ราคาสินค้าขยับ กดดันค่าครองชีพ
ลุ้นมาตรการรัฐ-เศรษฐกิจหนุนจ้างงาน
ราคาสินค้าในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
จากผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.ย. 2560 พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลต่อการครองชีพทั้งในปัจจุบันและในอนาคตมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ในเดือนก.ย. ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.5 และ 45.3 ตามลำดับ (จากเดิมที่ระดับ 45.7 และระดับ 46.2 ในเดือนส.ค.)
จากภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นของราคาสินค้าสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันพร้อมกันหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศ ตลอดจนราคาก๊าซหุงต้มและก๊าซ NGV ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการนำเข้าพลังงานที่แพงขึ้น สอดคล้องไปกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนก.ย. 2560 ที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 0.86 YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค. 2560) ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.56
อย่างไรก็ดี แม้ค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนก.ย. แต่ค่าใช้จ่ายและหนี้สินของครัวเรือนที่ลดลงก็ช่วยชดเชยและบรรเทาความกังวลต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในภาพรวมไปได้บางส่วน ทำให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.ย. ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย
ซึ่งในด้านค่าใช้จ่ายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีรายการพิเศษ อย่างเช่นวันหยุดยาวในเดือนก.ย. ประกอบกับครัวเรือนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ หนี้สินของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนก.ย. ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ชะลอลงในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาในเดือนก.ย. สอดคล้องกับตัวเลขปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศของบัตรที่ออกโดยบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในประเทศที่ในเดือนก.ย. 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 MoM ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 3.9 MoM
ในขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวลดลงนอกจากจะเป็นผลจากความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้าแล้ว ยังเป็นผลมาจากการวางแผนล่วงหน้าของครัวเรือนที่จะจับจ่ายใช้สอยซื้อหาสินค้าและบริการ รวมถึงท่องเที่ยว (ทั้งในและต่างประเทศ) ในช่วงวันหยุดเทศกาลเดือนธ.ค. 2560 ซึ่งทำให้ครัวเรือนคาดการณ์ว่าน่าจะมีค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) เพิ่มขึ้น ในขณะที่บางครัวเรือนวางแผนนำเงินที่เก็บออมมาใช้ ทำให้ครัวเรือนบางส่วนมองว่าจะมีเงินออมลดลงในช่วง 3 เดือนข้างหน้า
ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”
สังเกตว่า ครัวเรือนจึงมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพในอนาคตมากกว่าในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ปรับตัวต่ำกว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในปัจจุบัน (KR-ECI) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ เช่น ค่าโดยสาร BTS รวมถึงการยกเลิกมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรีจะมีผลบังคับใช้หลังเดือนก.ย. 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนอีก 3 เดือนข้างหน้าที่สำรวจในเดือนก.ย. 2560 ยังเป็นระดับที่สูงกว่า สะท้อนมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยสรุป จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนก.ย. 2560 พบว่า ภาวะการครองชีพของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังถูกกระทบจากประเด็นเรื่องค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ประเด็นเรื่องค่าครองชีพนี้จะยังเป็นแรงกดดันต่อภาวะการครองชีพของครัวเรือนในเดือนต.ค. 2560 อยู่ เพราะราคาสินค้าบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้น ซึ่งทำให้เงินเฟ้อเดือนต.ค. น่าจะไม่ต่ำกว่าเดือนก.ย. ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.86 อย่างไรก็ดี โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าจะนำมาสู่การจ้างงานภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จึงน่าจะช่วยหนุนภาวะการครองชีพในระยะข้างหน้าของครัวเรือนไปในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงติดตามภาวะการครองชีพของครัวเรือนในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง
Social Links