มรพ.ผนึกกำลัง“หยุดพนัน” ปั้นทีม “พี่เลี้ยงการเงิน” สร้าง Soft Skill สู้ Soft Power

มรพ.ผนึกกำลัง“หยุดพนัน” ปั้นทีม “พี่เลี้ยงการเงิน” สร้าง Soft Skill สู้ Soft Power

มรพ.ผนึกกำลัง“หยุดพนัน”

ปั้นทีม “พี่เลี้ยงการเงิน”

สร้าง Soft Skill สู้ Soft Power

    มรพ. จับมือเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน เดินทัพปั้นทีม“พี่เลี้ยงการเงิน” มุ่งสร้าง Soft Skill ปลดหนี้ครัวเรือน พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันภัยพนัน ท้องถิ่นขานรับ “นี่คือทักษะชีวิตที่จำเป็นของทุกคน”

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในช่วงปี 2563-2564 มาจนถึงปัจจุบัน  ผลสำรวจโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าครัวเรือนไทย พบมีหนี้โดยเฉลี่ยกว่า 500,000 บาท / ครัวเรือน 80% เป็นหนี้ในระบบ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน ธกส. และอื่น ๆ อีกเกือบ 20% เป็นหนี้นอกระบบซึ่งมีความเสี่ยงอย่างมาก  ขณะที่ปัจจัยซ้ำเติมที่ก่อให้เกิดหนี้อย่างการเล่นพนันหรือเสี่ยงโชคก็มีปริมาณการเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว  ขณะที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยผลสำรวจสถานการณ์การพนัน ในปี 2564 พบว่า คนไทย 32 ล้านคนหรือร้อยละ 60 เล่นพนัน ส่วนใหญ่เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน และยังพบเด็กเยาวชนและผู้สูงอายุเล่นพนันในสัดส่วนที่ใกล้เคียวกันราว ๆ  4 ล้านคนในแต่ละกลุ่ม  ที่สำคัญคือการพนันออนไลน์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว   ผลที่ตามมาคือ 15% คนที่เล่นพนันหรือเกือบ 5 ล้านคนได้รับผลผลกระทบจากการพนัน ทั้งปัญหาหนี้สิน  ปัญหาด้านสุขภาพเกิดจากความเครียด นอนไม่หลับเพราะหมกมุ่นและวิตกกังวล และปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัวและคนใกล้ตัวที่ตามมาด้วย

การฉีดวัคซีนความรู้ด้านการบริหารการเงินและการสร้างภูมิรู้เท่าทันพนัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นสำหรับทุกชุมชน  มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และเครือข่ายสร้างการเรียนรู้ชุมชน 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี เลย น่าน พะเยา ลำปาง และพัทลุง ทดลองสร้างพื้นที่ต้นแบบสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมอบรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติงานชุมชน  เช่น ผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้นำชุมชน  อสม.  กลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มสวัสดิการชุมชน ตัวแทนเยาวชน และภาคประชาสังคม รวมถึงนักวิชาการที่สนใจในแต่ละจังหวัด เพื่อจัดทำโครงการปฏิบัติการอบรมหลักสูตรพี่เลี้ยงการเงินและรู้ทันพนัน ขึ้น

นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า “หลักสูตรที่นำมาใช้เป็นหลักสูตรแบบเข้มข้นที่ใช้เวลาเพียง 1 วัน จึงออกแบบกิจกรรมโดยนำเกมการเรียนรู้มาผสมผสานเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายจากการลงมือปฏิบัติจริง   โดยองค์ความรู้หลักที่นำมาใช้ออกแบบหลักสูตรมาจากสองหน่วยงาน หนึ่ง ความรู้เรื่องการปลดหนี้ จากบริษัท เงินติดล้อ จำกัด มหาชน และสอง การใช้เกมเรียนรู้ ได้แนวคิดมาจากเกม “The Choice – ทางเลือกทางรอด” ของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ดูแลงานโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ  และเพิ่มเติมองค์ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันพนันที่มูลนิธิฯ นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายได้วิจัยและพัฒนามาเข้าไปเป็นอีกส่วนหนึ่ง”

