“ยานยนต์”พระเอกกระตุ้นอุตฯโต

“ยานยนต์”พระเอกกระตุ้นอุตฯโต

“ยานยนต์”พระเอกกระตุ้นอุตฯโต

            เศรษฐกิจไทยปัจจับบวกอื้อซ่า ล่าสุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือMPI  เดือนกันยายน 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โตไม่หยุด  ส่งผลให้ MPI ไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.0  และภาพรวม 9 เดือน ขยายตัวร้อยละ 1.4 เข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดปี 2560 ที่ตั้งไว้ให้ขยายตัวร้อยละ 1.5 ชนิดจ่อคอหอยแล้ว

                นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2560 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายอัตราการผลิตอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน และภาพรวมดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 9 เดือนของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.4 เข้าใกล้เป้าหมายสูงสุดการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2560 ทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) เดือนกันยายนขยายตัวร้อยละ 7.1 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 10.5  โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์  รถยนต์  ผลิตภัณฑ์ยาง  มอเตอร์ไฟฟ้า  และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

            อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่

                เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.59 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.69 โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

                รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.61 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  จากผลิตภัณฑ์รถปิคอัพ  เนื่องจากผู้ผลิตได้ทำ minor change  รวมถึงมีกำลังซื้อบางส่วนที่ได้ปลดล็อคจากโครงการรถคันแรก  ส่งผลให้ทั้งปริมาณจำหน่ายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น

                ผลิตภัณฑ์ยาง  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.78 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่นและยางแท่ง โดยในปีนี้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดปีส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่  หลาย ๆ บริษัทจึงทำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น  รวมถึงการเร่งส่งออกไปยังประเทศจีน 

                มอเตอร์ไฟฟ้า  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.37  ตามคำสั่งซื้อต่างประเทศของผู้ผลิตที่มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและอาเซียนทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 141.57

                ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.02 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในทุกผลิตภัณฑ์  โดยเฉพาะ PCBA ที่เป็นไปตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            อุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ได้แก่

                อุตสาหกรรมรถยนต์  การผลิตรถยนต์ในเดือนกันยายนขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา  โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกรถกระบะที่มีการขยายตัวในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ประกอบกับตลาดในประเทศมีการขยายตัว เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนเริ่ม   ฟื้นตัว และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นตลาดในประเทศ

                อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยดัชนีผลผลิต  อยู่ที่ระดับ 110.61  โดยเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

                อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน การผลิตในเดือนกันยายน 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 128.88 ในขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 261 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

                อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.2 เนื่องจากการผลิตสินค้าหลักขยายตัวได้แก่ ผักและผลไม้ ปศุสัตว์ และน้ำตาลประกอบกับการบริโภคภาพรวมในประเทศเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ตามต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงจีน ขณะที่เศรษฐกิจและการค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.6

You may also like

เปิดเคล็ดลับความมั่งคั่ง สำรวจกลยุทธ์การเงินชั้นเซียนของผู้มีกำลังซื้อสูง

เปิดเคล็