“สหรัฐ-จีน”เดือดปุด!
โชว์หมัดเด็ดการค้า-หวั่นไทยเจอหางเลข
สหรัฐฯ เดินเกมกดดันการค้าเฉพาะเจาะจงกับจีนเป็นวงเงินราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดตั้งแต่เปิดเกมกดดันการค้า ซึ่งในช่วง 45 วันจากนี้ เป็นเวลาสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะเจรจาเพื่อหาแนวทางร่วมกัน โดยรายการสินค้าที่สหรัฐฯ จะประกาศออกมาจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สะท้อนแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนว่าจะสามารถลดแรงกดดันการเกิดสงครามการค้าโลกได้แค่ไหน
สำหรับผลต่อไทย เบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในสินค้าขั้นกลางประเภทแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งยังต้องจับการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน อาทิ สมาร์ทโฟน เสื้อผ้าและของเล่นจะไม่กระทบต่อการส่งออกของไทยมากนัก แต่ถ้าหากเป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ก็อาจกระทบห่วงโซ่การผลิตของไทย
อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมแผนงานรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง
…………………………………………………………………………………………………………………………………………..
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีสำหรับมาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็นมูลค่าสินค้า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยเหตุผลการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ ปี 2517 (The 1974 Trade Act) มาตรา 301 ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของมาตรการนี้ก็ยังคงมุ่งไปที่การลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่สูงถึง 1.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนก็เป็นประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าสูงที่สุดที่ 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อนึ่ง มาตรการครั้งนี้เป็นการยกระดับนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเลือกเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งต่างจากครั้งที่ผ่านมาที่เป็นการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการปกป้องการผลิตในประเทศ (Safeguard) หรือมาตรา 201 เพื่อกีดกันการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ตามมาด้วยมาตรการที่ใช้เหตุผลด้านความมั่นคง (National Security) หรือมาตรา 232 เพื่อกีดกันการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าเหล่านี้มีมูลค่าราว 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
สำหรับการกีดกันการค้าในครั้งนี้ แม้กระทบสินค้านำเข้ามูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ สูงที่สุดตั้งแต่สหรัฐฯ เดินหน้ากีดกันทางการค้า แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของจีนยังค่อนข้างจำกัด โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีนทั้งหมดที่มีมูลค่า 5.05 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (จากรายงานของทางการสหรัฐฯ ใช้วิธีคำนวนโดยใช้มูลค่าจากฐานศุลกากรที่รวมค่าขนส่งทำให้มีมูลค่าสูงกว่าฝั่งจีน) อีกทั้งถ้าหากมองจากการรายงานตัวเลขของฝั่งจีนก็ยิ่งทำให้มูลค่าผลกระทบลดลงเป็นเพียง 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น เนื่องจากการรายงานตัวเลขจากฝั่งจีนไม่รวมค่าขนส่ง (FOB)
ทั้งนี้ ทางการสหรัฐฯ จะเปิดเผยรายละเอียดสินค้าที่กีดกันในอีก 15 วัน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีสินค้ากว่า 1,300 รายการ หลักๆ ครอบคลุมสินค้าเทคโนโลยี IT เสื้อผ้า และของเล่น หลังจากนั้นจะเปิดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นอีก 30 วัน โดยในช่วงเวลา 45 วันจากนี้ ระหว่างที่สหรัฐฯ เตรียมประกาศบังคับใช้มาตรา 301 ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งสหรัฐฯและจีนน่าจะเข้าสู่เส้นทางการเจรจาผลประโยชน์ต่างตอบแทนทางเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยในระหว่างนี้ทางการจีนไม่น่าจะประกาศมาตรการตอบโต้ใดๆ เพิ่มเติมออกมา หลังจากที่วันนี้ 23 มีนาคม ทางการจีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 15 และร้อยละ 25 ในกลุ่มสินค้าเนื้อหมู อะลูมิเนียมรีไซเคิล ท่อเหล็ก ผลไม้ และไวน์
