ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดทางเลือกใหม่สร้างเขมรขายไทย

ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดทางเลือกใหม่สร้างเขมรขายไทย

ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เปิดทางเลือกใหม่สร้างเขมรขายไทย

          ชมรมคอลัมนิสต์ฯ เดินหน้าผ่าทางตัน “โรงไฟฟ้าถ่านหิน” ที่ถกเถียงกันเป็นซีรี่ส์ยาว จนนึกภาพตอนจบไม่ออก ระบุภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงด้านพลังงาน เปิดแนวคิดใหม่ ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินในกัมพูชา ส่งขายภาคใต้ไทยในราคาถูก ยืนยันไม่กระทบความมั่นคงของชาติ

            ชมรมคอลัมนิสต์ นักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา “ผ่าทางตัน : โรงไฟฟ้าถ่านหิน” เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาพลังงานในจังหวัดภาคใต้ เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว

            นายณรงค์ ปานนอก ประธานชมรมคอลัมนิสต์ฯ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ ว่า หลังจากที่ชมรมคอลัมนิสต์ฯ เฝ้าติดตามสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของไทย นับแต่จัดเสวนาปัญหาโรงไฟฟ้าเมื่อปี 2557 และล่าสุด เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อต้นปี 2560 พบว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาข้างต้นของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงหาทางออกที่เด่นชัดไม่ได้ ดังนั้น การจัดเสวนาครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นอีกมุมมองและข้อเสนอที่สะท้อนทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวจากผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน ซึ่งทางชมรมคอลัมนิสต์ฯ ก็พร้อมจะสรุปประเด็นปัญหาและทางออก เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

            สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าของภาครัฐ จากเดิมที่เคยบอกจะดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ แต่ล่าสุด รัฐบาลเพิ่งมีนโยบายให้ชะลอแผนศึกษาออกไปอีก 3 ปี ซึ่งระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น จึงเป็นสิ่งที่สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรต้องติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อไป

            นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การมองภาพรวมพลังงานว่าจะเพียงพอหรือไม่ต้องมองทั้งระบบ ซึ่งระบบการผลิตพลังงานมี 4 ระบบคือ 1.กำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งปัจจุบันเมืองไทยมีการผลิตติดตั้งได้ 30,000 เมกะวัตต์ แต่เราไม่ได้ผลิต 30,000 เมกะวัตต์ได้ตลอดเวลา ถ้าโรงไฟฟ้าบางแห่งมีปัญหาก็ทำให้การผลิตลดลง 2.กำลังการผลิตพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นตัวสำคัญมาก เพราะแสดงถึงกำลังการผลิตแท้จริง 3.กำลังการผลิตสำรอง แม้ปัจจุบันกำลังการผลิตสำรองของเราจะสูงกว่าช่วงดีมานด์พีค 20% คือผลิตได้ 30,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 28,000 เมกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตกว่า 60% มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถือว่ายังมีความเสี่ยงหากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เมเลเซีย หรือ เมียนมามีปัญหา และ 4.กำลังการผลิตที่พึ่งพาได้ สามารถผลิตได้ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤติ ในกรณีที่โรงไฟฟ้าหลักเสียหาย

            เมื่อมองไปในส่วนของภาคใต้ นายมนูญกล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตมาจากโรงไฟฟ้าหลัก 2 แหล่งคือ โรงไฟฟ้าจะนะ 1,476 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 930 เมกะวัตต์ รวม 2,406 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตจริงคือ โรงไฟฟ้าจะนะผลิตได้ 1,106  เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม 918 เมกะวัตต์ รวม 2,024 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 2-3 โรง ประมาณ 140 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตจริง 2,164 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด 2,500 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากภาคกลาง และหากมองไปอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีกปีละ 5% จะเพิ่มยอดใช้ไฟฟ้าอีกประมาณ 500 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอแน่นอน ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติม

            ด้าน ดร.ทิวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงประเด็น ภาพรวมของไฟฟ้าจำเป็นในเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในธุรกิจการท่องเที่ยว ที่มีการใช้ไฟฟ้าพีคในเวลากลางวัน แตกต่างจากภาคกลาง ที่มีปริมาณความพีคอยู่ที่กลางคืน และได้นำสถิติการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศและพื้นที่ภาคใต้ มานำเสนอ ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มและอยู่ในการปรับแผน PDP เพื่อกระจายแหล่งเชื้อเพลิงอีกทั้งลดความเสี่ยงหรือเสี่ยงน้อยที่ประเทศจะขาดแคลนพลังงาน เราจึงจำเป็นต้องทบทวนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่ ทั้งนี้ในแผนได้ยึดโยงปกติคือการพึ่งพาเชื้อเพลิงเชิงเดี่ยว

            ดร.ทวารัฐ กล่าวว่า กรณีสร้างโรงไฟฟ้าเกาะกง เคยมีการเสนอมายังรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการพูดคุยกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาแล้วเช่นกัน แต่ยังไม่ได้นำเรื่องนี้มาให้การไฟฟ้าพิจารณา แต่ยืนยันว่าอีก 20 ปี เราอาจต้องซื้อไฟจากต่างประเทศเพราะตอนนี้ก๊าซเราเหลือเพียง 35%

            ขณะที่ นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จ.กระบี่มีแนวทางการพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กระบี่ โก กรีน” หรือ กระบี่ในทิศทางการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้รายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวของ จ.กระบี่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 8.8 หมื่นล้านบาท และหากรวมกับรายได้จากการท่องเที่ยวของทุกจังหวัดในภาคใต้ พบว่ามีมากถึง 5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่ก็ให้ความสำคัญกับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประมง การเกษตร สัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาสุขภาพและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

