ดิจิทัลแพลตฟอร์มตอบโจทย์งานไมซ์ ทีเส็บปั้นแอปฯใหม่หวังฉุดตลาดบูม

ดิจิทัลแพลตฟอร์มตอบโจทย์งานไมซ์ ทีเส็บปั้นแอปฯใหม่หวังฉุดตลาดบูม

ดิจิทัลแพลตฟอร์มตอบโจทย์งานไมซ์

ทีเส็บปั้นแอปฯใหม่หวังฉุดตลาดบูม

            ทีเส็บเผยผลสำเร็จการทำตลาดไมซ์ออนไลน์ผ่านเครื่องมือดิจิทัล ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายผู้จัดงานและนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากทั่วโลก เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย สร้างความแตกต่างและดึงดูดนักเดินทางต่อเนื่อง ปั้น            แอปพลิเคชัน Smart BIZ Event และ Smart BIZ Organizer ดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่เอื้อผู้จัดงาน พร้อมอำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศไทย

                นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อันสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติ พ.ศ. 2560-2564 คือ การผลักดันความต้องการจัดงานในอุตสาหกรรมไมซ์ และเพิ่มจำนวนงานด้านไมซ์ในประเทศไทยด้วยนวัตกรรมที่สามารถสร้างความแตกต่างและดึงดูดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ ตลอดจนการมีองค์ความรู้และข้อมูลสถิติที่ช่วยในการวางแผนอุตสาหกรรมไมซ์

                “กลยุทธ์ของทีเส็บ เน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายผู้จัดงานไมซ์และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในยุคดิจิตอล และก้าวทันเทรนด์การตลาด โดยใช้เครื่องมือดิจิทัล (Digital Tools) เป็นส่วนสำคัญในการทำตลาดออนไลน์ โดยภาพรวมการทำตลาดออนไลน์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย ทั้งจากการพัฒนาเว็บไซต์ของ    ทีเส็บ www.businesseventsthailand.com การจัดทำสื่อการตลาดและการขายแบบดิจิทัล และกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์

                สำหรับการพัฒนาเว็บไซต์ของทีเส็บ www.businesseventsthailand.com จะเน้นรูปแบบคอนเท้นท์ มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) ให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมเพื่อตอบโจทย์และให้บริการผู้ใช้ครบถ้วนตามความต้องการ มีบริการถึง 8 ภาษา มีจำนวนการเข้าชม (Pageviews) ทั้งสิ้น 2,701,958 ครั้ง แบ่งเป็นจากต่างประเทศ 1,000,449 ครั้ง จากในประเทศ 1,701,509 ครั้ง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์และแทปเลต จึงมีการต่อยอดเว็บไซต์มาเป็นแอปพลิเคชัน Biz Thailand เพื่อให้เข้าถึงง่าย โดยเป็นแอปพลิเคชัน 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) ที่รวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศ สถานที่จัดประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ไว้อย่างครบครัน อีกทั้งยังมีการอัพเดทแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับโปรโมชั่นและกิจกรรมพิเศษแบบ Real time โดยอ้างอิงกับตำแหน่งปัจจุบันของผู้ใช้ (Location-based service) นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกในการแชร์ข้อมูลอีกด้วย แอปพลิเคชันนี้เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทีเส็บและบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจในงานประชุม งานแสดงสินค้า และงานอีเว้นท์ที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยถูกดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วประมาณ 6,000 ครั้ง

