ประเทศไทยมีชนิดของน้ำมันเติมรถมากที่สุดในโลก!
มนูญ ศิริวรรณ
ปัญหาหนึ่งในการบริหารจัดการด้านนโยบายน้ำมันเชื้อเพลิงในบ้านเราคือ เรามีชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงมากจนเกินไป มากจนผู้ประกอบการไม่รู้จะตอบสนองอย่างไรจึงจะครบถ้วน และผู้บริโภคเองก็สับสนไม่รู้ว่าจะใช้เชื้อเพลิงชนิดใด จึงจะเหมาะกับรถยนต์ของตน จึงทำให้มีการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่ตรงกับเครื่องยนต์ที่ออกแบบมา ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
นอกจากนั้น การมีชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์มากมายจนเกินไป ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการมีความยุ่งยากในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และเครื่องมือ ในการวางแผนการผลิต จัดเก็บ ขนส่ง และจำหน่าย ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่สูงขึ้น และสะท้อนไปในราคาน้ำมันที่จำหน่ายให้แก่ประชาชน
ในกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ปัจจุบันเรามีน้ำมันในกลุ่มนี้มากถึง 5 ชนิดด้วยกัน คือ เบนซิน 95 แก๊สโซฮอล 95 (E10) แก๊สโซฮอล 91 แก๊สโซฮอล E20 และแก๊สโซฮอล E85 แถมบริษัทน้ำมันบางแห่ง (ปัจจุบันเกือบทุกแห่ง) ยังมีน้ำมันเบนซินหรือแก๊สโซฮอลเกรดพรีเมี่ยมจำหน่ายอีกด้วย ทำให้มีน้ำมันในกลุ่มนี้มากกว่า 5 ชนิดด้วยกัน
ในส่วนของน้ำมันดีเซล ตอนแรกๆก็ดูจะไปได้ดี โดยมีความพยายามที่จะจำกัดชนิดของน้ำมันดีเซลไว้เพียงชนิดเดียว ไม่มีการแยกออกเป็นดีเซลธรรมดา หรือดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม (B100) ที่เรียกว่าไบโอดีเซล โดยออกมาตรการบังคับให้น้ำมันดีเซลทุกลิตรที่จำหน่ายในประเทศต้องเป็นไบโอดีเซลหมด คือต้องผสม B100 ในสัดส่วนที่กำหนด
การผสม B100 ในน้ำมันดีเซลก็มีสัดส่วนเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาตามปริมาณของสต๊อคน้ำมันปาล์มในประเทศ มีตั้งแต่ 3-7% เรียกว่าดีเซล B3 B5 และ B7 ตามสัดส่วนการผสม แต่ก็ยังเป็นชนิดเดียว ไม่ได้แยกออกเป็นหลายชนิดแบบกลุ่มเบนซิน/แก๊สโซฮอล
แต่ต่อมาด้วยแรงกดดันจากสต๊อคน้ำมันปาล์มที่ล้นตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงพลังงานจึงต้องยอมให้มีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 ที่มีส่วนผสมของ B100 ถึง 20% เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชนิด และควักเงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนเพื่อให้ราคา B20 ถูกกว่าดีเซล B7 ถึงลิตรละ 5 บาท เพื่อจูงใจให้คนหันมาใช้ B20
แต่วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ย่อมไม่ยั่งยืน เพราะต้นทุน B20 สูงกว่า B7 มาก ต้องใช้เงินอุดหนุนสูง ดังนั้นยิ่งขายมาก ก็ยิ่งต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในที่สุดกระทรวงพลังงานก็ต้องออกน้ำมันดีเซลมาอีกหนึ่งชนิดคือ ไบโอดีเซล B10 และจะประกาศให้เป็นเชื้อเพลิงหลักของกลุ่มดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ปีนี้ เป็นต้นไป
ดังนั้นในกลุ่มน้ำมันดีเซลจึงมีชนิดของเชื้อเพลิงเพิ่มจาก 1 มาเป็น 3 ชนิด และถ้ารวมดีเซลเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีขายกันเกือบทุกบริษัทแล้ว ก็จะกลายเป็น 4 ชนิด
เมื่อรวมทั้งเบนซิน/แก๊สโซฮอล/ดีเซล ทั้งเกรดธรรมดาและพรีเมี่ยมแล้ว เราจึงมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเติมรถยนต์มากถึง 10 ชนิดด้วยกัน
แล้วอย่างนี้จะไม่บอกว่า ประเทศไทยมีชนิดของน้ำมันเติมรถมากที่สุดในโลกได้อย่างไร !!!
มนูญ ศิริวรรณ
10 ม.ค. 2563
Social Links