นับถอยหลังเวที AMER#7 ในไทย 1-3 พ.ย.นี้
สถานการณ์การบริโภคน้ำมัน แหล่งพลังงานหลักของโลกในช่วงเกือบร้อยปีมานี้ อาจถึงคราวต้องแปรเปลี่ยนไป หลังจากกลุ่มประเทศผู้บริโภคน้ำมันทั่วโลก เริ่มคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการสร้างพลังงานสะอาดขึ้นมา เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน
ก่อนหน้านี้ ราคาน้ำมันเริ่มจะขาดความมีเสถียรภาพลงไป เพราะประเทศนอกกลุ่มโอเปก เช่น รัสเซีย รวมถึงประเทศในแถบอเมริกากลางและใต้ ต่างหันมาผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลก ขณะที่กลุ่มประเทศโอเปก ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันตามโควตาของตัวเอง
เมื่อสหรัฐอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีล่าสุดในการผลิตน้ำมันจากหินดินดาน ยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเข้าไปอีก
จึงทำให้ระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างน่าใจหาย จากที่เคยแตะเพดานระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เมื่อหลายปีก่อน ก็ไหลลงมาเหลืออยู่ราวๆ 53-53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน
เป็นผลให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ต้องหันหน้ามาเจรจาเพื่อควบคุมและลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง กระทั่ง ราคาน้ำมันเริ่มจะมีเสถียรภาพมากขึ้นบ้างแล้ว
ทว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมา ย่อมกระทบต่อความมั่นคงของน้ำมันและประเทศผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจีน ทุ่มงบประมาณหลายล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาและผลิตแผงโซล่าร์เซลล์ รองรับการผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ใช้ภายในครัวเรือนและในอุตสาหกรรม
รวมถึงรองรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในอนาคตอันใกล้ อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลทั่วโลก ที่วางแผนจะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์และบริโภคน้ำมัน ภายในไม่เกิน 10 ปีนับจากนี้
ถึงตรงนี้ ทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และประเทศผู้บริโภคน้ำมัน ต่างก็ลดความสำคัญของน้ำมัน เพื่อหันมาใช้น้ำมันของพลังงานทดแทนที่สะอาดและบริสุทธิ์อื่นๆ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ
เชื่อว่า อนาคตอันใกล้ โลกคงเหลือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เฉพาะแค่รถบรรทุกสินค้าขนาดต่างๆ และรถยนต์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เท่านั้น
ล่าสุด ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่โหมดของการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรีพลังงานเอเชีย ครั้งที่ 7 (The 7th ASIAN Ministerial Energy Roundtable : AMER) โดยกรุงเทพฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2560
สำหรับ AMER ถือเป็นเวทีการประชุมที่ว่าด้วยพลังงานชนิดต่างๆ โดยเป็นการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และนำเข้าน้ำมันในทวีปเอเชีย และ 5 องค์กรหลักด้านพลังงานของโลก ได้แก่ OPEC, IEA, IEF, OFID และ OAPEC
น่าสนใจว่า การประชุม AMER7 ที่กรุงเทพฯ หนนี้ ทิศทางของพลังงาน และแนวโน้มของการใช้พลังงานของกลุ่มประเทศผู้บริโภคน้ำมัน จะก้าวไปสู่จุดใด? ประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลก ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก จะมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนอย่างไร?
อนาคตเราได้จะเห็นกลุ่มประเทศโอเปก หันมาทุ่มทุนเพื่อการพัฒนาและผลิตพลังงานสะอาด ทดแทนความต้องการใช้น้ำมันของโลก ที่ค่อยๆ ลดระดับความสำคัญลงไป
Social Links