พระเอก-ไม่ใช่ผู้ร้าย!
“รีคัพเวอรี่”ยืนยัน!โรงไฟฟ้าขยะอุตฯ “ไร้มลพิษ”
กลุ่มเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า นำโดยนายมนูญ ศิริวรรณ ประธานเครือขายฯ และนางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิ เอ็กซ์ โซลูชั่นส์ จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนไทยใส่ใจทางเลือกใหม่พลังงานไฟฟ้า นางอานิก อัมระนันทน์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัดหรือ RH นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยมีนายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ กรรมการบริหาร บริษัท รีคัฟเวอรี่ เฮ้าส์ จำกัด หรือRH ให้การต้อนรับ นำเยี่ยมชมตลอดงาน ซึ่งก็ได้กล่าวถึงโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมแห่งนี้ว่า โรงไฟฟ้า RH กำลังผลิต 7 เมกะวัฒน์ ใช้วัตถุดิบทำเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้ว จะเรียกว่าขยะก็คงไม่ใช่นัก เพราะยังไม่ถึงขั้นเป็นขยะ แต่เป็นเศษวัสดุดิบที่เหลือจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิเช่น เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษยาง เศษหนังและพลาสติก อันไม่ใช่ขยะพิษแต่อย่างไร แต่ด้วยความเชื่อและความรู้สึกที่ว่า ถ้าเป็นขยะจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วจะเป็นขยะพิษ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เสมอไป เพราะขยะจากอุตสาหกรรม จะมีทั้งขยะพิษและไม่พิษ
“ขยะที่เราทำ อยู่ในประเภทไม่ใช่ขยะพิษ”
ขบวนการผลิตเชื้อเพลิงของบริษัท ใช้กระบวนผลิต RDF กล่าวคือ คัดเลือกขยะหรือเศษวัตถุดิบที่ไม่ใช้แล้วและเผาไหม้ได้ นำมาคัดหรือแยกขนาด จากนั้นตัดให้ละเอียด ก่อนนำไปอัดเป็นก้อน ขนาดก้อนละประมาณ 1 ตัน ควบคุมความชื้นไม่เกิน 20% ที่จะง่ายต่อการเผาไหม้
ในส่วนของเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้า เราใช้ระบบความร้อนด้วยการเผาไหม้แบบตะกรับเคลื่อนที่หรือ Step Grate ซึ่งจะให้ความร้อน 850-900 องศา C ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ เราเติมออกซิเจนเข้าไป 3% ช่วยขจัดสารประกอบไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยความร้อนนั้นจะไปต้มน้ำให้เดือดเป็นไอมีแรงอัดเพื่อไปปั่นมอเตอร์กำเนิดไฟฟ้า กลายเป็นกระแสไฟฟ้า ก่อนส่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ กฟภ.และส่วนหนึ่งนำมาใช้เอง
“เราจะส่งขายให้การไฟฟ้าภูมิภาค 5.5 เมกะวัตต์ ที่เหลือเราเก็บไว้ใช้เอง”
นายศุภวัฒน์ กล่าวถึงขบวนการผลิตที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมว่า ขบวนการผลิตของบริษัทฯมีการควบคุมทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเผาไหม้ที่ใช้อุณหภูมิสูงทำให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ไม่มีควันขณะเดียวกันบริษัทยังใช้ระบบเทคโนโลยีบำบัดมลพิษทางอากาศไว้ทุกขั้นตอนและมีการติดตั้งระบบCEMs เพื่อตรวจวัดปริมาณมลพิษทางอากาศเปิดตลอดเวลา ซึ่งมีอยู่ 2 จุดคือ บริเวณหน้าโรงไฟฟ้าและที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จึงยืนยันได้ว่า ขบวนการผลิตดังกล่าวทำให้มีมลพิษทางอากาศน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย แม้แต่ PM 2.5 จากการตรวจวัดก็ไม่พบ
นอกจากนี้ น้ำที่ใช้สำหรับต้มปั่นมอเตอร์นั้น เป็นน้ำประปาอย่างดี ที่เรากำจัดแร่ธาตุบางชนิดที่แม้จะมีประโยชน์ในการดื่มกิน แต่กับขบวนการอุตสาหกรรมแล้วต้องกำจัดออกไป โดยที่ขบวนการหลังผ่านการปั่นมอเตอร์กำเนิดไฟฟ้าแล้ว ซึ่งเหลืออยู่ประมาณ 40% จะถูกนำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นกำจัดออกซิเจนหรือควบแน่น ให้เป็นน้ำ ก่อนหมุนเวียนเพื่อนำไปใช้ใหม่ต่อไป ส่วนเถ้าจากการเผาไหม้ ทางบริษัทฯ ก็จะนำไปกำจัดตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับโรงไฟฟ้าให้แห่งนี้ใช้วัตถุดิบเชื้อเพลิงต่อวันประมาณ 150 ตัน มีการเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง ในหนึ่งปีหยุดเพียง 3 ครั้งเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 7 เมกกะวัต แบ่งขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 5.5 เมกกะวัต ส่วนที่เหลือนำไว้ใช้เอง
ซึ่งยอดขายตกวันละประมาณ 7-8 แสนบาท แม้จะเป็นยอดขายที่ดูสูงพอสมควร หากแต่ในการผลิตมีต้นทุนที่สูงมากกว่าครึ่งของยอดขายทีเดียว
อีกทั้งต้องยอมรับว่า เดิมทีปัญหาในการผลิตโรงไฟฟ้า ไม่ได้มาจากการผลิตหรือการขาย หากแต่จากการต่อต้านของชุมชน เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอย่างมาก ทั้งการพูดคุย การให้เข้าเยียมชมโรงไฟฟ้าทุกขั้นตอน ที่มีการคุมเข้มเรื่องมลพิษ ที่ขจัดได้อย่างหมดสิ้นทุกขั้นตอน
ในขณะเดียวกัน ชุมชนก็ได้รับประโยชน์ที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้งในด้านการจ้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเจริญให้กับคนในพื้นที่กว่า 80 % ทั้งยังเสียภาษีบำรงพื้นที่ โดยเฉพาะภาษีโรงเรือนให้กับท้องถิ่นได้พัฒนาพื้นที่ของตนเอง และที่สำคัญยังมีกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโดยทางบริษัทฯบริจาคให้ปีละ 600,000บาท ถือเป็นการคืนกำไรให้กับพื้นที่ชุมชนโดยรอบ รัศมี 5 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชน นักเรียน นักศึกษา โดยมีผู้เดินทางมาดูงานปีละประมาณ 5,000 คนอีกด้วย
จากเรื่องราวเหล่านี้ เท่ากับว่า สิ่งที่ชุนชนหวาดหวั่น สุดท้ายก็นำมาซึ่งประโยชน์ ที่สะท้อนกลับมา จากภาพที่ดูจะเหมือนผู้ร้าย กลับกลายเป็นพระเอกขึ้นมาในทันที
และ-ผลจากการดำเนินงานที่มุ่งมั่น เข้มงวด และเดินหน้าไม่หยุดยั้ง ทำให้บริษัทฯมีโรงไฟฟ้าอยู่ในเครือ 3 แห่งด้วยกันคือ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี และโรงไฟฟ้าที่จังหวัดพิจิตร พร้อมทั้งมีแผนงานต่อไปที่จังหวัดสระแก้ว
แต่ทั้งนี้ และทั้งนั้น ต้องคอยติดตามว่ากระทรวงพลังงาน จะเปิดประมูลครั้งต่อไป-เมื่อไร!!
Social Links