“ดร. มนพร” ลงพื้นที่นครราชสีมา สั่งขุดลอกบำรุงทางน้ำ-เขื่อนป้องกันตลิ่ง แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

“ดร. มนพร” ลงพื้นที่นครราชสีมา สั่งขุดลอกบำรุงทางน้ำ-เขื่อนป้องกันตลิ่ง แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

“ดร. มนพร” ลงพื้นที่นครราชสีมา

สั่งขุดลอกบำรุงทางน้ำ-เขื่อนป้องกันตลิ่ง

แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย

ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามโครงการงานขุดลอกและเขื่อนป้องกันตลิ่งพังแม่น้ำมูล การดำเนินงานขุดลอกคลองลำแชะ พร้อมรับฟังปัญหาของประชาชน พร้อมด้วยผู้บริหารของกระทรวงคมนาคม  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายนิกร โสมกลาง นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา พร้อมประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ณ อำเภอพิมาย และอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

โดย ดร. มนพร ได้เปิดเผบว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน ซึ่งจะช่วยทั้งเรื่องน้ำท่วมและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการรักษาสภาพลำน้ำและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และภัยแล้ง เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติ อุทกภัย และภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากการที่ลำน้ำสาธารณะตื้นเขินไม่สามารถใช้เพื่อสัญจรทางน้ำได้ โดยสภาพแม่น้ำมูลบริเวณ หมู่ที่ 12 ตำบลท่าหลวง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา มีปัญหาลำน้ำตื้นเขินอย่างรุนแรง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลำน้ำสาธารณะสามารถใช้สัญจรได้ จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอก ระยะทาง 910 เมตร ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยขยายความกว้างและความลึกของร่องน้ำ ปัจจุบันมีความคืบหน้า 35% และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2567

“การลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่า การดำเนินงานแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนจากสภาพลำน้ำที่ตื้นเขิน รวมทั้งการกัดเซาะตลิ่งที่ได้รับความเสียหายมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาอุกทกภัยและภัยแล้งได้ ส่งผลให้ประชาชนมีแหล่งน้ำเพียงพอในการอุปโภค บริโภค และสามารถใช้สัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพังในแม่น้ำมูล การกัดเซาะตลิ่งพังเสียหายบริเวณลำน้ำสาธารณะ บริเวณบ้านม่วง หมู่ที่ 7 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย พบว่า มีปัญหาตลิ่งพังที่มีความรุนแรง มีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน กรมเจ้าท่าได้ดำเนินโครงการดังกล่าวโดยใช้รูปแบบเขื่อนหินทิ้ง ความยาว 516 เมตร แล้วเสร็จ สามารถใช้งานได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ซึ่งนอกจากเป็นการแก้ไขปัญหาตลิ่งพังอย่างถาวรแล้วยังเป็นการป้องกันบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ริมน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายอีกด้วย”

สำหรับโครงการงานขุดลอกคลองลำแชะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอครบุรี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากในฤดูแล้งลำน้ำตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำผลิตน้ำประปาได้ รวมทั้งไม่สามารถใช้ระบายน้ำได้ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ดังนั้น จึงให้กรมเจ้าท่าขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2568 เพื่อดำเนินการออกแบบและสำรวจการขุดลอกคลองลำแชะ ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2567 – เดือนมกราคม 2568 รวมทั้งให้กรมเจ้าท่าพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณจ้างเหมาขุดลอกในปีงบประมาณ 2569 ด้วย

กระทรวงคมนาคมมีโครงการขุดลอกต่างตอบแทน ตามนโยบายในการขุดลอกร่องน้ำที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหรือลดงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งจะทำให้สามารถกระจายงบประมาณไปช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น สำหรับประชาชนที่มีความประสงค์ขุดลอกร่องน้ำที่ตื้นเขินเพื่อสาธารณะประโยชน์สามารถประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อทำหนังสือมายังกรมเจ้าท่า โดยผู้ขุดลอกจะได้รับวัสดุที่ได้จากการขุดลอกเป็นค่าตอบแทน ซึ่งโครงการนี้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก รวมทั้งเป็นการลดงบประมาณภาครัฐได้อีกด้วย

ดร.มนพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงฯ มีแผนการดำเนินงานและแนวทางป้องกันเพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมุ่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำอย่างถาวร และการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

You may also like

ชูเมืองเก่าภูเก็ต-แม่กลองเป็นเมืองนำร่อง สู่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก

ชูเมืองเ