สร้างโอกาสเข้าถึงพลังงานทางเลือก
สถานการณ์พลังงานทางเลือกในเมืองไทย ดูจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วง “โค้งสุดท้าย” ของรัฐบาล คสช. ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปลายปีหน้า หลังจากที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ. โดย น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการฯ ในฐานะรองโฆษก กกพ.ออกมาให้ข่าวเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หลังจากกกพ.มีมติรับรองและประกาศผลรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้า และมีสิทธิ์ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือ “โซล่าร์ ฟาร์ม” ให้กับหน่วยราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรระยะ 2
โดยมีผู้ที่ผ่านการพิจารณา 35 ราย รวมกำลังการผลิต 154.52 เมกะวัตต์ แยกเป็น หน่วยงานราชการ 11 ราย มีกำลังการผลิตรวม 52.52 เมกะวัตต์ และสหกรณ์ภาคการเกษตรอีก 24 ราย กำลังการผลิตรวม 102 เมกะวัตต์
ขั้นตอนต่อไป กกพ.ยืนยันว่า…เจ้าของฯ หรือผู้สนับสนุนโครงการจะต้องเข้าสู่กระบวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง ภายใน 120 วันนับจากวันที่ประกาศรายชื่อ โดยมีอายุสัญญา 25 ปี ทั้งนี้ กกพ.ได้กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าอยู่ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย โดยเอกชนจะต้องพร้อมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในวันที่ 30 ธ.ค.61 แต่หากเอกชนไม่เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลากำหนดกกพ. จะถือว่าคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าตกไป และต้องยกเลิกทันที
ผลจากประกาศดังกล่าว ทำให้ถูกคาดหมายกันว่า…เม็ดเงินที่จะถูกนำมาลงทุนในโครงการ “โซล่าร์ฟาร์ม” ในปีหน้านี้ จะมีมากถึงกว่า 10,000 ล้านบาทเลยทีเดียว แต่เม็ดเงินที่มากขนาดนี้…ยังไม่เท่ากับ “อัตราการเร่ง” และ “รอบการหมุนเวียน” ของเม็ดเงินในภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมและการบริการที่จะมีต่อเนื่องจากการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีการคาดหมายกันว่า…เงินหมุนเวียนในความต่อเนื่องนี้ จะมีมากกว่าการลงทุนใน “โซล่าร์ฟาร์ม” หลายร้อยเท่าทีเดียว
จะว่าไปแล้ว การใช้พลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานจากธรรมชาติอื่นๆ นั้น ไม่ควรที่รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล จะไปจำกัดหรือตีวงเฉพาะแค่กับคนบางกลุ่ม หรือบางอุตสาหกรรม แต่ควรจะเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้พลังงานทางเลือกให้มากกว่านี้ ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะต้องทำให้แผงโซล่าร์เซลล์ และแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงาน รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ส่วนควบอื่นๆ มีราคาถูกลง อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนหันมาผลิตเพื่อการพาณิชย์ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ผ่านมาตรการในการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางภาษี รวมถึงมาตรการสำคัญอื่นๆ
วันนี้…คนไทยในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกลความเจริญ ก็ควรจะมีโอกาสได้ใช้ไฟฟ้าและสัญญาณอินเตอร์เน็ต เนื่องจากทั้ง 2 สิ่ง…เป็นสิ่งที่ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล สามารถจะเข้าถึงและใช้งานได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงระบบสายไฟหรือสายเคเบิลเหมือนเช่นในอดีต
หากคนเหล่านี้ มีโอกาสในการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าและสัญญาณอินเตอร์เน็ต เชื่อว่า…โอกาสในชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะการเข้าถึงและรับรู้ข่าวสารข้อมูล รวมถึงองค์ความรู้ในทุกๆ ด้าน ทั้งเทคโนโลยีการเกษตร การผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การตลาดเพื่อการขายสินค้า ฯลฯ จะพรั่งพรูและนำสู่โอกาสในชีวิตอย่างมากคุณค่าและอเนกอนันต์
ขอเพียงแค่…ภาครัฐอย่าได้ “จำกัดสิทธิ์” ของคนไทยเป็นสำคัญเท่านั้นพอ!.
ทีมข่าวเศรษฐกิจ ThaiBCCnews
Social Links