มองพม่า : เศร้าใจพลังงานไทย
ไม่แปลก! ที่เมียนมา หรือพม่า จะถูกมองว่า..อนาคตอันใกล้ พวกเขาจะกลายเป็น “มหาอำนาจ” ทางด้านพลังงานของอาเซียน นั่นเพราะการปิดประเทศในรอบหลายสิบปีก่อนหน้านี้ จึงยังทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งบนบก ใต้ดิน และในทะเล โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับพลังงาน ยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้ รอให้ถึงวันที่สถานการณ์ทุกอย่างพร้อม เพื่อการนำทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างมีคุณค่าและก่อประโยชน์สูงสุดต่อพม่า
ข่าวที่ บมจ. ทีทีซีแอล (TTCL) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา น่าสนใจตรงที่เอกชนไทยประสบความสำเร็จในการร่วมลงนามสัญญาร่วมทุนและสัญญาเช่าที่ดินระยะยาวกับรัฐบาลแห่งรัฐ Kayin (KSG) เพื่อการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า Ultra Supercritical Coal-fired Thermal Power Plant ณ เมือง พะ-อัน, รัฐ Kayin โดยมีสัดส่วนร่วมทุนที่พวกเขาถือสูงถึง 95% จากมูลค่าโครงการราว 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 98,000 ล้านบาท โดยจำนวนนี้เป็นการกู้ยืมเงินมาลงทุนถึง 75%
โครงการดังกล่าวเป็นการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสายส่งของรัฐบาลเมียนมา โดยใช้ถ่านหินนำเข้า ประมาณ 4 ล้านตันต่อปี มีระยะเวลาสัมปทานประมาณ 40 ปี โดยมีรูปแบบการลงทุน Build-Operate-Transfer (BOT) และมีกำลังการผลิตราว 1,280 เมกะวัตต์
จะว่าไปแล้ว ไม่เพียงเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่า กลายประเทศอาเชียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตกเอง ก็หันเหเข็มทิศการลงทุนด้านพลังงานในดินแดนแห่งนี้ อีกเป็นจำนวนมาก แล้วก็ไม่ใช่แค่พม่าเท่านั้นที่หันมาให้ความสนใจในการเปิดสัมปทานหรือลงทุนทางด้านพลังงาน หลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ ต่างก็หันมาศึกษาและลงทุนด้านพลังงานกันเต็มรูปแบบ
เนื่องจากรัฐบาลพวกเขามองเห็นแล้วว่า การจัดเตรียมและสำรองพลังงานภายในประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ จะมีก็แต่ประเทศไทยที่เอ็นจีโอและกลุ่มผลประโยชน์ กดดันให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องจัดหาพลังงานมาใช้อย่างเพียงพอ โดยห้ามสร้างโรงผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม
Social Links