                การจัดทำสื่อการตลาดและการขายแบบดิจิทัล ในปีนี้ทีเส็บผลิตสื่อในรูปแบบ Virtual Reality 360 องศา เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่จัดประชุมและแสดงสินค้าของประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการไมซ์ได้เข้าไปที่ Website:  www.businesseventsthailand.com/360virtualtour/ ตลอดจนสื่อการขายก็มีรูปแบบของภาพถ่ายแบบ Virtual Reality 360 องศาด้วยเช่นกัน ซึ่งให้บริการพร้อมแว่น 3 มิติ ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มเป้าหมาย สามารถสร้างการรับรู้ได้ถึงกว่า 1.6 ล้านวิว ภายในเวลา 2 เดือน คือ สิงหาคม-กันยายน 2560  ส่วน แผนงานกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ ผ่านแคมเปญ Spice Up Thailand 2017 ซึ่งทีเส็บร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้วนั้น มีการนำเสนอสิทธิพิเศษของสินค้าและบริการที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่เดินทางมาประชุมหรือมาร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้จัดงานไมซ์ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรโครงการ จำนวนประมาณ 70 งาน จาก 20 บริษัทผู้จัดงาน มีจำนวนการแลกรับคูปอง (Redeem Coupon) ประมาณ 70,000 ครั้ง สามารถสร้างการรับรู้ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ กว่า 14 ล้านวิว  โดยสินค้าและบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด 5 อันดับของการแลกรับได้แก่ ช้อปปิ้ง ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก แหล่งท่องเที่ยว และสปา นักเดินทางกลุ่มไมซ์ที่มียอดการแลกรับคูปองเพื่อใช้สิทธิพิเศษของสินค้าและบริการต่างๆ ของแคมเปญสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เกาหลี และไทย”

                ด้าน นางสริตา จินตกานนท์ ผู้ชำนาญการ ทีเส็บ กล่าวว่า เพื่อเป็นการยกระดับการจัดงานไมซ์แบบดิจิตอลในประเทศไทย และสนับสนุนด้านดิจิตอลแพลทฟอร์มให้แก่อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ทีเส็บจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ล่าสุด สมาร์ท บิซ อีเว้นท์ (Smart Biz Event)  และ สมาร์ท บิซ ออร์แกไนเซอร์ (Smart BIZ Organizer) ที่จะสร้างมิติใหม่สำหรับการจัดงานและการเข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศไทย ที่รวบรวมข้อมูลของงานไมซ์ตั้งแต่การลงทะเบียน เอกสาร ไปจนถึงการรายงานสถิติแบบเรียลไทม์ (real time) โดยสามารถรองรับได้ทั้งภาษาไทย และอังกฤษ

                “Smart BIZ Event จะเป็นแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้เข้าร่วมงานไมซ์  (Visitor) โดยจะมีระบบตรวจสอบ (verify) สถานะการลงทะเบียนร่วมงานและเช็คอินเข้างาน การติดตามอัพเดทข้อมูลอีเว้นท์ทั้งหมดตั้งแต่ปฏิทินอีเว้นท์ กำหนดการ วิทยากร แผนผังของงาน ระบบรับเอกสารของงานอีเว้นท์อัตโนมัติออนไลน์ถึงผู้เข้าร่วมงานผ่านการสแกนคิวอาร์โค้ด มีระบบสำรวจและเก็บความคิดเห็นหลังการมาร่วมงาน เป็นต้น ส่วน Smart BIZ Organizer สำหรับผู้จัดงาน มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ระบบพร้อมใช้งานที่ง่ายต่อการเตรียมการและเริ่มใช้ระบบลงทะเบียนเข้าร่วมงาน การจัดเตรียมอัพเดทข้อมูลของงานอีเว้นท์แบบครบถ้วน สามารถรองรับและตรวจสอบการเข้างานของผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มปฏิสัมพันธ์ภายในงานให้กับผู้เข้าร่วมงาน รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้มาร่วมงาน ทั้งยังสามารถรายงานและสถิติแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้จัดงานรับรู้และประเมินผลการจัดงานเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว สามารถพัฒนารูปแบบอีเว้นท์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที โดยอีเว้นท์ออร์แกไนเซอร์สามารถสมัครแอปพลิเคชั่นนี้ได้ที่ http://contact.smartbizevent.com/ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

                “การพัฒนาเครื่องมือทางดิจิทัลต่างๆ ของทีเส็บนั้น จะช่วยยกระดับการจัดงานอุตสาหกรรมไมซ์ ทั้งการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมนานาชาติ และการจัดแสดงสินค้านานาชาติ ของประเทศไทยให้ทันสมัย มีความเป็นสากล สอดคล้องกับเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการจัดงานไมซ์แห่งภูมิภาคได้มากขึ้น สำหรับแอปพลิเคชันล่าสุดนี้ตั้งเป้าว่าจะมีการใช้ถึง 10,000 ครั้งภายในปี 2561” นายจิรุตถ์ กล่าวโดยสรุป

 

You may also like

กรุงศรีคาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 33.75-34.35 จับตาเงินเฟ้อสหรัฐฯ

กรุงศรีค