ร้อน ร้อน ร้อน!!! ค่าไฟแพงหรือใช้ไฟมากขึ้น
อากาศร้อนอย่างนี้ แน่นอนว่าทุกคนย่อมต้องหนีร้อนไปอยู่ที่เย็นๆ ซึ่งคงหนีไม่พ้นห้องแอร์ หรือสถานที่ที่เปิดแอร์ให้เย็นเฉียบ
แต่ถ้าเป็นที่บ้านเปิดแอร์กันทั้งกลางวัน กลางคืน พอได้รับบิลค่าไฟ คงยิ่งร้อนกันขึ้นไปใหญ่ จนบางคนคิดไปว่าการไฟฟ้าฉวยโอกาส โดยคิดค่าไฟฟ้าสูงขึ้นตามอัตราการใช้ไฟหรือเปล่า คือยิ่งใช้มาก อัตราค่าไฟต่อหน่วยยิ่งสูงตามไปด้วย
ก็ไม่น่าแปลกใจที่ผู้ใช้ไฟจะคิดไปในทำนองนั้น เพราะถ้าใช้ไฟเยอะ ค่าไฟก็ต้องเสียมากขึ้นอยู่แล้ว ตามหน่วยการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น
แต่จะมีสักกี่คนที่จะไปดูอัตราค่าไฟต่อหน่วยที่แสดงอยู่ในบิลค่าไฟฟ้าว่ามันเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า หรือถ้าดูก็อาจจะดูไม่รู้เรื่องว่ามันแสดงค่าอะไรกันบ้าง เพราะมันมีตัวเลขและศัพท์แสงเยอะแยะไปหมด
ความจริงแล้วค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปตามสภาพอากาศเลยนะครับ เคยคิดเท่าไรก็ยังคิดเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง การที่เราจ่ายบิลค่าไฟสูงขึ้นก็เป็นเพราะเราใช้ไฟ (หน่วย) มากขึ้นเพียงประการเดียวเท่านั้น
ราคาค่าไฟบ้านเรายืนอยู่ในอัตราปัจจุบันมาตั้งแต่เดือนมกราคม ปีนี้เป็นต้นมา และจะคงอยู่ในอัตราปัจจุบันไปจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้
ถึงตอนนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะไปพิจารณาอีกทีว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร
โครงสร้างค่าไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประกอบไปด้วย ค่าไฟฟ้าฐาน และค่าไฟฟ้าผันแปร (ft)
ค่าไฟฟ้าฐาน คือค่าไฟฟ้าที่คิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย ภายใต้สมมติฐานว่าประเทศมีความต้องการไฟฟ้าเท่าใด อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และราคาพลังงานเป็นอย่างไร
ปกติค่าไฟฟ้าฐานจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่จะมีการปรับทุก 3-5 ปี ล่าสุดมีการปรับเมื่อเดือนพ.ย. 2561 โดยมีอัตราอยู่ที่ 3.7556 บาท/หน่วย
ส่วนค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) คือค่าไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า เช่นค่าเชื้อเพลิงที่มีความผันผวนขึ้นลงตามราคาในตลาดโลกหรือตามสูตรราคาซื้อขายที่ตกลงกันเอาไว้ ซึ่งสำหรับประเทศไทยคือราคาก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ผลิตไฟฟ้ามากถึง 60%
นอกจากนั้นก็มีต้นทุนในการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เช่นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีต้นทุนสูง หรือการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าตามนโยบายลดสต๊อคส่วนเกินของน้ำมันปาล์มในประเทศ เพื่อยกระดับราคารับซื้อผลปาล์มของเกษตรกร เป็นต้น
ค่า ft นี้จะมีการทบทวนทุกๆ 4 เดือน โดยมีการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมกราคม ปี 2562 โดยปรับขึ้น4.30 สตางค์/หน่วย หลังจากตรึงค่า ft มาเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน
ค่า ft ปัจจุบัน มีอัตรา -11.60 สตางค์/หน่วย ซึ่งเมื่อนำไปลบออกจากค่าไฟฟ้าฐาน ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้ารวมที่เราต้องจ่ายถูกลงเป็น 3.6396 บาท/หน่วย และจะใช้อัตรานี้ไปจนถึงเดือนส.ค.ปีนี้
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าค่าไฟฟ้าที่ทำให้เราร้อนใจ เป็นเพราะเราใช้มากขึ้น ไม่ใช่เป็นเพราะค่าไฟแพงขึ้นแต่อย่างใดครับ !!!
…………………
มนูญ ศิริวรรณ
7 พ.ค. 2562
Social Links