ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องโรงไฟฟ้าในภาคใต้

ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องโรงไฟฟ้าในภาคใต้

 

ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องโรงไฟฟ้าในภาคใต้

          ประเด็นเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้กลับมาเป็นประเด็นร้อนขึ้นอีกครั้ง หลังจากรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งและประกาศทบทวนแผนการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โดยต้องการให้กฟผ. ไปศึกษาอีกครั้งว่ายังมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในภาคใต้หรือไม่ ถ้าจำเป็นควรเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใด และควรสร้างขึ้นที่ไหน

            ความจริงเรื่องที่ท่านรัฐมนตรีสั่งให้ไปศึกษานั้นก็เป็นเรื่องที่กฟผ. ได้ทำการศึกษามาแล้ว และได้กำหนดลงไปว่าควรสร้าง เพราะภาคใต้มีสำรองไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ไม่เพียงพอ และควรสร้างเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเป็นการกระจายชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการลดความเสี่ยงของความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามแผน PDP 2015 ที่ต้องการสร้างสมดุลด้านพลังงานให้เกิดขึ้นในประเทศด้วย

            ส่วนสถานที่สร้างโรงไฟฟ้านั้น แม้ว่าทางกฟผ. จะเป็นผู้เลือก แต่ก็ได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนจนได้รับความเห็นชอบแล้วเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่คัดค้าน แต่ด้วยการสนับสนุนจากคนนอกพื้นที่และกลุ่มองค์กรเอกชนที่มีต่างประเทศหนุนหลัง ตลอดจนมีการทำกิจกรรมคัดค้านเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เสียงคัดค้านยึดพื้นที่ข่าวในสื่อมวลชนได้มากกว่าจนกลบเสียงสนับสนุนไปจนหมด และทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจเดินหน้าโครงการทั้งๆ ที่มีการดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยตลอด เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น

            ส่วนประเด็นที่นำมาโต้แย้งถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในภาคใต้นั้น ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมากก็คือ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศในขณะนี้มีสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดถึงเกือบ 40% ในขณะที่ภาคใต้ก็มีกำลังการผลิตสูงถึง 3,089 MW ในขณะที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเพียง 2,713 MW แล้วจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไปทำไม

          เรื่องนี้คงต้องชี้แจงให้เข้าใจกันว่า โปรดอย่าได้สับสนระหว่างคำว่า “กำลังการผลิตติดตั้ง” และ “กำลังการผลิตพร้อมจ่าย”

            “กำลังการผลิตติดตั้ง” คือกำลังการผลิตรวม แต่อาจไม่สามารถผลิตได้เต็มตามกำลังการผลิตตลอดเวลา เช่น ออกแบบให้ผลิตได้ 800 MW แต่ผลิตจริงได้เพียง 700 MW เพราะติดปัญหาทางเทคนิคเป็นต้น ส่วน “กำลังการผลิตพร้อมจ่าย” นั้น หมายถึงกำลังการผลิตจริงที่พร้อมจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าเราจะคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองว่ามีอยู่เท่าไร ต้องคิดจาก “กำลังการผลิตพร้อมจ่าย” ไม่ใช่คิดจาก “กำลังการผลิตติดตั้ง” ครับ

            นอกจากนั้น ยังมีคำว่า “กำลังการผลิตที่พึ่งพาได้” ซึ่งหมายถึงกำลังการผลิตที่สามารถผลิตได้ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤติ ในกรณีนี้ ลองคิดดูก็ได้ว่าถ้าเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 40% จริง แต่เป็นโรงไฟฟ้าที่ต้องใช้ก๊าซทั้งหมด ถ้าเกิดเหตุการณ์วิกฤติ เช่น ท่อก๊าซรั่ว/แท่นผลิตมีปัญหา หรือเกิดสงคราม/ภัยพิบัติที่ทำให้การขนส่งก๊าซทำไม่ได้ กำลังการผลิตสำรองที่ว่ามีสูงถึง 40% ก็ไม่มีความหมาย ถึงตอนนั้นก็คงต้องเลือกระหว่างจะดับไฟหรือใช้น้ำมันปั่นไฟ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงมาก

          แล้วจะมี NGO คนไหนออกมารับผิดชอบบ้างไหมครับ !!!  

 

มนูญ ศิริวรรณ

 

จากบทความในคอลัมน์ “พลังงานรอบทิศ” นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 11 ม.ค. 2561

 

You may also like

รายงาน Ericsson ฟันธง 5G ขาขึ้น คาดในปี 2572 ยอดผู้ใช้ 5G พุ่ง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนียทะยานแตะ 550 ล้านราย

รายงาน E