ผู้นำทั่วโลกรวมตัวกันที่กรุงริยาด ปูอนาคตการท่องเที่ยว

ผู้นำทั่วโลกรวมตัวกันที่กรุงริยาด ปูอนาคตการท่องเที่ยว

ผู้นำทั่วโลกรวมตัวกันที่กรุงริยาด

ปูอนาคตการท่องเที่ยว

                 ………………………………………………………………………………………..

– ผู้นำจากภาครัฐและภาคธุรกิจ 150 คนรวมตัวกันในการประชุม FII ที่กรุงริยาด

– การท่องเที่ยวกลายเป็นวาระสำคัญระดับโลกเป็นครั้งแรกในการประชุม FII

– รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเผย "เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว"

– บรรดาผู้นำพร้อมให้การรับรอง "หลักการสำหรับออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่"

                 …………………………………………………………………………………………….

                ผู้นำด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวรวม 150 คนจากภาครัฐและภาคธุรกิจในหลายประเทศได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด Redesigning Tourism Summit – Laying Foundations for Future Success ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย

                การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม Future Investment Initiative (FII) เวทีระดับนานาชาติที่รวบรวมกลุ่มผู้นำ นักลงทุน และนักนวัตกรรมระดับโลกกว่า 3,000 คน เพื่อกำหนดอนาคตของการลงทุนทั่วโลกและมวลมนุษยชาติ

 

                อาเหม็ด อัล คาตีบ รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวของซาอุดีอาระเบีย กล่าวในการประชุม FII ว่า "การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนที่สำคัญ และการเติบโตของภาคส่วนนี้ก็มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ประชากรโลกกว่า 330 ล้านคนต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในการหาเลี้ยงชีพ โดยก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวคิดเป็น 1 ใน 4 ของการสร้างตำแหน่งงานใหม่ทั่วโลก"

                "ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 โดยมีคนตกงานมากถึง 62 ล้านคน เราต้องเสริมสร้างความร่วมมือในระดับโลกเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นวาระสำคัญของรัฐบาล เพื่อสร้างโอกาสและความยืดหยุ่นของภาคส่วนนี้เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายในอนาคต"

                "เศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว ดังนั้น เราจำเป็นต้องร่วมมือกันออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่โดยอิงหลักการร่วมเพื่อกำหนดอนาคตที่เราอยากเห็น ผมขอเชิญทุกคนมาร่วมกับเรา เพื่อเร่งการฟิ้นฟูและออกแบบการท่องเที่ยวใหม่"

                การประชุมสุดยอดครั้งนี้จัดขึ้นโดยซาอุดีอาระเบียและได้รับการสนับสนุนจากสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council) โดยมีการรับรอง "5 หลักการสำหรับออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดังนี้

            1. การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างเศรษฐกิจและสังคม

            2. ประเทศต่าง ๆ จะฟื้นตัวก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว

            3. เพื่อความเจริญรุ่งเรือง การท่องเที่ยวต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

            4. การท่องเที่ยวต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

            5. ทุกคนมีส่วนร่วมในอนาคตของการท่องเที่ยว

                อาร์โนลด์ โดนัลด์ ประธานสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก รวมถึงประธานและซีอีโอบริษัท Carnival Corporation PLC น้อมรับหลักการดังกล่าวในนามของภาคเอกชน โดยกล่าวว่า "หลักการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว และเราร่วมมือกันทำอย่างมีจุดมุ่งหมาย ผมเป็นตัวแทนของซีอีโอภาคเอกชนกว่า 200 คน ซึ่งหลายคนได้เรียกร้องให้มีการกระชับความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อรับประกันว่าจะมีการส่งเสริมธุรกิจ ทำให้การเดินทางดำเนินไปอย่างราบรื่น และสนับสนุนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก"

                "ผมยินดีที่ได้สนับสนุนหลักการสำหรับออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น"

                จูเลีย ซิมป์สัน ประธานและซีอีโอของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก กล่าวเสริมว่า "การเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดสูงสุด ซาอุดีอาระเบียในฐานะประธาน G20 ได้นำภาครัฐและภาคเอกชนมารวมตัวกัน และตอนนี้ก็ผนึกกำลังผู้นำภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวมาช่วยกันฟื้นฟูภาคส่วนนี้"