อนึ่ง การที่ทางการจีนประกาศตอบโต้โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่จะไม่ย่อมอ่อนข้อต่อเกมการค้าของสหรัฐฯ หลังจากที่สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน แต่กลับยกเว้นให้แก่หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป บราซิล อาร์เจนตินา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งสถานการณ์นี้สะท้อนว่าในอีก 15 วันข้างหน้าที่สหรัฐฯ จะประกาศรายการสินค้าที่จะการเก็บภาษีจากจีน สหรัฐฯ คงต้องคิดทบทวนผลประโยชน์ของตนเองอย่างรอบด้าน รวมทั้งยังต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาหากเกิดการโต้กลับในมูลค่าที่เท่าเทียมกันทั้งจากจีนและประเทศอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผลต่อไทยในประเด็นนี้ ในเบื้องต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในสินค้าขั้นกลางประเภทแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าของจีนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมในกลุ่มเทคโนโลยีน่าจะมีการเร่งส่งออกไปทำตลาดสหรัฐฯ ก่อนที่ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น จากนั้นจะทยอยปรับตัวสู่ภาวะปกติเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องติดตามท่าทีการเจรจาของทั้งสองผ่ายต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน น่าจะนำมาสู่ข้อยุติที่ไม่ก่อให้เกิดสงครามการค้าในรอบต่อๆไป โดยอาจเป็นไปได้ว่ามาตรการนี้จะส่งผลแบบเลือกกีดกันเฉพาะบางกลุ่มสินค้าของจีน ซึ่งสหรัฐฯ น่าจะพิจารณาจากสินค้าที่สามารถหาแหล่งอื่นทดแทนได้ ไม่กระทบต่อผู้บริโภค และส่งผลต่อสหรัฐฯ ไม่มากนัก อาทิ อาจเลือกกีดกันเฉพาะสมาร์ทโฟนที่มาจากบริษัทจีน หรือสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าและของเล่น ซึ่งทำให้คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทยเพราะสินค้าไทยมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีนในกลุ่มนี้ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่เป็นการกีดกันครอบคลุมถึงสินค้าอื่นๆ รวมถึงแทบเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือหากลุกลามมายังสินค้ายานยนต์ที่ก็เป็นหนึ่งในสินค้าเทคโนโลยีไฮเทคของจีน ก็อาจส่งผ่านผลกระทบมายังห่วงโซ่การผลิตของไทยอย่างยากจะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ
นอกจากนี้ หากมาตรการกีดกันการค้ากับจีนบังคับใช้ขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าจะรูปแบบใด และสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้มาตรการนี้กับไทย คงต้องจับตาการปรับเปลี่ยนฐานห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียที่สำคัญ 2 ด้าน คือ การส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในกลุ่มส่วนประกอบและชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนอาจเบนเข็มตลาดไปยังเวียดนามแทน ซึ่งเวียดนามอาจกลายเป็นแหล่งผลิตแทนจีนได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่วัตถุดิบขั้นกลางสำหรับคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแม้ไทยจะส่งออกไปจีนได้น้อยลง แต่ทางกลับกันไทยน่าจะได้อานิสงส์จากการขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิมในไทยเพื่อส่งออกไปประกอบในสหรัฐฯ หรือในฐานการผลิตประเทศอื่นก็ตาม ทดแทนการส่งออกจากจีน อย่างไรก็ดี การจะส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนดังกล่าว คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันทั้งประเภทสินค้าเหมือนกันหรือไม่ สามารถขยายกำลังผลิตได้แค่ไหนรวมถึงต้นทุนการผลิตรวมค่าขนส่งที่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ดี แม้ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้รับข้อยกเว้นใดๆ จากมาตรการที่สหรัฐฯ ประกาศและล่าสุดมีรายงานว่าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมของไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ อาจหดตัวลงร้อยละ 35-45 เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเตรียมแผนงานรับมือ ประกอบกับไทยเองก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการกดดัน โดยจำเป็นต้องติดตามรายงานนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ที่จะรายงานออกมาในเดือนเมษายนนี้ ว่าไทยยังคงอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าทำการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยน (Currency manipulation) หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลทางอ้อมให้ค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวนมากขึ้น อันจะเกิดผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทย และส่วนต่างกำไรของผู้ส่งออกที่คงจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้นตามภาวะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง
Social Links