ดูไบ: เมืองแห่งความสุข
ผมไปดูไบและเพิ่งกลับเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2561 ที่ดูไบมีการตั้งกระทรวงแห่งความสุข พวกเขามีความสุขจริงหรือไม่ น่าคิดเหมือนกันครับ
ดูไบเป็นเพียงบ้านชาวประมงในสมัยก่อน แต่กลับกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจคล้ายสิงคโปร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ นี่แสดงให้เห็นว่าเงินซื้อได้เกือบทุกสิ่ง เงินบันดาลให้สามารถสร้างสรรค์อาคารมหัศจรรย์รูปร่างแบบใหม่ได้มากมายในดูไบ จากการค้นพบน้ำมันเมื่อหลายสิบปีก่อน ทำให้ดูไบร่ำรวยเป็นอย่างมาก และก่อนที่น้ำมันจะหมด ผู้บริหารก็มีวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาดูไบให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งหนึ่งของโลก และดูเหมือนจะประสบความสำเร็จไม่น้อย
ผู้บริหารแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเร็ตส์ (UAE) ยังมีวิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ สามารถสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกจนประสบความสำเร็จ ทั้งที่เป็นประเทศที่มีน้ำมันมหาศาลในราคาที่ถือได้ว่าถูกกว่าน้ำเปล่าเสียอีก ข้อนี้ควรเป็นหลักฐานชัดเจนสำหรับประเทศไทยว่าอย่าได้กลัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จน “ขี้ขึ้นสมอง” ขนาดประเทศอันร่ำรวยและมีน้ำมันมหาศาล ยังรู้จักใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ กรณีนี้เราควร “เอาเยี่ยงกา” ควรศึกษาและทำให้ได้เยี่ยงประเทศ UAE นี้
ดูไบพยายามสร้างสรรค์เมืองสีเขียวเป็นอย่างมาก เพื่อหวังให้เมืองสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่จะเป็นอย่างนั้นได้หรือไม่เพราะอาคารสมัยใหม่ที่สร้างกันอย่างมหาศาลนั้นก่อให้เกิดอุปทานมากมายจนล้นเกิน ดังนั้นนี่จึงเป็นความสิ้นเปลืองและขาดความพอดีเป็นอย่างยิ่ง อีกประการหนึ่งอาคารส่วนมากก็ไม่ได้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เพิ่งส่งเสริมกันในช่วงหลัง ดังนั้นจึงไม่อาจแน่ใจได้ว่าเมืองนี้จะมีความยั่งยืนได้จริงหรือไม่
อย่างเช่นสิงคโปร์ เขาอาศัยน้ำจากมาเลเซียผ่านทางท่อ ดังนั้นหาก ‘วันดีคืนร้าย’ มาเลเซียปิดก๊อกน้ำ สิงคโปร์คงลำบากแสนสาหัส ดังนั้นสิงคโปร์จึงพยายามกักเก็บน้ำไว้ใช้เอง ใต้สนามบินชางกี ก็เป็นแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีการรีไซเคิลน้ำมาใช้ใหม่ ส่วนอิสราเอลก็สามารถสร้างเมืองสีเขียวในทะเลทรายได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีการกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดมาใช้อีกด้วย แต่สำหรับดูไบ ก็ไม่แน่ใจว่าหากขาดน้ำและ/หรือไฟสักสามวันจะเกิดจลาจลขึ้นหรือไม่
