“รมช.คมนาคม”ต้อนรับเจ้าหน้าที่ World Bank
ร่วมหารือโครงสร้างขนส่งสำคัญของไทย
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ Mrs. Sudeshna Ghosh Banerjee ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank ในโอกาสเข้าพบหารือเกี่ยวกับโครงการขนส่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ ดร.มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ Mrs. Sudeshna Ghosh Banerjee (สุเดชนา โกช แบเนอจี) ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออกและภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank และคณะ ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการด้านการคมนาคมขนส่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา โดยมี ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม
นางมนพร เจริญศรี กล่าวว่า ผู้อำนวยการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประจำเอเชียตะวันออก และภูมิภาคแปซิฟิกของ World Bank และคณะ ได้เข้าพบเพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการด้านการคมนาคมขนส่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และความคืบหน้าโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และโครงการสะพานเชื่อมเกาะลันตา ซึ่งเป็นโครงการที่ World Bank ให้การสนับสนุนประเทศไทย ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยอันดามัน (Land bridge) ของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 35.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาค ลดระยะเวลาและความหนาแน่นของการจราจร ผ่านช่องแคบมะละกา โดยประเทศไทยวางแผนที่จะจัดโรดโชว์นำเสนอโครงการในประเทศต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุน
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ ช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่างอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ถึงอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เหลือ 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย และเชื่อมโยง 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา ช่วยบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงแผ่นดิน แก้ปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ในกรณีเกิดภัยพิบัติจะสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ประสานการดำเนินโครงการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะโลมาอิรวดี กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท ได้ประสานกับ 5 หน่วยงาน เพื่อจัดทำ MOU โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และนำไปสู่การปฏิบัติในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา โดยได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพื่อแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา
ในเบื้องต้นได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2567 – 2571 ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่ การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา เพื่อปกป้องคุ้มครองโลมาอิรวดี และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ลดระยะเวลาการเดินทาง ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทาง ในกรณีเกิดภัยพิบัติสามารถอพยพประชาชนในพื้นที่ได้รวดเร็ว รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวระหว่างเกาะลันตาและแผ่นดินใหญ่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการบริการโลจิสติกส์ในพื้นที่ โดยก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามคลองช่องลาด เพื่อเชื่อมต่อเกาะลันตากับแผ่นดินใหญ่ ความยาวประมาณ 2,200 เมตร ปัจจุบันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์แล้ว และออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี (พ.ศ. 2568 – 2570)
ในโอกาสนี้ World Bank ได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานควบคู่กับการปกป้องคุ้มครองโลมาอิรวดี และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมทั้งยินดีที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยบนท้องถนน เนื่องจาก World Bank มีคณะทำงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว
Social Links