ดันไทยขึ้น 1 ใน 4 ฐานผลิตแบตฯรถไฟฟ้าเอเซีย

ดันไทยขึ้น 1 ใน 4 ฐานผลิตแบตฯรถไฟฟ้าเอเซีย

ดันไทยขึ้น 1 ใน 4 ฐานผลิตแบตฯรถไฟฟ้าเอเซีย

                ปี 2562 นี้เป็นปีที่ตลาดรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้าในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไปอีกระดับ หลังค่ายรถรายใหญ่เกือบทุกรายที่มีการผลิตรถยนต์ในประเทศได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้าจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นที่เรียบร้อยก่อนครบกำหนดไปเมื่อสิ้นปี 2561 และในปีนี้เราก็จะได้เห็นถึงทิศทางการลงทุนขนานใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหนึ่งในการลงทุนที่สำคัญและจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือ กิจกรรมการผลิตแบตเตอรี่ โดยเฉพาะเพื่อรองรับต่อความต้องการใช้ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตขึ้นในไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยไว้ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตผลักดันความต้องการผลิตแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้น

                ในระยะเริ่มต้นของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของไทยนั้น จากแนวโน้มการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของค่ายรถยนต์จะเห็นได้ว่า ทิศทางการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมุ่งเน้นไปยัง 2 กลุ่ม ได้แก่ รถยนต์ไฮบริด (hybrid electric vehicle : HEV) และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (plug-in hybrid electric vehicle : PHEV) โดยบางส่วนได้เริ่มมีการลงทุนประกอบรถยนต์ไปบ้างแล้วตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (battery electric vehicle : BEV) ในไทย ค่ายรถต่างมองว่าอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกซักพัก เมื่อโครงข่ายสถานีชาร์จไฟฟ้ามีความพร้อมมากขึ้น แต่ก็น่าจะไม่นานเกินไปกว่าปี 2564 ตามเงื่อนไขบีโอไอที่กำหนดให้ต้องมีการผลิตรถยนต์ขึ้นจริงในประเทศภายใน 3 ปี หลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน

                ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะเริ่มต้นรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจะเป็นประเภทรถยนต์ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ไฮบริดที่น่าจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนยอดขายอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2562 นี้ จากความพร้อมของเทคโนโลยีที่มีมานาน รวมถึงการที่ภาครัฐและเอกชนกำลังทำงานร่วมกันในความพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนและการขยายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ผ่านโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ “อีโค-ไฮบริด ” และ “ไมลด์ไฮบริด ” เป็นต้น ซึ่งหากรถยนต์อีโคคาร์ที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจนทำให้สามารถตั้งราคาในระดับที่แข่งขันได้น่าจะส่งผลให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และสร้างการรับรู้ต่อเทคโนโลยีใหม่นี้ในวงกว้าง รวมถึงจากข้อกำหนดที่จะให้มีการต่อยอดพัฒนาไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ด้วยในภายใน 3 ปีนั้น จะช่วยผลักดันให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มีโอกาสขยายตัวเร็วขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาแบตเตอรี่ของค่ายรถยนต์ต่างๆที่ทำงานร่วมกันกับบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่รายสำคัญๆของโลก เพื่อผลักดันให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นออกมาสู่ตลาดในอนาคตอันใกล้

                ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ภาพตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเห็นในระยะ 5 ปีนับจากนี้ของไทย หรือในปี 2566 นั้น รถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์รวมต่อปีทั้งประเทศ หรือคิดเป็นประมาณ 240,000 คันต่อปี ส่งผลให้จนถึงปี 2561 คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้ารวมกันในประเทศมากกว่า 820,000 คัน

อนึ่ง เนื่องจากค่ายรถที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการระบุถึงการลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ดังนั้นจากทิศทางการเติบโตของปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศดังคาดการณ์ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2566 หรือปีที่ 5 นับจากปี 2562 นี้ ซึ่งน่าจะเป็นปีที่กำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของหลายค่ายเริ่มเข้าใกล้สู่อัตราการผลิตอย่างเต็มกำลังการผลิตแล้วนั้น ส่งผลให้จำนวนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องผลิต ออกมาเพื่อรองรับความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเฉพาะในประเทศ คาดว่าจะมีปริมาณอย่างน้อยถึง 260,000 ลูก โดยแบ่งเป็นแบตเตอรี่สำหรับใช้ในสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (OEM) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศอย่างน้อย 240,000 ลูก และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นอะไหล่ (REM) สำหรับขายในประเทศอีกอย่างน้อย 20,000 ลูก ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่คาดว่าจะผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของไทยจะไม่ได้มีขึ้นเพียงเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายแต่ในประเทศ แต่จะมีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรองรับตลาดส่งออกด้วย

ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดส่งออก

                สำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ความจำเป็นในการผลิตนั้นไม่ได้มีเพียงความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาด OEM และ REM เพื่อรองรับรถยนต์ที่ใช้ในประเทศเท่านั้น ทว่าความต้องการใช้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังรวมถึงแบตเตอรี่สำหรับตลาดส่งออก ซึ่งรวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า OEM สำหรับประกอบในรถยนต์ไฟฟ้าที่ไทยผลิตเพื่อส่งออก แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าชนิด OEM ที่ส่งออกโดยตรงไปยังตลาดต่างประเทศที่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ REM สำหรับส่งออกไปยังประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับตลาดส่งออกในปี 2566 คาดว่าจะมีปริมาณไม่น้อยกว่า 170,000 ลูก ซึ่งนับเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ารวมของไทยในปี 2566

