่าตกใจ ทำให้เศรษฐกิจไทย…ไม่อยู่ในภาวะ “ซื้อง่ายขายคล่อง” เช่นที่เคยเป็น…
ส่งผลต่อเนื่องทำให้รัฐบาลไม่สามารถจะจัดเก็บภาษีได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
ตรงนี้เองทำให้รัฐบาลต้องเอาเงินคงคลัง หรือเงินสดในมือของรัฐบาล ออกไปใช้จนตัวเลขมันฟ้องว่า…หายไปเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศ
กระนั้น ทีมข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าว ThaiBCCnews ก็ต้องยืนยันว่า…ตัวเลขเงินคงคลังที่หดหายไปนี้ ยังไม่น่าตกใจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งออกเริ่มมีมากขึ้น เงินทุนจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวที่มีเข้ามาเพิ่มขึ้น หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปเยือนสหรัฐอเมริกา ถ่ายรูปคู่กับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และการประกาศช่วงเวลาของการเลือกตั้งปลายปี 2561
สิ่งนี้…ย่อมเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจไทย
และหากตัวเลขภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ แว็ต เพิ่มจาก 7% เป็น 9% รวมถึงมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีต่างๆ แล้ว แน่นอนว่า…เงินคงคลังก็ต้องขยับสูงขึ้นอย่างมิต้องสงสัย
ประเด็นที่อยากจะชี้ให้คนไทยเกิดความอุ่นใจ ก็คือ…ตัวเลข “ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ” ของไทยมากกว่า ล่าสุด มีรายงานแจ้งเมื่อ ม.ค.60 ว่า “ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ” ของไทยปรับเพิ่มขึ้นอีก 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 2.001 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 6.616 ล้านล้านบาท
ถือว่าสูงมากๆ และเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทย ที่หลายคนอาจยังไม่รู้?
“ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ” คืออะไร? ทำไมถึงมีความสำคัญขนาดนั้น!
พูดเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ มันคือ เงินสำรองของประเทศ หากมีเยอะจะทำให้ประเทศต่างๆ เกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทย ซึ่งทางการไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย วางเป้าประสงค์ของ “ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ” มีไว้เพื่อ…
การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน
ความมั่นคงของประเทศ
สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศ
และเพื่อใช้หนุนหลังการผลิตธนบัตรออกมาใช้
เห็นได้ชัดว่า…ฐานะการเงินของไทย จาก “ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ” จัดว่ามีสูงมากๆ ฉะนั้น เงินคงคลังจะลดน้อยหรือปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร? ย่อมไม่ส่งผลกระทบสถานะทางเศรษฐกิจของไทยอย่างแน่นอน
ฉะนั้น คนไทย…อย่าได้ตื่นตระหนกกันเกินไป!!!.
Social Links