บาทแข็ง-หุ้นขึ้น จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ ทิศทางลงทุนต่างชาติ

บาทแข็ง-หุ้นขึ้น จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ ทิศทางลงทุนต่างชาติ

บาทแข็งหุ้นขึ้น

จับตาตัวเลขเงินเฟ้อ ทิศทางลงทุนต่างชาติ

…………………………………

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง หลังสัญญาณจากเฟดไม่แข็งกร้าว ซึ่งทำให้ตลาดปรับลดโอกาสความเป็นไปได้ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในระยะข้างหน้าลงมา
  • SET Index ปรับตัวขึ้นตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความหวังว่าเฟดอาจยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

…………………………………

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่ง เงินบาทปรับตัวผันผวนในช่วงก่อนการประชุมเฟด โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลกที่ไม่สามารถประคองตัวเหนือระดับ 2,000 ดอลลาร์ฯ ต่อออนซ์ได้ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับมาบางส่วนตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าหลังการประชุมเฟด ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 5.25-5.50% และมีท่าทีในเชิงคุมเข้มน้อยกว่าที่ตลาดกังวล ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่า โอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟดในระยะข้างหน้า น่าจะลดน้อยลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดด้วยเช่นกัน

ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ (หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ) เทียบกับ 36.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (27 ต.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-3 พ.ย. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 3,171 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 469 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 464 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 5 ล้านบาท)

สัปดาห์นี้(6-10 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.40-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนต.ค. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนก.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต ด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนในช่วงก่อนผลการประชุมเฟด ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอลยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังเฟดมีมติคงดอกเบี้ยตามตลาดคาด พร้อมส่งสัญญาณซึ่งตลาดตีความว่า เฟดอาจยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่ม นำโดย ไฟแนนซ์และเทคโนโลยีซึ่งมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด

ในวันศุกร์ที่ 3 พ.ย. ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,419.76 จุด เพิ่มขึ้น 2.27% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 40,508.75 ล้านบาท ลดลง 10.39% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.82% มาปิดที่ระดับ 407.19 จุด

สำหรับสัปดาห์นี้(6-10 พ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,385 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขนำเข้าและตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 ของอังกฤษ ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต

You may also like

จี้รัฐ! ทำประชามติกาสิโนฯ ภูมิใจไทยชี้ ร่าง กม.มีปัญหา สส.พรรคประชาชน ย้ำ! คนคลองเตยไม่เอา

จี้รัฐ!