สงครามการค้า ไทยได้หรือเสีย!

สงครามการค้า ไทยได้หรือเสีย!

สงครามการค้า ไทยได้หรือเสีย!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย:รายงาน

                นโยบายการค้าเสรีที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจนนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Value Chain: GVC) ที่ซับซ้อน อย่างไรก็ดี สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯที่กำลังคุกรุ่นในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ได้สร้าง “ความไม่แน่นอน (Uncertainty)” ให้เกิดขึ้นต่อภาพรวมการค้าการลงทุนของโลก โดยเฉพาะในประเทศจีนที่นับได้ว่าเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญของห่วงโซ่การผลิตโลกในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งจะกระทบกับการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคต่อไป

                สงครามการค้าอาจทำให้เกิดการกระจายการลงทุนออกจากจีนในสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากการย้ายฐานการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นเหมือนในอดีต อย่างไรก็ดี ผลบวกต่อไทยคงอยู่ในระดับที่จำกัด

                จากการที่จีนเป็นจุดศูนย์กลางของสงครามการค้าในครั้งนี้ ประกอบกับการที่จีนอยู่ในฐานะศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชีย บรรษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในจีนย่อมพิจารณาบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจผ่านการกระจายการลงทุนโดยตรง หรือแม้กระทั่งการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศหรือกลุ่มประเทศที่ไม่ได้รับการกีดกันทางการค้าโดยตรงจากสงครามการค้า ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงภูมิภาคที่สามารถเลือกลงทุนทดแทนจีนได้นั้น ภูมิภาคอาเซียนย่อมเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งซึ่งอยู่ใกล้กับจีน มีความหลากหลายของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม มีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลากหลายประเทศ อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำจนก้าวขึ้นมามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกมากขึ้น และคงส่งผลต่อไทย ดังนี้

                1) สงครามการค้าจะทำให้การย้ายฐานการลงทุน (Relocation) ในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรืออุตสาหกรรมที่พึ่งพาการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นอื่นๆ เกิดในอัตราเร่งขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวของ MNEs หรือแม้แต่วิสาหกิจท้องถิ่นของจีนเองในการแสวงหาแหล่งลงทุนในอุตสาหกรรมข้างต้นแห่งใหม่ทดแทนจีนที่ประสบความท้าทายหลักจากความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนแรงงาน (Cost competitiveness) ลดลงบนยุทธศาสตร์ China Plus One ที่ดำเนินมาสักระยะหนึ่งแล้ว

                สำหรับผลต่อไทยนั้น สงครามการค้าไม่ได้ส่งผลบวกต่อไทยในส่วนของการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์การย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมามูลค่าการลงทุนสะสมในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้อย่าง การผลิตเฟอร์นิเจอร์ อยู่ในทิศทางที่หดตัวลง (CAGR ของ FDI สะสมในช่วงปี 2558-2560 หดตัวร้อยละ 16.6) อย่างไรก็ดี ไทยอาจได้ผลบวกจากการกระจายการลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาษีของวิสาหกิจจีนในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบโดยตรง โดยสงครามการค้าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่จากผู้ประกอบการสัญชาติจีนที่เคยส่งนำเข้าวัตถุดิบจากไทยเพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายน้ำส่งออกไปสหรัฐฯ อาจเลือกมาตั้งฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำใหม่ในประเทศไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการแปรรูปยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่โดนภาษีล็อตล่าสุด 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ และไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ค่อนข้างสูงมากอยู่แล้ว (ร้อยละ 90.6 ณ เดือน ก.ย. 2561)  อาทิ ยางล้อเสริมใยเหล็ก หรือผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง เช่น ถุงมือทางการแพทย์ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในระยะเริ่มแรกของสงครามการค้า (2562-2564) ผลบวกทางตรงส่วนนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการลงทุนโดยตรงในไทยได้อย่างน้อย 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                2) สงครามการค้าจะส่งผลทำให้มีการกระจายการลงทุน (Diversification) ของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำและชิ้นส่วนประกอบที่ใช้เทคโนโลยีซับซ้อน   อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในด้านราคาอยู่ ถึงแม้จะเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นแล้วก็ตาม อาทิ เหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก รวมถึงสินค้าที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนเป็นสัดส่วนที่สูงมาก  และจีนเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวแหล่งใหญ่ของโลก อาทิ ไดโอดแปลงแสง (LEDs) หรือชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเฉพาะเจาะจงบางประเภทอย่าง อุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิแบบอัตโนมัติ (Automatic thermostats) จนยากที่เกิดการเบี่ยงเบนทางการลงทุน (Investment diversion) ออกจากจีนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การกระจายการลงทุนคาดว่าจะเกิดเฉพาะในประเภทสินค้าที่อำนาจการต่อรองของผู้ขายมีค่อนข้างต่ำ อันเนื่องมาจากส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) ของจีนในสหรัฐฯ มีน้อย และสินค้าดังกล่าวสามารถผลิตในประเทศอื่นๆได้ด้วยต้นทุนต่อหน่วยที่ใกล้เคียงหรือน้อยกว่าจีน รวมถึงเป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตที่เข้มแข็งอยู่แล้วในประเทศที่ได้รับการลงทุนใหม่