                เมื่อพิจารณาถึงตลาดส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ไทยมีโอกาสในการส่งออกไปในอนาคตนั้น ในระยะเริ่มแรก ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไทยมีโอกาสส่งออกมากที่สุด เนื่องจากเป็นตลาดที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังขยายตัว ประกอบกับค่ายรถญี่ปุ่นบางค่ายได้วางตำแหน่งไทยให้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าบางส่วนกลับประเทศญี่ปุ่น ส่วนตลาดที่มีโอกาสส่งออกรองลงมา คือ ตลาดโอเชียเนีย และอาเซียนบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งต่างมีประชากรที่มีระดับรายได้สูง และมีการรับรู้ต่อรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดมาอย่างต่อเนื่องนานพอสมควร รวมถึงมีการลงทุนด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้ ไทยยังอาจส่งออกไปยังจีนได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในจีนกำลังขยายตัวสูง และค่ายรถยนต์สัญชาติยุโรปบางค่ายได้ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่นในไทยเพื่อส่งออกไปตลาดจีน ซึ่งประเทศต่างๆที่กล่าวถึงมานี้ไทยมีการทำข้อตกลงทางการค้าเสรีอยู่ ทำให้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย  สำหรับสหภาพยุโรปเป็นอีกตลาดที่ไทยมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปได้ แต่อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงกว่าตลาดอื่น เนื่องจากปัจจุบันมีการเร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นในสหภาพยุโรป และไทยเองยังไม่มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

                ส่วนตลาดส่งออกไปโดยตรงในรูปแบบของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้านั้น ไทยน่าจะมีโอกาสได้ประโยชน์จากการที่ค่ายรถตัดสินใจวางไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแห่งใหม่ของโลก เพื่อรองรับความต้องการในตลาดอาเซียน และโอเชียเนีย ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพิ่มเติมจากที่ในอดีตการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถ จะกระจุกตัวอยู่เพียงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสขยายตัว ทิศทางดังกล่าวส่งผลให้ฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในอดีตมีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศในโลก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมถึงบางประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

                ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะแรกที่รถยนต์ไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายไปทุกพื้นที่ทั่วโลก ไทยน่าจะเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอะไหล่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในภูมิภาคอาเซียน และโอเชียเนีย เป็นหลักก่อน โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งคาดว่าจะเป็นประเภทรถยนต์ไฟฟ้าที่มีโอกาสเติบโตในภูมิภาคดังกล่าวในระยะเริ่มต้น

                ขณะเดียวกันไทยก็น่าจะมีโอกาสเป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นประเภท OEM เพื่อส่งออกกลับไปยังญี่ปุ่นด้วย เนื่องจากปัจจุบันกำลังการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของญี่ปุ่นเองก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก จึงต้องมีการขยายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มเติม ผนวกกับไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี JTEPA กับญี่ปุ่น ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างกันด้วย ส่วนแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในญี่ปุ่นเองก็ส่งออกไปยังภูมิภาคที่ญี่ปุ่นมีการทำข้อตกลงการค้าเสรี เช่น สหภาพยุโรป เป็นต้น อย่างไรก็ตามการส่งออกแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าประเภท OEM จากไทยไปยังภูมิภาคอื่นยังอาจจำกัดอยู่ เนื่องจากตลาดรถยนต์ไฟฟ้ายังมีปริมาณไม่มาก และกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่จำกัด ซึ่งในแต่ละพื้นที่นั้นบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่างมีแผนที่จะขยายการลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการในตลาดเหล่านั้นในอนาคตอันใกล้นี้อยู่แล้ว

                โดยสรุป แม้ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่จากทิศทางการให้ความสำคัญกับประเทศไทยโดยค่ายรถหลายค่ายต่างมีแผนเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทำให้โอกาสในระยะยาวสำหรับธุรกิจผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังเปิดอยู่มาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ณ ปี 2566 ไทยน่าจะมีการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 430,000 ลูก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 3 ของตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโลก ส่งผลให้ไทยกลายมาเป็นผู้นำฐานการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และโอเชียเนีย รวมถึงเป็นฐานการผลิตใหญ่อันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชียได้ในอนาคต นอกจากนี้ การลงทุนในชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในระยะข้างหน้าของไทยอาจจะขยายรวมไปถึงการลงทุนในชิ้นส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องตามมา

                ทั้งนี้ เมื่อหลายฝ่ายต่างเชื่อว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตมีโอกาสขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการจัดการกับแบตเตอรี่ใช้แล้วซึ่งเป็นสินค้าอันตรายและก่อมลพิษสูงให้เหมาะสม โดยปัจจุบันภาครัฐได้ผลักดันให้จัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว” เพื่อให้ผู้ผลิตและนำเข้าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนรับผิดชอบต่อการจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมากขึ้น และปัจจุบันมีค่ายรถบางค่ายที่มีแผนอย่างชัดเจนโดยจัดตั้งโรงงานจัดการกับแบตเตอรี่ใช้แล้วเพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า รวมถึงกำจัดส่วนที่เป็นของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ดีของภาคเอกชน และควรมีการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์ที่ไม่เพียงแต่ช่วยลดมลพิษทางอากาศเท่านั้น แต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรวมด้วย

You may also like

ชูเมืองเก่าภูเก็ต-แม่กลองเป็นเมืองนำร่อง สู่ต้นแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยวัฒนธรรมระดับโลก

ชูเมืองเ