“สคล.-สสส.”ลงพื้นที่ศรีสะเกษเสริมพลังต้นแบบงดเหล้าสำเร็จ
หวังเป็นโมเดลสู่การปรับใช้ในพื้นที่ทั่วไทย
สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะผู้ประสานงานเครือข่าย สคล.จากทั่วประเทศ และ ผู้แทนจาก สสส. นำโดยนายนายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการฯ พร้อมคณะ รวมจำนวนกว่า 20 คน ลงพื้นที่ ตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อติดตามและเสริมพลังการขับเคลื่อนการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของจังหวัดศรีสะเกษผ่านงานบุญประเพณีปลอดเหล้าและกระบวนการช่วยผู้ติดสุราโดยพลังชุมชน ตั้งเป้าเครือข่าย สคล. นำข้อมูลและแนวทางการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ กลับไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน โดยเฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนที่เริ่มตั้งแต่ระดับล่างหรือในระดับชุมชนหมู่บ้าน กระทั่งสามารถผลักดันจนเป็นนโยบายงานบุญประเพณีปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัดได้
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เปิดเผยว่า การดำเนินกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้เครือข่าย สคล.ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานอย่างเข้มข้นของตำบลเสียว ที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่บรรพบุรุษประสานพลังสามัคคีของคนในท้องถิ่น ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากจุดเล็ก ๆ ในชุมชนที่ประกาศเจตนารมย์ให้งานบุญของหมู่บ้านเป็นงานปลอดเหล้า สร้างความเข้มแข็งจนถึงระดับตำบลสู่อำเภอ กระทั่งสามารถผลักดันไปสู่ระดับจังหวัดโดยประกาศเป็นนโยบายให้งานเทศกาลทุกระดับในจังหวัดศรีสะเกษเป็นงานปลอดเหล้าเมื่อปี พ.ศ.2553 และดำเนินการเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การขับเคลื่อนงานของชุมชนตำบลเสียวรวมไปถึงชาวอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ แสดงให้เห็นถึงการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมซึ่งเป็น Soft power มาเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับเหล้า ซึ่งเครือข่าย สคล.จะได้เรียนรู้ถึงแนวทางการทำงาน ตั้งแต่ระดับล่าง คือ ชุมชนหมู่บ้าน สู่ระดับบนหรือจังหวัด เกิดการเชื่อมต่อกันได้อย่างไร เพื่อนำไปปรับใช้กับบริบทในพื้นที่ของตนเอง สคล.หวังให้โมเดลของตำบลเสียวเกิดการขยายผลไปสู่ในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะใน 15 จังหวัดที่มีต้นทุนคล้ายกับจังหวัดศรีสะเกษ อาทิ มหาสารคาม อำนาจเจริญ ลำพูน ตาก ฯลฯ
ผจก.สคล. กล่าวด้วยว่า จากขบวนการเรียนรู้พบว่า กลยุทธ์การทำงานสำคัญของ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ คือ การดึงหน่วยภาครัฐเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการควบคุมแอลกอฮอล์โดยตำแหน่ง ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยในระดับอำเภอจะมีนายอำเภอเป็นประธานและฝ่ายสาธารณสุขเป็นเลขานุการร่วมกับภาคประชาสังคม มีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายในระบบราชการ คณะทำงานก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ จึงเกิดการสนับสนุนการทำงานจากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่องไปโดยปริยาย ทำให้เกิดภาพการทำงานที่เข้มแข็งที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน
“สำหรับแนวทางการทำงานของ สคล. นับจากนี้จะปรับแนวทางการทำงานไปในเชิงพื้นที่มากขึ้น จากเดิมที่เรามุ่งผลักดันในระดับนโยบายอย่างเดียวเพื่อให้เกิดข้อบังคับใช้กฎหมายลงมาสู่ระดับล่าง เราอาจไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน ปัจจุบันแนวโน้มกระแสสังคมเปลี่ยนไปสื่อเข้าถึงผู้คนได้ง่าย เครือข่าย สคล.ในพื้นที่จะทำให้เรามองเห็นภาพและบริบทที่เปลี่ยนไป ทำให้เรารู้ความต้องการของชุมชนและสามารถปรับการทำงานได้ตรงจุดมากขึ้น แต่ละพื้นที่ก็ต่างบริบทกันการทำงานก็ต้องปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกัน โดยเราจะมุ่งเน้นที่ ชุมชน เยาวชน รวมไปถึงการเฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ผจก.สคล.กล่าว
นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีวรรณ กล่าวว่า ความเข้มแข็งของชุมชนเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โพธิ์ศรีสุวรรณสามารถสร้างคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้นได้ การขับเคลื่อนโดยเครือข่ายงดเหล้าเราใช้กลไกของ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร.) ร่วมกับ หน่วยงานข้าราชการ พื้นที่การดำเนินกิจกรรมจะเริ่มต้นในหน่วยเล็กที่สุด คือ หมู่บ้าน หากเราสร้างความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรมให้กับหมู่บ้านได้โดยกลไก บวร.+ข้าราชการ ก็จะสามารถขับเคลื่อนงานในระดับที่ใหญ่ขึ้นไปได้ ในส่วนของการขับเคลื่อนงานบุญประเพณีปลอดเหล้า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จะมีการนำคืนข้อมูลในทุกวันที่ 14 ธ.ค.ของทุกปี เพื่อนำมาวิเคราะห์ แก้ปัญหา หาข้อสรุปแนวทางการทำงานร่วมกันในปีต่อๆไป โดยระยะเวลา 14 ปี ของการดำเนินงาน พบว่า ข้อมูลการประหยัดค่าใช้จ่ายจากงานบุญปลอดเหล้าได้ทั้งหมด 143,382,000 บาท ถือเป็นความยั่งยืนที่สามารถทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจที่ดีของอำเภอได้ และทำให้สถานการณ์ผลกระทบ ความรุนแรงต่าง ๆ ลดลง สำหรับเป้าหมายของการขับเคลื่อนงานของอำเภอ ยังคงให้ความสำคัญในหลัก 3 ดี คือ 1.) คนดีมีคุณธรรม 2.) สุขภาพดี และ 3.) เศรษฐกิจดีอย่างยั่งยืน
ดร.สุคนธ์ทิพย์ บัวแดง พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการกลุ่มงานสาธารณสุขมวลฐานและระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า แนวทางการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใช้กลยุทธ์ในการดึงเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ในทุกปี โดยเลือกที่จะเข้าไปรับฟังชุมชนก่อนว่ามีประเด็นอะไรที่จะให้ทางเราช่วย เราจะเห็นการทำงานจากล่างขึ้นข้างบน ที่ผ่านมาได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ 22 อำเภอ เพื่อขับเคลื่อนในประเด็นลดการดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการลงพื้นที่ประชาคมชาวบ้าน สร้างความเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล (รพสต.) กับ โรงพยาบาล จึงเป็นที่มาของการจัดทำข้อมูลภาพรวมทั้งจังหวัด ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สถิติ แต่จะพัฒนาเชื่อมต่อไปสู่เรื่องการบำบัดด้วย
นายวันอาฟันดี เจ๊ะสาเหาะ ตัวแทนเครือข่ายงดเหล้าภาคใต้ตอนล่าง กล่าวว่า ต้นทุนทางวัฒนธรรมของตำบลเสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกหลาน จนนำไปสู่การรวมใจเป็นหนึ่งอันเดียวกันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นพลังที่เข้มแข็งในการแก้ปัญหาในทุกมิติของคนตำบลเสียว ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและอื่น ๆ อีกสิ่งสำคัญที่พบคือ การร่วมมือของทุกภาคส่วนประสานการทำงานทุกทิศ ทั้งหน่วยงานราชการ ท้องถิ่นชุมชน ตำบลเสียวจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ชี้ให้เห็นว่าพลังสามัคคีของชุมชนและภาคประชาสังคมเป็นต้นทุนและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนในเรื่องต่าง ๆ ได้ ตนมองเห็นเป็นโอกาสที่จะนำไปปรับใช้ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยการนำเรื่องของจิตวิญญาณบวกกับศาสนามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป
ท้ายสุดของกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนั้น โมเดลความสำเร็จของการลดการดื่มแอลกอฮอล์ ของคนตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ก่อเกิดเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติและหลายระดับ การรณรงค์ในพื้นที่เล็ก ๆ โดยใช้ต้นทุนทางขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ก่อให้เกิดพลังความสามัคคีของการทำงานของภาคประสังคมร่วมกับทางหน่วยงานภาครัฐ เริ่มจากข้อตกลงร่วมกันในชุมชน ขยับเป็นธรรมนูญตำบล เกิดเป็นพลังระดับอำเภอ และระดับจังหวัด ทั้งนี้ต้นทุนเหล่านี้ยัง ผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายขับเคลื่อน พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อใช้ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานฝ่ายปกครองอย่างต่อเนื่องนั่นเอง .
Social Links