                กลอเรีย เกวารา หัวหน้าที่ปรึกษาพิเศษของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า "เรายินดีที่ได้เห็นภาคการท่องเที่ยวเป็นวาระสำคัญของการประชุมที่รวบรวมผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนหลายพันคนจากแวดวงการเงิน ซึ่งรวมถึงนักลงทุนและผู้มีอำนาจตัดสินใจ"

                "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ภาคธุรกิจของเราประสบเมื่อปีที่ผ่านมาคือการขาดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งหลักการดังกล่าวก็ตระหนักถึงปัญหาใหญ่นี้ จึงให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับรองว่าการท่องเที่ยวจะดีขึ้นสำหรับผู้คน ธรรมชาติ ชุมชน และสังคมของเรา"

                อาเหม็ด อัล คาตีบ กล่าวสรุปว่า "โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างสาหัสต่อประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหลายประเทศพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากทั้งในการหาเลี้ยงชีพและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะได้รับผลกระทบหากไม่มีการสร้างงานให้แก่ผู้ที่มีความต้องการที่สุด การท่องเที่ยวมีส่วนช่วยสร้างการเติบโตผ่านการมอบการศึกษาและโอกาส พร้อมบรรเทาความยากจน"

                "หลักการสำหรับออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะช่วยให้เราสามารถกำหนดอนาคตร่วมกัน ทั้งสำหรับจุดหมายปลายทางเดิมและใหม่ ทั้งสำหรับปัจจุบันและอนาคตของเรา"

                "ผมขอขอบคุณการประชุม FII ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในวาระครบรอบ 5 ปี และตระหนักถึงบทบาทสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวมีส่วนในการฟื้นฟูโลกของเรา"

  

          สำหรับหลักการสำหรับออกแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่มีดังนี้

                1. การท่องเที่ยวเป็นภาคส่วนสำคัญที่สร้างเศรษฐกิจและสังคม: ประชากรโลกกว่า 300 ล้านคนต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในการหาเลี้ยงชีพ โดยการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงาน การบรรเทาความยากจน และการสร้างความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมอบโอกาสให้แก่สตรี ชนกลุ่มน้อย ชาวบ้านในชนบท และเยาวชน

                2. ประเทศต่าง ๆ จะฟื้นตัวก็ต่อเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัว: ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวคิดเป็น 1 ใน 4 ของการสร้างตำแหน่งงานใหม่ทั่วโลก แต่โควิด-19 ส่งผลให้อัตราการจ้างงานลดลง 18.5% เมื่อเทียบรายปี และสัดส่วนของภาคการท่องเที่ยวที่มีต่อ GDP โลกก็ร่วงลง 49.1% ในปี 2563 นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนายังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เนื่องจากเศรษฐกิจของหลายประเทศต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก

                3. เพื่อความเจริญรุ่งเรือง การท่องเที่ยวต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ: ภาคการท่องเที่ยวมีความเปราะบางต่อแรงกระทบ ด้วยลักษณะที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกัน เราต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อปรับสถานะภาคการท่องเที่ยวให้โดดเด่นในระดับสากล ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดแนวทางบูรณาการที่เพิ่มขีดความสามารถของภาคการท่องเที่ยวในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

                4. การท่องเที่ยวต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: ปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8% ของทั่วโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อไป เราจำเป็นต้องร่วมมือกันลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริม SME หลายล้านรายซึ่งคิดเป็น 80% ของภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก ในการปกป้องโลกของเราพร้อมกับเดินหน้าสร้างงานและการเติบโต

                5. ทุกคนมีส่วนร่วมในอนาคตของการท่องเที่ยว: อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเราทุกคนต่างมีส่วนร่วมในอนาคตของการท่องเที่ยว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรการท่องเที่ยว และเพิ่มบทบาทในการประชุมต่าง ๆ เช่น G20 เพื่อสร้างอนาคตการท่องเที่ยวที่เราทุกคนต้องการ

You may also like

“เฉลิมชัย-ประชาธิปัตย์“ห่วงปัญหาเหลื่อมล้ำ จัดเวทีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเดโมแครต ฟอรั่ม” ขจัดการผูกขาด: ลดเหลื่อมล้ำแก้จน”

“เ