สำนักงาน คปภ. จัดพิธี ถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566  ณ วัดทองธรรมชาติวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

สำนักงาน คปภ. จัดพิธี ถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566  ณ วัดทองธรรมชาติวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

สำนักงาน คปภ. จัดพิธี

ถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 

ณ วัดทองธรรมชาติวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อน้อมนำไปถวายแด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดทองธรรมชาติวรวิหาร ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตัวแทนของคณะนักศึกษาและศิษย์เก่า Super วปส. และวปส. รุ่นต่าง ๆ ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธี

เลขาธิการ คปภ. กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2566 วัดทองธรรมชาติวรวิหาร ถนนเชียงใหม่ แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ว่า สำนักงาน คปภ. ได้ถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน เป็นจำนวนเงิน 6,171,526.47 บาท (หกล้านหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยยี่สิบหกบาทสี่สิบเจ็ดสตางค์) และเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งคณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ตัวแทนของคณะนักศึกษา Super วปส. นักศึกษา วปส. รุ่นต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้มั่นคงถาวร พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ในการเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลระบบประกันภัยของไทยที่ให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง และเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต่อไป

ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยประวัติของวัดทองธรรมชาติวรวิหาร ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมเรียกกันว่า วัดทองบนคู่กับวัดทองล่าง (วัดทองนพคุณ) สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2390) เนื่องจากเสนาสนะเป็นสถาปัตยกรรม สมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์เจ้าหญิงกุ (ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนรินทรเทวี) ซึ่งเป็นขนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือเรียกกันว่าเจ้าครอกวัดโพธิ์ กับพระสวามีคือ หม่อมมุก (กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์) ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอุโบสถใหม่ แต่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเพราะกรมหมื่นนรินทรพิทักษ์สิ้นพระชนม์ลง ครั้นรัชกาลที่ 3 ทรงทราบว่า วัดทองธรรมชาติ บูรณะยังไม่เสร็จ จึงโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร เป็นแม่กอง ก่อสร้างจนเสร็จ และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง วัดทองธรรมชาติเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เลขที่ 141 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร และสอดแทรกเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการประกันภัยอย่างครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในด้านวิชาการประกันภัย เพื่อศึกษาและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวอย่างครบวงจร

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้รวมพลังภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและนักศึกษา วปส. จัดกิจกรรม “สำนักงาน คปภ. รวมพลังภาคประกันภัย รวมใจเพื่อการศึกษา” โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รวมใจเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ส่งมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และสิ่งของจำเป็น เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงด้านทักษะกีฬาให้กับนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ สำหรับสิ่งของที่บริจาคประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ 29 เครื่อง พัดลม 10 เครื่อง กระเป๋าเป้นักเรียน 70 ชุด ชุดเครื่องเขียน 70 ชุด กระเป๋าเป้บรรจุเครื่องเขียน 160 ชุด อุปกรณ์กีฬา ได้แก่ ลูกฟุตบอล 40 ลูก ลูกบาสเกตบอล 20 ลูก และมอบเงินบริจาคบำรุงโรงเรียนพระปริยัติวัดทองธรรมชาติ จำนวน 300,000 บาท และโรงเรียนวัดทองธรรมชาติ จำนวน 300,000 บาท เพื่อช่วยเหลือเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน พร้อมให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรม CSR เพื่อตอบแทนสังคม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และการปลูกฝังความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน และขออนุโมทนาบุญแก่ภาคธุรกิจประกันภัย บุคลากรของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้มีจิตกุศลทุกท่านที่ร่วมทำบุญใหญ่ครั้งนี้ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

 

 

 

 

You may also like

ไทยเดินหน้าเมืองอัจฉริยะ เปิดเวที “IEEE ISC2 2024”ครั้งแรกในอาเซียน ดันสู่ศูนย์กลางเมืองอัจฉริยะระดับโลก

ไทยเดินห