สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ ทางเลือกผู้ประกอบการ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้ ทางเลือกผู้ประกอบการ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

สินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์-พักหนี้

ทางเลือกผู้ประกอบการ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน

                                       …………………………………………………………………………………

                มาตรการสินเชื่อพิเศษหรือสินเชื่อฟื้นฟูใหม่ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้…ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ขณะเดียวกันก็ช่วยบรรเทาภาระสถาบันการเงินจากการตั้งสำรองฯ เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่แน่นอน อาจนำมาสู่ปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น

                ความสำเร็จของโครงการพักทรัพย์พักหนี้จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับ 2 เงื่อนไขหลัก คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมการท่องเที่ยว และบทสรุปของข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ซึ่งแตกต่างกันตามเงื่อนไขในทางปฏิบัติของลูกหนี้แต่ละราย ขณะที่ มาตรการในรอบนี้อาจไม่ครอบคลุมลูกหนี้ได้ทุกกลุ่ม โดยกลุ่มที่อาจต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพิ่มเติม คงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีกรรมสิทธิ์บนอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากใช้วิธีการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น

                                                ……………………………………………………………………………………

                ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่แม้จะทยอยฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากการกระตุ้นของภาครัฐ แต่ก็ยังเป็นเส้นทางการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอน โดยแปรผันตามความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาการของไวรัสว่ามีความเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์มากน้อยเพียงใดนั้น ทำให้สถานะทางการเงินของภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังอยู่ในภาวะตึงเครียดต่อเนื่อง ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ธุรกิจท่องเที่ยวและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากถึง 17.7% ต่อจีดีพี  เผชิญสถานการณ์รายรับจากต่างชาติหดหายไปแล้วนานกว่า 12 เดือน แต่ก็ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดในครั้งนี้เช่นกัน

                ล่าสุด ทางการไทยร่วมกับสมาคมธนาคารไทยได้ออกโครงการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) รวมถึงมาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจ หรือ ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายในรูปของร่างพระราชกำหนด ที่คาดว่าจะสามารถผ่านขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายเพื่อบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตต่อมาตรการใหม่ ดังนี้

                • แม้มาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้ จะครอบคลุมธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด แต่หากเจาะธุรกิจโรงแรมและที่พักอันเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหลักเป็นลำดับแรกๆ พบว่า ปรากฏสัญญาณหนี้ด้อยคุณภาพในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ยังอยู่ภายใต้มาตรการ Debt Holiday และการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินก็ตาม โดย ณ สิ้นปี 2563 เอ็นพีแอลของพอร์ตโรงแรมและรีสอร์ทอยู่ที่ 4.30% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่ 3.12% (สัดส่วน Special Mentioned Loan ที่เพิ่มขึ้นมาก มาจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ทางบัญชี) ขณะที่สินเชื่อผู้ประกอบการที่พักแรมขยายตัวเหนือ 20% ทั้งช่วงสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมาและเดือนมกราคม 2564 จากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเลื่อนการชำระหนี้ออกไป นอกจากนี้ คงมีการเติมสภาพคล่องบางส่วนให้กับผู้ประกอบการด้วย ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อผู้ประกอบการที่พักแรมดังกล่าว เติบโตเหนือภาพรวมของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประมาณ 5.2% ณ สิ้นปี 2563 และ 4.6% ณ เดือนมกราคม 2564