            มีคำถามมากมายที่ต้องถามการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และหน่วยงานภาครัฐ หากต้องผ่าทางตันในเรื่องนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาข้างต้นมากแค่ไหน? ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริงได้แค่ไหน? มีการนำข้อเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้องที่คนในพื้นที่ได้นำเสนอมาประกอบการพิจารณาหรือไม่? ที่สำคัญหากโรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริง แล้วเหตุใดจึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ทั้งที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ซึ่งในส่วนของพื้นที่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น ถือเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ เป็นจุดที่มีผืนหญ้าทะเลใหญ่สุดของประเทศ และยังเป็นแหล่งพักอาศัยของฝูงค้างคาวขนาดใหญ่อีกด้วย นอกจากนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายใน จ.กระบี่ มีถึงปีละกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เหลือใช้กระทั่งมีพอจะส่งไปขายให้จังหวัดอื่นๆ ได้ใช้ จึงอยากให้ภาครัฐได้พิจารณาประเด็นเหล่านี้ก่อนจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

            นายธีรพจน์ ย้ำว่า ที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลหลายส่วนที่มาจากคนพื้นที่ ซึ่งได้เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว แต่กลับไม่ได้นำมาพิจารณาประกอบการจัดทำแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมายที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่พวกเขาก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ ตนขอทิ้งท้ายว่า โรงไฟฟ้าถ่ายหินนั้น “ไม่ตอบโจทย์ของจังหวัดกระบี่”

            นายบรรพต แสงเขียว รองประธาน บริษัท เกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด กล่าวว่า โดยส่วนตัวมองว่าภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกที่สุด ซึ่งในประเทศเพื่อนบ้านก็ให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยกตัวอย่างอินโดนีเซีย ผลิตไฟฟ้าถ่านหินปีละ 22,600 เมกะวัตต์ เวียดนาม 14,000 เมกะวัตต์ มาเลเซีย 8,000 เมกะวัตต์ ขณะที่เมืองไทยผลิตเพียงปีละ 4,000 เมกะวัตต์ มาจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าบ้านเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหน่วยละ 1-2 บาท

            อย่างไรก็ตาม นายบรรพตกล่าวว่า โดยส่วนตัวมีข้อเสนอให้นำเข้าไฟฟ้าถ่านหินจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันบริษัท เกาะกง ยูนิลิตี้ จำกัด ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา สามารถสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึงปีละ 4,000 เมกะวัตต์ สามารถส่งกระแสไฟฟ้ามายังพื้นที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้ในราคาหน่วยละ 2.76 บาท เพื่อให้คนไทยใช้ไฟในราคาถูก ซึ่งจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานได้ในระดับหนึ่ง เปรียบเสมือนมีโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งอยู่ในจังหวัดชุมพร

            “ปัจจุบันเราเป็นอาเซียน คงไม่มีปัญหาการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแน่นอน อีกทั้งผู้ลงทุนคือประเทศจีน และใช้พื้นที่ของประเทศกัมพูชา” นายบรรพตย้ำ

            สำหรับประเด็นสำคัญที่กลายเป็นหัวข้อของงานเสวนา คือ จะผ่าทางตันในกรณีได้อย่างไร? นายธีรพจน์ กล่าวว่า ถึงวันนี้เชื่อว่าจะยังไม่ถึงเวลาจะผ่าทางตัน เนื่องจากภาครัฐยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาจากผลกระทบในทุกมิติได้จริงหรือไม่? รัฐบาลต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าภาคใต้ไม่มีทางเลือกหรือทางออกอื่นๆ แล้วนั่นแหละ โรงไฟฟ้าถ่านหินจึงจะเกิดขึ้น

            นายมนูญกล่าวว่า ไม่มีวิธีใดที่จะผ่าทางตันได้ ตราบใดที่ผู้คนยังไม่ยอมรับว่าถ่านหินเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ หากจะผ่าทางตันภาครัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นของการวางแผน พร้อมให้ตัวแทนภาคประชาชนได้เสนอแผนงานและพื้นที่จัดสร้างโรงไฟฟ้า รวมถึงยื่นข้อเสนอที่ต้องการในการเปิดให้มีการสร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรี มีโรงเรียน มีสถานพยาบาล และอื่นๆ

            ขณะที่ ดร.ทวารัฐ ยอมรับว่า ถึงตอนนี้ยังไม่มีช่องทางใดในการจะผ่าทางตันว่าด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการมาในวันนี้ ตนต้องการจะมาฟังข้อเสนอและมุมมองของวิทยากรแต่ละท่าน ซึ่งข้อเสนอของหลายๆ ท่านก็น่าสนใจ ซึ่งตนจะนำไปปรับใช้ในการทำแผนพลังงานของชาติต่อไป อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกคนยอมรับว่าถึงอย่างไรภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลัก เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ถึงขั้นที่ว่า “ขาดไฟฟ้าขาดใจ” นั่นเพราะไฟฟ้าถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของทุกชีวิต

            ด้าน นายบรรพต กล่าวว่า วันนี้แม้จะไม่มีทางออก แต่ก็ควรมีข้อเสนอให้กับประชาชน โดยเฉพาะข้อเสนอการสร้างโรงไฟฟ้าที่ได้เตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เกาะกง กัมพูชา ภายใต้เงื่อนไขที่คนไทยและประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากต้นทุนการผลิตในกัมพูชา ภายในนิคมอุตสาหกรรม บริเวณพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางรัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิประโยชน์ที่เอื้อต่อการลงทุนมากที่สุดนั่นเอง

 

 

You may also like

จี้รัฐ! ทำประชามติกาสิโนฯ ภูมิใจไทยชี้ ร่าง กม.มีปัญหา สส.พรรคประชาชน ย้ำ! คนคลองเตยไม่เอา

จี้รัฐ!