ส่งออกโตรวด 16 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปีนี้โต 8.8%

ส่งออกโตรวด 16 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปีนี้โต 8.8%

ส่งออกโตรวด 16 เดือน

ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาดปีนี้โต 8.8%

                การส่งออกสินค้าไทยในเดือนมิ.ย. 2561 ยังขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์ฯ แต่เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้ารายเดือน จะเห็นว่าเป็นอัตราที่ชะลอลงจากช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับร้อยละ 11-12 โดยปัจจัยหลักๆ ที่ช่วยหนุนการส่งออกสินค้าในเดือนนี้ยังมาจากโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และระดับราคาน้ำมันดิบโลกที่ในเดือนมิ.ย. 2561 อยู่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งช่วยหนุนมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์

                นอกจากนี้ ยังได้แรงหนุนระยะสั้นจากการส่งออกสินค้าในหมวดเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.5 ในเดือนมิ.ย. 2561 (เดือนพ.ค. ขยายตัวร้อยละ 8.1)

                ส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากการตอบโต้ทางการค้าไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับชาติต่างๆ ที่ทำให้การส่งออกเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐฯ พลิกกลับมาขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 28.4 เมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. ที่หดตัวร้อยละ 20.6 ตลอดจนได้แรงหนุนชั่วคราวจากการส่งออกน้ำตาลทรายที่ในเดือนมิ.ย. พลิกกลับมาขยายตัวในแดนบวก โดยเฉพาะการส่งออกน้ำตาลทรายไปเมียนมาที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 140.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังราคาน้ำตาลทรายโลกปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก

                แต่อย่างไรตาม อัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยในเดือนมิ.ย. 2561 ที่แผ่วลงจากช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากปัจจัยฐานที่สูงในปีก่อน (มูลค่าการส่งออกสินค้าเดือนมิ.ย. 2560 อยู่ที่ 20,132 ล้านดอลลาร์ฯ) ประกอบกับการส่งออกรถยนต์นั่งพลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 5.5 หลังจากช่วงก่อนหน้าที่ขยายตัวสูง โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดออสเตรเลีย นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าศักยภาพก็ติดลบมากขึ้น เนื่องจากราคากุ้งปรับตัวลดลงตามปริมาณผลผลิตกุ้งโลกที่เพิ่มขึ้นมาก

                ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยเดือนมิ.ย. 2561 อยู่ที่ 20,201 ล้านดอลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 14.3 ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดือนก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการลดนำเข้าพืชน้ำมันและทองคำเป็นสำคัญ

                ภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหลักๆ มาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่องและวัฎจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเส้นทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวในแดนบวก แต่อาจจะชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกมาอยู่ที่ร้อยละ 6.8 หรือมูลค่าส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 21,939 ล้านดอลลาร์ฯ ส่วนหนึ่งจากปัจจัยเรื่องฐานที่สูงในปีก่อน ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

                ในส่วนของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ต่างฝ่ายต่างเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ นั้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในปี 2561 อย่างจำกัด โดยไทยอาจจะได้ผลบวกในบางสินค้าส่งออก เช่น Hard Disk Drive (HDD), แผงวงจรไฟฟ้า, พลาสติกบางประเภท เป็นต้น และอาจจะได้รับผลลบในบางสินค้าส่งออก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกสินค้าไทยในปี 2561 จะได้รับความเสียหายประมาณ 280-420 ล้านดอลลาร์ฯ (รวมผลกระทบทางตรง และผลกระทบทางอ้อมผ่านห่วงโซ่การผลิตแล้ว) หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 0.1-0.2 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด

                ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกสินค้าของไทยตลอดทั้งปี 2561 จะขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 6.5-11.5) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามแผนการของสหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ (ได้มีการประกาศรายการสินค้าแล้ว) และการตอบโต้ของจีนต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ครั้งใหม่นี้ ถ้าหากมีการบังคับใช้จริง ก็อาจจะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 

 

You may also like

ราคาคาร์บอนเครดิตกับปัญหา การพัฒนาตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ด้วยรูปแ