ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไตรมาส 1/61 ยังระมัดระวังในการใช้จ่าย

ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไตรมาส 1/61 ยังระมัดระวังในการใช้จ่าย

ภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนไตรมาส 1/61

ยังระมัดระวังในการใช้จ่าย

                จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.พ. 2561 พบว่า ครัวเรือนไทยในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ช่วงเดือนมี.ค. – พ.ค. 2561) ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนก่อน สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม โดยครัวเรือนยังมีมุมมองที่เป็นบวกต่อประเด็นเรื่องรายได้ (ดัชนีองค์ประกอบสะท้อนมุมมองต่อประเด็นทางด้านรายได้อยู่เหนือระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประกาศปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนเม.ย. 2561 ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่ทยอยปรับขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ช่วงเดือนธ.ค. 2560 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว สัปปะรดโรงงาน อ้อย และมันสำปะหลัง ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ทำให้มุมมองของครัวเรือนเกษตรต่อรายได้ในอนาคตเป็นไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนกลับมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระหนี้สิน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาวะการเป็นหนี้เพิ่มขึ้นในปัจจุบันของครัวเรือน

 

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI)       องค์ประกอบดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน

                ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”

                หมายเหตุ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขยายขอบเขตการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไปยังส่วนภูมิภาค (ต่างจังหวัด) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 เป็นต้นไป

                ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ประจำเดือนก.พ. 2561 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.3 จากระดับ 46.7 ในเดือนม.ค. 2561 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยทางฤดูกาลอย่างเทศกาลวันตรุษจีนที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตของครัวเรือนบางส่วนที่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในเดือนก.พ. (เมื่อเทียบกับเดือนม.ค. 2561) ซึ่งสาเหตุหลักๆ มาจากครัวเรือนมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นในเดือนก่อนหน้า ทำให้ค่างวดที่ต้องชำระในเดือนก.พ. 2561 สูงขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการใช้จ่ายในประเทศของบัตรเครดิตที่ออกในประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ในเดือนม.ค. 2561  ขยายตัวร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ ครัวเรือนยังเป็นหนี้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ครัวเรือนยังมีการกู้ยืม จำนำ จำนอง หรือกดเงินสดจากบัตรเพิ่มขึ้น

                ทั้งนี้ ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของครัวเรือน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนบางส่วนมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในระยะถัดไป

                โดยสรุป จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดประจำเดือนก.พ. 2561 พบว่า ครัวเรือนมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในอีก 3 เดือนข้างหน้าไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนม.ค. โดยครัวเรือนยังมีมุมมองในเชิงบวกต่อประเด็นเรื่องรายได้ แต่ก็กังวลเรื่องภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การเป็นหนี้ในปัจจุบันของครัวเรือน ในขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเทศกาลและหนี้สินที่มากขึ้นในเดือนก.พ. 2561 ยังเป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน

                ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนมี.ค. 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก.พ. ประกอบกับสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าภายในประเทศคาดว่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงเดิม แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งทางด้านปริมาณและราคา โดยเฉพาะ ข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา สับปะรดโรงงาน และสินค้าปศุสัตว์ เช่น สุกรและไก่พันธุ์เนื้อ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของครัวเรือนภาคเกษตร   

You may also like

“มนพร”ดัน“นครพนม”จากเมืองรองสู่เมืองหลัก ปลื้มโดรนเกษตรปลอดภัย สำเร็จเกินคาด  มอบ บวท. ขยายผลสร้างประโยชน์ทั่วประเทศ

“มนพร”ดั