                •มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูรอบใหม่…แก้จุดอ่อนหลักของ พ.ร.ก. Soft Loan เดิม ที่ออกแบบบนการคาดการณ์ว่าเหตุการณ์การระบาดของไวรัสจะจบได้เร็ว ดังนั้น จึงทำให้ระยะเวลาโครงการจำกัดอยู่ที่ 2 ปี นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคของวงเงินที่ผูกกับสินเชื่อคงค้างเดิมของลูกหนี้ ทำให้แม้จะมีวงเงินสินเชื่อ (แต่ไม่ได้ใช้) หรือไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินก็ไม่ได้รับสิทธิ์มาตรการ ขนาดธุรกิจที่จำกัดไว้ที่ไม่เกิน 500 ล้านบาทโดยนับรวมกลุ่มธุรกิจ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปจนไม่สามารถชดเชยต้นทุนและความเสี่ยงจากการปล่อยกู้กับลูกหนี้ขนาดกลางและเล็กในภาวะเศรษฐกิจหดตัว รวมถึงการค้ำประกันการชดเชยความเสียหาย ซึ่งแม้จะกำหนดไว้ที่ 60-70%* แต่ด้วยวิธีการคำนวณที่มุ่งตอบโจทย์การลดภาระของภาครัฐด้วยการคำนึงถึงหลักประกันตามเงื่อนไขและวิธีการคำนวณที่กำหนด จึงทำให้การชดเชยความเสียหายจริงต่อมูลหนี้รวมจะต่ำกว่านั้น

                ขณะที่ แนวทางตามมาตรการช่วยเหลือทางการเงินใหม่นี้ ได้ปรับปรุงอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าว โดยระยะเวลาโครงการยาวขึ้นไปถึง 5 ปีในกรณีของสินเชื่อฟื้นฟู และมีกลไกการชดเชยความเสียหายด้วยการค้ำประกันของ บสย.ที่สถาบันการเงินมีความคุ้นเคยและยาวถึง 10 ปี ซึ่งน่าจะครอบคลุมระยะเวลาการฟื้นตัวของธุรกิจและเริ่ม (Restart) ธุรกิจใหม่ได้ ขยายขอบเขตลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการได้โดยกำหนดแค่ขนาดไม่เกิน 500 ล้านบาท (ไม่ดูเป็นกลุ่ม) ขณะที่ วงเงินของมาตรการใหม่นี้อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่เหลือจาก Soft Loan เดิม โดยแบ่งเป็นส่วนสินเชื่อฟื้นฟูให้กับผู้ประกอบการ 2.5 แสนล้านบาท และส่วนที่เป็นการปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.01% ให้สถาบันการเงินเพื่อไปช่วยเหลือลูกค้าอีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งสามารถใช้รองรับการซื้อทรัพย์ของลูกหนี้ภายใต้โครงการพักทรัพย์พักหนี้ โดยสามารถย้ายวงเงินระหว่างสองส่วนได้หากก้อนใดก้อนหนึ่งใช้หมดก่อน

                • สำหรับธุรกิจผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด อันเป็นเป้าหมายหลักของการออกมาตรการช่วยเหลือในครั้งนี้  มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ถือเป็นการเปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการที่ยังต้องการสานต่อธุรกิจเดิมและมองว่าธุรกิจตนอาจยังไม่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตามความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนและเปิดประเทศอย่างเต็มที่  ทั้งนี้ ยกตัวอย่างธุรกิจท่องเที่ยว หากตลาดลูกค้าเดิมเน้นตลาดนักท่องเที่ยวยุโรปเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันบางประเทศยังเผชิญการระบาดระลอกที่ 3 และการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ยังต้องใช้เวลา ทำให้กว่าที่จะเห็นภาพการฟื้นตัวของตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงอาจไม่ทันภายในปี 2564 และอาจต้องรอไปถึงช่วง High Season ในปี 2565 (ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนมีนาคมปี 2566) หมายความว่า ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องมีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงการคงสภาพธุรกิจต่อไปอีกอย่างน้อย 18 เดือนข้างหน้า 

