บาทอ่อนค่า-หุ้นอ่อนแรง ยาวจากสัปดาห์ก่อน ติดตามการลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย-บันทึกประชุมเฟด

บาทอ่อนค่า-หุ้นอ่อนแรง ยาวจากสัปดาห์ก่อน ติดตามการลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย-บันทึกประชุมเฟด

บาทอ่อนค่า-หุ้นอ่อนแรง ยาวจากสัปดาห์ก่อน

ติดตามการลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทย-บันทึกประชุมเฟด

……………………………………..

  • เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง หลังจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทยชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขยับแข็งค่า โดยมีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ซึ่งหนุนแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด
  • SET Index ร่วงลงจากสัปดาห์ก่อน จากความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับตัวเลขจีดีพีไทยโตต่ำกว่าคาด

………………………………………

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาททยอยอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบในช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะพลิกอ่อนค่าลงในช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง หลังตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนม.ค. เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่แม้จะมีทิศทางชะลอลงแต่ก็เป็นไปอย่างช้าๆ นอกจากนี้การอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ด้วยเช่นกัน

เงินบาทเผชิญแรงเทขายต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ หลังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของไทยที่ขยายตัวเพียง 1.4% YoY ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 3.6% สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่มีปัจจัยบวกจากข้อมูลเศรษฐกิจ อาทิ การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้ผลิตและการปรับลงของจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ที่หนุนโอกาสการคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องของเฟด

ในวันศุกร์ที่ 17 ก.พ. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ) เทียบกับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 ก.พ.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ. นั้น แม้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,624 ล้านบาท แต่มีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทยต่อเนื่องอีก 15,405 ล้านบาท (ขายสุทธิ 10,980 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 4,425 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์นี้(20-24 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.15-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดการเงินไทยและทิศทางสกุลเงินเอเชีย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในมุมมองของผู้บริโภคในเดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 (preliminary) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ รวมถึงบันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR ของจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต/บริการเบื้องต้นสำหรับเดือนก.พ. ของยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ก่อนจะร่วงลงแรงในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ ชะลอตัวน้อยกว่าตลาดคาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงสั้นๆระหว่างสัปดาห์ จากแรงซื้อหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่ง จากประเด็นเรื่องการแตกพาร์และผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งมีผลช่วยหนุนให้กลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นสวนทางกับหุ้นกลุ่มอื่นที่ปรับตัวลงถ้วนหน้าในสัปดาห์นี้ อนึ่ง หุ้นไทยย่อตัวลงอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ หลังตัวเลขจีดีพีไทยปี 2565 โตต่ำกว่าคาด

ในวันศุกร์ (17 ก.พ.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,651.67 จุด ลดลง 0.77% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70,974.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.11% มาปิดที่ระดับ 569.48 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(20-24 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,640 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,675 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด (31 ม.ค.-1 ก.พ.) รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ดัชนี PCE/Core PCE Price Index รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนม.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR เดือนก.พ. ของจีน ดัชนี PMI (เบื้องต้น) เดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน และอังกฤษ รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของยูโรโซน

You may also like

เปิดตัวดัชนีชี้วัดความปลอดภัยของเด็ก บนโลกออนไลน์ทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เปิดตัวด