ทีมหุ่นยนต์ มจพ. คว้ารางวัลรองแชมป์โลก
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดเผยว่า ทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Sechzig (ไอราฟ เซคซิก) คว้ารองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ประจำปี พ.ศ. 2562 (World RoboCup Rescue 2019) ระหว่างวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2562 ณ เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่ผ่านมา ผลการแข่งขันปรากฏว่า ทีมนักศึกษาหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Sechzig ของ มจพ. สร้างชื่อบนเวทีโลกในนามตัวแทนของประเทศไทยอีกครั้งคว้า 2 รางวัลยิ่งใหญ่ เป็นการคว้ารองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยฝีมือจริงๆ
1. รางวัลรองแชมป์โลกอันดับ 1
2. รางวัลชนะเลิศ (Best in Class Mobility) นวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม
จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก ซึ่งมีทั้งความเร็ว ความแรง และความแข็งแกร่ง สามารถฟันฝ่าอุปสรรค ได้อย่างรวดเร็ว โดยชนะทีมหุ่นยนต์กู้ภัยจากประเทศซึ่งมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูงที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น
14 ทีม จาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ อเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น แคนาดา จีน อิหร่าน เม็กซิโก และไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวในโลกที่เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมากที่สุดอีกด้วย
ผลงานหุ่นยนต์ iRAP Sechzig นับเป็นการสร้างชื่อเสียงในระดับโลกให้ประเทศไทยและ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในแต่ละรอบรวมถึงการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเป็นไปอย่างเข้มข้น สร้างความกดดันให้กับทุกทีม จากเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก “World RoboCup Rescue 2019” นับได้ว่ามีความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในด้านของทีมเวิร์คของน้องๆ นักศึกษาที่สามารถแก้สถานการณ์แบบถึงลูกถึงคน ผู้บังคับหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Sechzig มีทักษะที่เยี่ยม สามารถประเมินสถานการณ์ได้ดี และแม่นยำมาก สามารถกวาดและทำสถิติคะแนนได้สูง บรรยากาศที่ขอบสนามนั้นมันส์สะท้านโลกจริง ๆ ในแต่ละรอบการแข่งขันทีมหุ่นยนต์ iRAP Sechzig ใช้เทคนิค และบริหารเวลาในแต่ละรอบเพื่อสะสมคะแนน และการแข่งขันในรอบนี้ด้วยนวัตกรรมสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม ออกแบบมาดี เหมาะแก่การใช้งานบนสนามแข่งขันระดับโลก และไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้บังคับหุ่นยนต์เอง ทั้งนี้หุ่นยนต์ iRAP Sechzig มีนักศึกษา จำนวน 13 คน และอาจารย์ผู้ควบคุมทีม ได้แก่ 1. ผศ. สมชาย เวชกรรม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ 2. ผศ.ดร. อมรพันธุ์ พันธุ์โอภาส ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีหุ่นยนต์ 3. ผศ. ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษา 4. อาจารย์นพดล พัดชื่น อาจารย์ที่ปรึกษา และ5. นายอรัญ แบล็ทเลอร์ ที่ปรึกษาทีม
การที่เยาวชนไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ เป็นโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นบรรยากาศการแข่งขันหุ่นยนต์บนเวทีโลกในแต่ละปีที่นับว่าเข้มข้นมากขึ้น ทีมหุ่นยนต์จากประเทศต่างๆ ก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้น มีการใช้กลยุทธ์และการนำเอาเทคนิคต่างๆ มาปรับใช้ในการแข่งขัน ซึ่งทีมหุ่นยนต์สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี และสามารถนำไปต่อยอดเรียนรู้ทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการพัฒนานวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติ อันควรได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
Social Links