            ดังนั้น การเข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้ จะช่วยเว้นภาระการชำระเงินต้น ดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 5 ปีนี้ ขณะที่ แม้ว่าการเช่าทรัพย์สินคืน ลูกหนี้จะมีค่าใช้จ่ายค่าเช่า (ซึ่งถูกตีกรอบว่าจะต้องคิดบนหลักการที่สมเหตุสมผล) ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้และ Carrying Cost อันเป็นต้นทุนของเงินทุนของสถาบันการเงินที่ 1% แต่สุทธิแล้ว ก็น่าจะมีภาระต่ำกว่าการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้บนสัญญาเดิมที่คาดว่าจะใกล้เคียงหรือสูงกว่า 5% ต่อปี และนำค่าเช่ามาหักออกจากราคาซื้อคืนได้ ณ สิ้นปีที่ 5 นอกจากนี้ ยังสามารถขอสินเชื่อพิเศษใหม่ เพื่อนำมาจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างพนักงาน และดูแลโรงแรม เพื่อคงสภาพการเปิดดำเนินงานได้ในช่วงระหว่างทาง ขณะที่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านของมาตรการนี้ ยังสามารถขอ Debt Holiday จากสถาบันการเงินคู่ขนานไปด้วยได้

                เนื่องจากกรอบราคาตีโอนทรัพย์เข้าโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ถูกกำหนดว่าสูงสุดจะไม่เกินยอดคงค้างของสินเชื่อบวกด้วยดอกเบี้ย ซึ่งมีเพดานที่ 80% ของมูลค่าหลักประกันนั้น ในทางปฏิบัติ…อาจมีกรณีที่ราคาตีโอนทรัพย์ดังกล่าว ต่ำกว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่ผู้ประกอบการมีกับสถาบันการเงิน จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีภาระผ่อนชำระหนี้ส่วนที่เหลือ ซึ่งสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเพื่อลดภาระผ่อนชำระต่อเดือน รวมถึงขอพักหนี้ได้ นั่นคือ ผู้ประกอบการสามารถหารือกับสถาบันการเงินเพื่อใช้หลายแนวทางผสมกันในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้

                จุดเตรียมตัวสำคัญของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจเดิมต่อเมื่อเข้าใกล้จังหวะสิ้นปีที่ 5 คงอยู่ที่ว่าจะมีสภาพคล่องสะสมมาซื้อคืนทรัพย์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งนอกจากจะขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในช่วงนั้นๆ แล้ว ก็ยังขึ้นกับกลยุทธ์และการปรับตัวของผู้ประกอบการเองเพื่อคงขีดความสามารถทางการแข่งขัน ทั้งนี้ หากทำให้สถาบันการเงินเห็นได้ว่ามีความตั้งใจเชิงธุรกิจและวินัยการเงินที่ดี ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินเดิม มาซื้อทรัพย์คืนเพื่อทำธุรกิจได้เช่นกัน  (ซึ่งควรดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปีแรกเพื่อให้ได้สิทธิฟรีค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง)

                • สำหรับสถาบันการเงิน มาตรการสินเชื่อพิเศษและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ย่อมช่วยบรรเทาภาระจากปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งหากเจาะไปที่ธุรกิจที่พักแรม โดยสมมติว่าสินเชื่อจัดชั้น Stage 2 ที่ 14.2% ของสินเชื่อรวม (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2563) กลายมาเป็นเอ็นพีแอลทั้งจำนวนในอนาคต จะทำให้เกิดภาระการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท  คิดเป็นประมาณเกือบ 9% ของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ สำหรับทั้งปี 2563 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ขณะที่ แม้พระราชกำหนดใหม่นี้ จะมีวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นการสนับสนุนสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำพิเศษให้กับสถาบันการเงินในการรับตีโอนทรัพย์ภายใต้โครงการพักทรัพย์พักหนี้ แต่สุดท้าย สถาบันการเงินคงต้องเข้าใจและเตรียมตัวรองรับความเสี่ยงขาลง โดยเฉพาะหากสถานการณ์วัคซีนและการเปิดประเทศไม่เป็นไปตามคาด เนื่องจากความช่วยเหลือตามโครงการพักทรัพย์พักหนี้ อาจกลายมาเป็นทรัพย์รอการขาย (NPA) มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเปิดความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาทรัพย์ตามราคาตลาดในขณะนั้น และภาระการตั้งสำรองที่จะทยอยตามมาเมื่อสิ้นระยะเวลา 5-10 ปีแรก