                สำหรับผลต่อไทยในกรณีนี้ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการกระจายการลงทุนจากจีนคาดว่าจะจำกัดอยู่ในสินค้าบางประเภทที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างสูง เป็นสินค้าที่ไทยมีคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตที่ครบวงจร และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในไทยที่อยู่ในระดับสูงจนต้องมีการขยายการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) อาทิ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ (HDDs และฮาร์ดดิสก์แบบพกพา) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อย่างแผงวงจรรวม (PCBs) และวงจรรวมบางประเภท (ICs) อย่าง Memory ICs หรือ Sensor ICs ที่ไทยมีบทบาทในเวทีโลก รวมทั้งเครื่องจักรกลบางประเภทอย่าง Precision machinery น่าจะมีศักยภาพมากที่สุด

                หากติดตามข่าวสารในช่วงที่ผ่านมา จะเริ่มเห็นสัญญาณของบรรษัทข้ามชาติ (MNEs) ที่อยู่ในจีนซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าให้ความสนใจกระจายการลงทุนบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการสัญชาติสหรัฐฯ ที่บางส่วนพร้อมกระจายฐานการผลิตมายังอาเซียนและรวมถึงไทย ดังที่ Amcham China ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการสัญชาติสหรัฐฯ ต่อผลกระทบของสงครามดังกล่าว  หรือแม้กระทั่ง MNEs สัญชาติไต้หวันและญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ทั้งในไทยและจีนซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ออกมาแล้ว

                ทั้งนี้ หากวิเคราะห์เจาะลึกผ่านการวิเคราะห์ฐานะทางการเงินจะพบว่า ถึงแม้ไม่มีสงครามการค้า MNEs ข้างต้นก็น่าจะยังคงพิจารณาทยอยปรับเปลี่ยนฐานการผลิตออกจากจีนอันเนื่องมาจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดำเนินงานในจีนที่สูงขึ้น ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าประเภทเดิมที่เคยผลิตในจีนลดลง หากแต่สงครามการค้านับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจกระจายการลงทุนให้เกิดเร็วขึ้นกว่ากรณีที่ไม่มีสงครามการค้า เนื่องจาก MNEs เหล่านี้อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นจากสงครามการค้าจนส่งผลเชิงลบต่ออัตรากำไรสุทธิของบริษัทซึ่งส่วนมากมีผลการดำเนินงานในจีนที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

                นอกจากนี้ การที่ MNEs ข้างต้นมีฐานการผลิตอยู่แล้วทั้งในไทยและจีน โดยยังไม่มีฐานการผลิตในประเทศอื่นๆในอาเซียน อาทิ มาเลเซียหรือเวียดนามนั้น การเลือกตัดสินใจลงทุนในไทยในสินค้าประเภท E&E นับได้ว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดจากปัจจัยทางด้านต้นทุนที่ค่อนข้างได้เปรียบ เนื่องจากต้นทุนคงที่ (Fixed cost) อาจต่ำกว่าการเลือกลงทุนใหม่ในประเทศที่ไม่เคยมีฐานการผลิตมาก่อน อีกทั้ง ต้นทุนผันแปร (Variable cost) ของการผลิตในไทยสำหรับอุตสาหกรรม E&E โดยรวมนั้น ปัจจุบันนับได้ว่ามีต้นทุนที่ถูกกว่าในจีน  ทั้งในแง่ของต้นทุนแรงงาน ต้นทุนสาธารณูปโภค ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศ  รวมทั้งอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การเลือกลงทุนในไทยในอุตสาหกรรม E&E จะช่วยลดต้นทุนได้ราวร้อยละ 3.8-4.4 เมื่อเทียบกับการผลิตในจีน  และหากพิจารณาควบคู่กับอัตราภาษีนำเข้าภายใต้สงครามการค้าอีกร้อยละ 25 ที่ MNEs อาจต้องแบกรับ การผลิตในประเทศไทยจะยิ่งสร้างความคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาวให้กับ MNEs

                อนึ่ง การกระจายการลงทุนจากจีนดังกล่าวอาจมาพร้อมกับการเจาะตลาดใหม่เพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงด้านการกระจุกตัวด้านตลาดในประเทศใดประเทศหนึ่ง (Market concentration risk) โดยอาศัยความได้เปรียบที่ไทยมี FTA กับประเทศอื่นที่จีนไม่มี ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลบวกทางตรงในส่วนนี้จะคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนอย่างน้อย 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

