มีคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล
กรณีกล่าวหานายพิสิฏฐ์กุล ควรแถลง
โดยวันนี้ (25 มิ.ย.) ศาลอาญา กำหนดนัดฟังคำพิพากษาคดีละเมิดอำนาจศาล หมายเลขดำ ลศ.10/2564 ที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา นายพิสิฏฐ์กุล ควรแถลง ผู้ถูกกล่าวหา เรื่องละเมิดอำนาจศาล
จากกรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เชิญชวนการทำกิจกรรมยื่นจดหมายราชอยุติธรรม พร้อมทั้งยืนอ่านบทกลอนตุลาภิวัติ ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ซึ่งมีการมารวมตัวกันที่หน้ามุก (ลานบันไดทางเข้า) ศาลอาญา และใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยกล่าวโทษศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาศาลยุติธรรม กับมีการตะโกนปล่อยเพื่อนเรา (หมายถึงกลุ่มการชุมนุมคณะราษฎรฯ) ระหว่างนั้น ผกก.สน.พหลโยธิน และคณะที่เป็นผู้ดูแลควบคุมสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลอาญา ได้ประกาศแจ้งเตือนกลุ่มร่วมกิจกรรมดังกล่าวเกี่ยวกับประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิเฝด-19 และประกาศข้อกำหนดศาลอาญาว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณศาลฯ ก็มีผู้ชุมนุมบางส่วนตะโกนด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางไต่สวนทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว เห็นว่า ศาลอาญาได้ออกประกาศข้อกำหนดฯ ห้ามมิให้มีผู้ใดประพฤติตนใช้คำพูด หรือกริยาในทางที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย เสียงดัง ก่อความรำคาญฯ การที่ผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมการชุมนุมในการจัดกิจกรรมดังกล่าวและตะโกนด่าขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจ ผู้ดูแลควบคุมสถานการณ์ได้ประกาศแจ้งเตือนหลายครั้งแล้วเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ในความเรียบร้อยและปลอดภัยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดของศาลอาญา และแม้จะอ้างว่าไม่ได้กล่าวพาดพิงผู้พิพากษาแต่ตะโกนด่าเจ้าพนักงานตำรวจเพราะเกิดโทสะจากการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ก็ไม่อาจนำมาเป็นข้อแก้ตัวในการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล เนื่องจากประกาศข้อกำหนดของศาลอาญาฯ นั้น มีขึ้นเพื่อรักษาความเรียบร้อย เพื่อมิให้มีการประพฤติตน ในทางที่ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยบริเวณศาล โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
ศาลจึงพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล แต่เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการวางแผนจัดชุมนุม โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงผู้มาให้กำลังใจ แนวร่วมที่ถูกดำเนินคดี แม้จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยบริเวณศาล แต่พฤติการณ์นับว่ายังไม่มากเท่าผู้อื่น ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน มีอาชีพสุจริต และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (ตัดสินว่ามีความผิดแต่ยังไม่กำหนดอัตราโทษจำคุก โดยช่วง 2 ปีหากมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นอีก ศาลสามารถพิจารณากำหนดบทลงโทษจำคุกได้)
แต่เพื่อป้องปรามผู้ถูกกล่าวหาได้ตระหนักและระมัดระวังในการประพฤติตน จึงสมควรกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติ โดยห้ามผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนในทำนองที่จะเกิดความไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลภายในกำหนดระยะเวลารอการกำหนดโทษ
Social Links