“ขณะนี้มีแนวโน้มว่าฝ่ายการเมืองชูแนวคิด Soft Power ผลักดันให้เกิดการพนันถูกกฎหมายเพิ่มมากขึ้น ทั้งการผลักดันกาสิโนอันเป็นแหล่งพนันขนาดใหญ่  การขยายขนาดของการพนันพื้นบ้านต่าง ๆ โดยอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม  รวมทั้งการเสนอให้การพนันออนไลน์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย  สิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ คงเป็นเรื่องที่ต้องเรียกร้องให้มีการศึกษาผลกระทบทางสังคมก่อน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ซึ่งต้องเป็นการตัดสินใจร่วมของประชาชน ไม่ใช่การตัดสินใจโดยฝ่ายการเมืองเพียงฝ่ายเดียว   อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องอยู่กับสังคมที่มีการพนันอยู่แล้ว จึงควรมีการสร้างเสริมทักษะการรู้เท่าทันพนันให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโทษภัยได้โดยไม่ถูกทำร้าย  เป็นการสร้าง Soft Skill ให้แก่ประชาชน รองรับการมุ่งใช้ Soft Power ของฝ่ายนโยบาย แต่ต้องสร้างความพร้อมทางสังคมขึ้นมาก่อน” นายธนากรกล่าว

นางสาวสุจิตรา  ฝาสันเทียะ ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน วิทยากรหลักของโครงการฯ กล่าวว่า “สาระสำคัญของการอบรมพี่เลี้ยงการเงินเน้นหลักที่ว่า การปลดหนี้เปรียบเหมือนการดูแลสุขภาพ เราจะรู้ว่าเรามีสุขภาพทางการเงินดีหรือไม่ดีอย่างไร เราต้องใช้เครื่องมือวัดสองตัวคือ  หนึ่ง เราต้องฝึกหัดทำงบรายรับรายจ่ายประจำ เปรียบเสมือนการดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อจะรู้ว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีรูรั่วทางการเงินที่จุดใด  ใช้จ่ายเกินตัว บริโภคเกินกำลัง สร้างหนี้โดยไม่จำเป็นหรือไม่  สอง เราต้องทำงบสินทรัพย์และหนี้สินอย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อรู้ว่าเรามีความมั่งคั่งมั่นคงเพียงใด และเรามีภาระหนี้อะไร เป็นหนี้ประเภทใด เป็นหนี้ดีที่อาจก่อให้เกิดความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือเป็นหนี้ร้ายที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งทางการเงิน บั่นทอนสุขภาพทางการเงินของเราหรือไม่  ทุกคนควรมีความรู้ว่าหนี้แต่ละตัวถูกคิดดอกเบี้ยแบบไหน และเราควรต้องจัดการหนี้แต่ละแบบอย่างไร และต้องทำอย่างไรจึงจะปลดหนี้แต่ละตัวได้  ความรู้เรื่องนี้ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรู้ตั้งแต่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงานยิ่งมีประโยชน์มาก  การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐก็จริง แต่หากจำเป็นต้องสร้างหนี้ก็จำเป็นต้องรู้คาถาสำคัญ คือ จำเป็นแค่ไหน  พร้อมหรือไม่ และมีประโยชน์แน่หรือ ถ้าท่องคาถานี้ก่อนการสร้างหนี้ หนี้ตัวนั้นก็จะไม่น่าจะกลายมาเป็นมะเร็งร้ายในอนาคต” นางสาวสุจิตรากล่าว

ด้านนายวราวุฒิ หน่อคำ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้มีโอกาสได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การอบรมหลักสูตรนี้ เผยถึงความสำคัญว่า “การอบรมเรื่องการบริหารจัดการเงิน และปลดหนี้  เป็นหลักสูตรการอบรมที่เป็นประโยชน์มาก นับว่าเป็นเรื่องจำเป็นในทุกครัวเรือนที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ เป็นทักษะชีวิตอย่างหนึ่งที่ครอบครัวต้องทำได้ทำเป็นเกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  ไม่ให้มีการใช้จ่ายที่เกินตัว การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ หรือการเล่นพนัน ทั้งการซื้อหวยซื้อลอตเตอรี่ การบริโภคอื่น ๆ ที่เกินตัว  ถ้าเลี่ยงได้ หรืองดได้ ก็สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรืออาจเกิดหนี้เพิ่มจากการพนัน”

ความรอบรู้ทางการเงินและการรู้ทันพนันถือเป็น Soft Skill สำคัญที่จะนำมาสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากฐานราก สร้างครัวเรือนที่มีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง รวมทั้งลดการเจ็บไข้ได้ป่วยจากการเสพติดการพนัน  และเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นทุก ๆ ที่ควรส่งเสริม

You may also like

มาสเตอร์การ์ดเปิดตัว Pay Local เพิ่มช่องทางผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลในเอเชีย รับชำระเงินจากผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 2 พันล้านราย

มาสเตอร์