                หากรวมผลบวกทางตรงของการกระจายฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำและสินค้าขั้นกลางที่ซับซ้อนในไทยกับการกระจายการลงทุนในกลุ่มสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบโดยตรง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า FDI ที่ไทยจะได้รับในช่วง 3 ปีแรกของสงครามการค้าจะมีมูลค่าอย่างน้อย 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียงราวร้อยละ 1 ของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิโดยเฉลี่ยต่อปีในไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ค่าเฉลี่ย FDI ปี 2558-2560) เท่านั้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาควบคู่กับผลกระทบด้านการค้าที่ไทยอาจได้รับจากสงครามการค้าที่เคยประเมินก่อนหน้านี้ ผลกระทบสุทธิ (Net impact) ต่อไทยยังคงอยู่ในเชิงลบ

                ถึงแม้ว่า อานิสงส์โดยตรงจากการย้ายฐานการผลิตออกจากไทยจะมีค่อนข้างจำกัด ทว่า ไทยอาจได้อานิสงส์ทางอ้อม (Indirect benefit) เพิ่มเติม ผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางเพื่อนำไปประกอบหรือผลิตเป็นสินค้าขั้นปลายน้ำในประเทศกลุ่ม CLMV ที่ได้อานิสงส์ทางตรงจากการกระจายการลงทุนเพิ่มเติมในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยสินค้าขั้นกลางที่ไทยสามารถส่งออกไป CLMV ได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีต ได้แก่ สิ่งทอ เม็ดพลาสติก ซึ่งผู้ประกอบการในไทยส่วนใหญ่เป็นสัญชาติไทย ดังนั้น อานิสงส์ทางอ้อมนี้จะมีส่วนเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยเพิ่มเติมในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงมากอยู่แล้วอย่าง เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 97 ณ ไตรมาสที่ 3/2561) หรือมีส่วนช่วยกระตุ้นการผลิตให้มากขึ้นในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ค่อนข้างต่ำอย่าง สิ่งทอ (ร้อยละ 50 ณ ไตรมาสที่ 3/2561) เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการสินค้าขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มประเทศ CLMV

                กล่าวโดยสรุป มุมมองต่อเทรนด์การกระจายการผลิตออกจากจีนนั้น แรงขับเคลื่อนสำคัญในระยะยาวยังคงเป็นการแสวงหาประเทศผู้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อันเนื่องมาจากความได้เปรียบของจีนในด้านต้นทุนที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะสั้น-กลาง สงครามการค้าจะเป็นตัวแปรที่ช่วยเร่งการกระจายการลงทุนและจะครอบคลุมอุตสาหกรรมที่หลากหลายกว่าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อันเป็นผลจากกำแพงภาษีภายใต้สงครามการค้านั้นครอบคลุมเกือบทุกผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่การผลิต โดยไทยอาจได้อานิสงส์จำกัดในการรับ FDI ในภาคการผลิตเพียงบางประเภทที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ใกล้เคียงหรือสูงกว่าจีนหรือได้เปรียบในด้านวัตถุดิบที่เพียบพร้อมภายในประเทศ ทว่า ไทยอาจได้อานิสงส์เพิ่มเติมทางอ้อมผ่านการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังประเทศที่ได้รับการกระจายการลงทุนในภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดการกระตุ้นการใช้กำลังการผลิตภายในประเทศ

                อนึ่ง ทิศทางการกระจายการลงทุนของ MNEs ข้างต้นไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของทางการไทยที่ต้องการผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และหากพิจารณาประเภทสินค้าที่ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการกระจายการผลิตออกจากจีนนั้น สินค้าบางประเภทกำลังเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะ HDDs ดังนั้น การกระจายการลงทุนออกจากจีนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

                นอกจากนี้ หากมองไปในระยะยาว นอกเหนือจากปัจจัยทางด้านสงครามการค้าที่กำลังจะเปลี่ยนบทบาทผู้รับการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตของโลกแล้ว กระแส “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ (The Fourth Industrial Revolution)” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำลังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านผลิตภัณฑ์ (Product change) และด้านกระบวนการดำเนินการ (Process change) นั้น จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดรูปแบบของ FDI ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างห่วงโซ่มูลค่าที่อาจจะสั้นลง (Shortened value chain) ความคล่องตัวในการผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้น (Higher agility of manufacturing systems) หรือแม้กระทั่งการนำเอาเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เพื่อมาแก้ไขความท้าทายด้านค่าแรงที่สูงขึ้นและจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย จนอาจจะไม่ต้องอาศัยการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกเหมือนในอดีต หรืออาจก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศผู้ลงทุนได้ (Home country) จึงนับเป็นปัจจัยท้าทายต่อสถานะผู้รับการลงทุนของอาเซียนและไทยที่ต้องเตรียมรับมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

You may also like

“มนพร”สุดปลื้ม! สนามบินแม่ฮ่องสอน-เลย-น่านนคร คว้ารางวัล”EIA Monitoring Awards 2024″

“มนพร”สุ