                • ความสำเร็จของโครงการพักทรัพย์พักหนี้ จะมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับ 2 เงื่อนไขหลัก ได้แก่ 1) แนวโน้มเศรษฐกิจและกิจกรรมการท่องเที่ยวในระยะที่เหลือของปีนี้ รวมถึงอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งแปรตามเงื่อนไขวัคซีนและโอกาสการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด  2) บทสรุปของข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยสถาบันการเงินเจ้าหนี้ คงจะมองศักยภาพของลูกหนี้ประกอบด้วย ขณะที่ ลูกหนี้จะได้ประโยชน์ที่สุดจากโครงการนี้ คือ กลุ่มที่ประสงค์ทำธุรกิจเดิมต่อ มียอดคงค้างสินเชื่อบวกดอกเบี้ยใกล้กับมูลค่าทรัพย์ที่จำนอง ดำเนินการลดต้นทุนมามากแล้วซึ่งทำให้เห็นโอกาสเห็นจุดที่ไม่ขาดทุนได้เร็วขึ้น อยู่ในทำเลและมีตลาดที่มีโอกาสฟื้นตัว อยู่ในโครงการหรือนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น โดยการเข้าโครงการของทางการในครั้งนี้ จะทำหน้าที่คล้ายเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด รวมถึงเสริมสภาพคล่องเฉพาะหน้า

                โดยสรุปแล้ว มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ที่มาควบคู่กับสินเชื่อฟื้นฟู คาดว่าจะช่วยเปิดทางเลือกให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด รองรับสถานการณ์เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะเดียวกัน ก็ช่วยลดภาระของสถาบันการเงิน จากโอกาสที่คุณภาพหนี้ของลูกหนี้กลุ่มที่ประสบปัญหาดังกล่าว จะถดถอยลงจนกระทบภาระการตั้งสำรองฯ ของสถาบันการเงิน ท่ามกลางภาวะที่รายได้หลักยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

                การออกแบบมาตรการที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ หน่วยงานเอกชน สถาบันการเงิน รวมถึงตัวแทนลูกหนี้ในครั้งนี้ สะท้อนความพยายามอย่างมากของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามผ่านภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไป บนความเข้าใจสภาพธุรกิจที่แท้จริงทั้งฝั่งผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน แม้ว่ามาตรการเชิงมหภาคเหล่านี้ในทุกๆ ประเทศ จะไม่สามารถออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่มและทุกขนาดก็ตาม เนื่องจากระดับความซับซ้อนของปัญหาและเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเผชิญนั้น มีความแตกต่างกัน

                ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า มาตรการอาจไม่ครอบคลุมกลุ่มที่ทำธุรกิจ โดยการเช่าที่ดินและไม่ได้มีกรรมสิทธิ์บนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับการที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมในกรณีของธุรกิจที่พักแรม อาทิ กลุ่มที่กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยในรูปบุคคลธรรมดา แต่นำมาประกอบธุรกิจในรูปเกสต์เฮ้าส์ อาจต้องพิสูจน์ด้านศักยภาพการแข่งขัน ดังนั้น หลังจากนี้ ทางการอาจต้องพิจารณาแนวทางดูแลเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพิ่มเติมในอนาคต ขณะเดียวกัน คงต้องประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการใหม่นี้เป็นระยะ เพื่อวางแนวทางจัดการ หรือปรับปรุงที่เหมาะสมในระยะต่อไป

You may also like

4NOLOGUE ผนึก Poriin เล่นใหญ่ ปล่อยคอนเสิร์ตแห่งปี “FROSTY VILLAGE” ชวนแฟนๆจอยปาร์ตี้สนุกสุดขั้ว  

4NOLOGUE