ศาลยุติธรรมเดินหน้า พัฒนาระบบบันทึกคำเบิกความพยาน ด้วยภาพและเสียง พร้อมลุยศึกษาระบบ AI

ศาลยุติธรรมเดินหน้า พัฒนาระบบบันทึกคำเบิกความพยาน ด้วยภาพและเสียง พร้อมลุยศึกษาระบบ AI

ศาลยุติธรรมเดินหน้า

พัฒนาระบบบันทึกคำเบิกความพยาน

ด้วยภาพและเสียง พร้อมลุยศึกษาระบบ AI

    ศาลยุติธรรม รุกคืบพัฒนาระบบบันทึกคำเบิกความพยานด้วยภาพและเสียง e-Hearing ลุยศึกษาระบบ AI ถอดเสียงให้การบันทึกคำพยานรวดเร็ว ครบถ้วน ตรวจสอบความถูกต้องได้สะดวก

นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาประยุกต์ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ มาโดยตลอด เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน เทคโนโลยีหนึ่งที่ได้เริ่มนำมาใช้ระยะหนึ่งแล้วคือระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียง หรือ e-Hearing มาใช้ภายใต้ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการบันทึกคำเบิกความพยานในคดีอาญาโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพและเสียง พ.ศ.2564 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นหลักประกันให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาใหม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะในส่วนของอุปกรณ์ Hardware หรือระบบการทำงานของ Software รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนจึงต้องมีการพัฒนาและยกระดับอยู่ตลอดเวลา ให้ทันการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้จัดทำโครงการ e-Hearing Design-Lab ขึ้นเพื่อระดมสมองและความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น

โครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนผู้พิพากษา พนักงานอัยการ ทนายความ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ร่วมให้ข้อคิดเห็นในการศึกษาแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาระบบโดยอาศัยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design-Thinking โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ สำนักส่งเสริมงานตุลาการ สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมดำเนินงาน

นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมากจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี (e-Hearing) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2566 เพื่อศึกษา วิเคราะห์ รูปแบบ แนวทางมาตรการ ปัญหาข้อขัดข้องทางกฎหมาย ระเบียบ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียง โดยมีนายวิญญู พิชัย ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะทำงาน

ล่าสุดคณะทำงานฯ ได้ประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการบันทึกภาพและเสียง เพื่อศึกษารูปแบบการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการนำมาพัฒนาระบบ e-Hearing อาทิ กลุ่มมหาวิทยาลัยได้ดูงานการจัดการเรียนการสอนทางออนไลน์และระบบจัดการไฟล์วิดีโอของมหาวิทยาลัยที่มีผู้เข้าใช้จำนวนมาก กลุ่มการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ถอดเสียงเป็นข้อความ (Speech-to-text AI) เช่น การประชุมของรัฐสภา และกลุ่มสถานีโทรทัศน์ในไทยเพื่อดูระบบงานบันทึกภาพและเสียง การควบคุมเสียง การนำไฟล์มาใช้ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังศึกษาระบบแปลภาษา Google translate cloud และ AI ถอดเสียงเป็นข้อความ เช่น Gowajee (โกวาจี) นวัตกรรมแปลงเสียงเป็นข้อความภาษาไทยของจุฬาฯ, แอปพาที  PARTY

ผลจากการศึกษาและทดสอบคาดว่าจะนำมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนา และจัดหาเทคโนโลยี เครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบ e-Hearing ทั้งหมดให้ระบบมีความครบถ้วนสมบูรณ์ ง่ายทั้งการเข้าถึง การค้นหา ครอบคลุมผู้ใช้งาน สิทธิการเข้าถึงตามกรอบกฎหมาย และการถอดเสียงเป็นข้อความได้อย่างแม่นยำมีมาตรฐาน ตามนโยบายประธานศาลฎีกาด้าน  “ทันโลก”  โดยการสืบพยานผู้พิพากษาไม่ต้องบันทึกคำพยานในลักษณะ “การอมความ” แบบเดิมผ่านเครื่องบันทึกเสียงที่ต้องมีเจ้าหน้าบัลลังก์มาแกะเทป ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงานและระยะเวลาที่ใช้ในการสืบพยาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ คู่ความ พยาน เจ้าหน้าที่ศาล ซึ่งย่อมจะส่งผลให้สามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

You may also like

อานิสงส์สงครามการค้า หนุนส่งออกไทยเดือน ต.ค.โตพุ่ง  14.6%

  การส่ง