เหมืองแร่ ร้อง "เกษตร"
ผู้ประกอบการเหมืองร้อง รมว.เกษตรฯขอความเป็นธรรมถูกตัดสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก.ทั้งๆที่ยื่นเรื่องมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว พร้อมระบุว่า แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาของอุตสาหกรรมแร่ไทยที่หยุดชะงักมาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเหมืองแร่จำนวนไม่น้อยยังติดขัดอยู่กับนโยบายอันเข้มงวดของทางราชการ อาทิ ข้อกำหนดเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากผู้ประกอบการแร่หลายชนิดที่เสนอเรื่องผ่านสภาการเหมืองแร่จำนวนมาก เช่น
- บริษัท เอ็นนิโก้ ซัพพลาย จำกัด (เเร่ยิปซัม)
- นางสาวศิริพร บินสมประสงค์ (แร่ยิปซัมและแอนไฮไดรต์)
- บริษัท ไพศาลี พารวยสตีล จำกัด (เเร่เหล็ก)
- บริษัท บ้านทองศิลาทรัพย์ จํากัด (หินบะซอล)
- บริษัท ศิลามาทวี จำกัด (เเร่หิน)
- บริษัท มาทวีศิลาทรัพย์ จำกัด (เเร่หิน)
- บริษัท บ้านทองศิลาทรัพย์ จำกัด (เเร่หิน) และบริษัทอื่นๆ
ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาถูกตัดสิทธิ์ในการขอรับความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส.ป.ก. ซึ่งนโยบายภาครัฐในอดีตได้ให้อนุญาตทำเหมืองได้ และผลจากการจัดสัมมนาเรื่อง “สัญญาณเตือน…เมกะโปรเจ็กต์ไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยตัวแทนภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เข้าร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะตรงกันว่า ทางรัฐบาลควรอนุญาตให้ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งจะมีแหล่งแร่อุตสาหกรรมเพียงพอสำหรับในปัจจุบันและอนาคตสำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมขนส่งของภาครัฐ นอกจากนี้ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ยังมีแร่หลายประเภท เช่น ยิปซัม เฟลด์สปาร์ โดโลไมต์ ฯลฯ จำนวนมากสำหรับรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมแก้วกระจก อุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น
ในหนังสือของนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ยิปซัมและแอนไฮไดรต์ ได้อ้างถึงกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 โดยสรุปสาระสำคัญว่า 1.กลุ่มพลังงาน ได้รับสิทธิ์ให้ยื่นคำขอรับการพิจารณายินยอมให้ใช้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินได้ทุกราย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 2.กลุ่มเหมืองแร่ ได้รับสิทธิ์ให้ยื่นคำขอได้เฉพาะรายที่เคยได้รับความยินยอม หรืออนุญาตไว้ก่อนคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 หรือก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เท่านั้น
ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่รอการพิจารณาขอรับคำยินยอมหรืออนุญาตค้างไว้ และผู้ที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอต้องถูกตัดสิทธิ์ไปทันที ทั้งๆที่กรณีนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ ได้ยื่นขอรับคำยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก.ตั้งแต่ปี 2554 และรอการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี เมื่อมาถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าวมีผลให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการลงทุนในการสำรวจแร่และลงทุนเครื่องจักร กระทบต่อธุรกิจเหมืองที่ต้องยุติลงเพราะเหมืองเดิมปริมาณแร่สำรองจะหมดในปี 2561 กระทบต่อภาระผูกพันในการส่งแร่ต่อลูกค้าต่างประเทศ และผลกระทบปลายทางคือลูกจ้างเหมืองที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ต้องตกงานจำนวนมากหากต้องปิดเหมือง
ข้อเสนอของนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ คือขอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้รับสิทธิ์ในการขอรับคำยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ทุกราย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่เลือกปฏิบัติ
อนึ่ง คำสั่งคสช.ที่ 31/2560 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศระบุว่า คปก.มีอำนาจพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก.เพื่อดำเนินกิจการอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม อีกทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. ซึ่งรวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้สำรวจหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ กิจการด้านพลังงานและอื่นๆที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยร่างแก้ไขพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อ 31 พฤษภาคม 2561 ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
Social Links