ความกล้าอันยิ่งใหญ่ของดูไบยังมีปรากฏให้เห็นในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยริมทะเล เช่น โครงการเดอะปาล์ม โครงการปาล์มจีเบลอาลี โครงการเดอะเวิลด์ เกาะดาเรีย เป็นต้น ถ้าเป็นในกรณีประเทศไทยคงถูกพวกเอ็นจีโอโวยวายกันใหญ่แล้ว แต่นี่เขาเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศชาติ จึงไม่ยี่หระต่อพวกหวังร้ายต่อชาติเหล่านั้น อย่างไรก็ตามอุปทานที่อยู่อาศัยเหล่านี้แทบหาคนอยู่ได้ยากมาก อุปทานมากมายแต่อุปสงค์แทบไม่มี ใครไปอยู่ในโครงการเดอะเวิลด์ แน่นอนว่าต้องสร้างบ้านเองแต่น้ำทุกหยด ไฟทุกหน่วย คนอยู่ต้องจัดหามาเอง ต้องปลูกต้นไม้ทุกต้นเอง เท่ากับเอาเงินมาเผากันชัดๆ แล้วอย่างนี้จะมีความยั่งยืนได้อย่างไร
ในดูไบมีประชากรชาว UAE อยู่กันเพียง 5% ที่เหลือเป็นคนงานจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น ผู้คนมากมายมาขายแรงงานกันที่นี่เพื่อแลกเงินส่งกลับไปยังประเทศของตนเองที่ครอบครัวของพวกเขายากจนกว่าชาวดูไบโดยต่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าเป็นนักวิชาชีพ พวกเขาคงอยู่สบายกันตามควร แต่พวกมาขายแรงงานไร้ฝีมือระดับล่าง เช่น คนงานก่อสร้าง คนงานตามถนน หรือคนงานอื่นๆ พวกนี้มีความเป็นอยู่แสนอัตคัด ห้องที่พักของพวกเขาย่อมต้องมีเครื่องปรับอากาศหาไม่คงเสียชีวิต. แต่พวกเขาอยู่กันราวสี่ห้าคน เรียกได้ว่าแออัดยัดทะนานก็ว่าได้
การที่คนงานระดับล่างอยู่กันอย่างต่ำกว่ามาตรฐานการอยู่อาศัยที่ควรจะเป็น ก็เป็นหลักฐานชี้ว่า ความสุขของนครดูไบแห่งนี้คงจำกัดเฉพาะคนท้องถิ่นหรือลูกจ้างนักวิชาชีพที่พอมีฐานะ ทั้งนี้ยกเว้นคนงานระดับล่าง ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ดูไบควรปรับปรุงให้ดีกว่านี้ เพื่อแสดงความห่วงใยต่อผู้ด้อยกว่าในสังคม และเพื่อภาพพจน์ที่ดีกว่าโดยไม่ถูกครหา
อันที่จริงคนงานระดับล่างได้รับค่าจ้างที่ไม่สูงนัก สมมติว่าบ้านหลังหนึ่งราคา 3 ล้านบาทก็เป็นค่าตัวบ้าน 1 ล้านบาท และเป็นค่าที่ดิน 2 ล้านบาท ใน 1 ล้านบาทของค่าก่อสร้างเป็นค่าแรงเพียง 30% ถ้าเป็นของคนงานก่อสร้างก็คงเหลือเพียงไม่เกิน 20% หรือ 200,000 บาทต่อราคาบ้าน 3 ล้านบาท หรือแค่ 7% ของมูลค่าเท่านั้น ถ้าเราจ่ายค่าที่พักให้พวกเขาเพิ่มสัก 2% ของมูลค่าก็ไม่ทำให้ราคาบ้านโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะแต่อย่างไร
ในกิจการใดๆ ก็ตาม หากเราดูแลคนงานให้ดี พวกเขาก็จะตอบแทนด้วยงานที่มีคุณภาพ ต้นทุนในการหาคนใหม่ก็จะน้อยลง ความสูญเสียก็จะลดลง การดูแลคนงานจึงเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสุดคุ้มค่า นอกจากนี้ยังให้ภาพพจน์ที่ดีต่อนายจ้างได้เป็นอย่างดีอีกเช่นกัน การดูแลคนงานเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ได้คุ้มเสียอย่างแน่นอน
ความสุขสร้างได้โดยเริ่มจากการแบ่งปันสู่คนระดับล่างก่อน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
Social Links